การเติบโตของตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายเด็กลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ได้กลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2564 เนื่องจากพ่อแม่มีรายได้สูงขึ้นและเลือกซื้อสินค้าเสื้อผ้าที่มีคุณภาพให้กับลูกมากขึ้น เกิดเป็นกระแสการบริโภค VIB (Very Important Baby) แม้จะสวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง
ภาพรวมตลาด
เสื้อผ้าเด็กเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่สวมใส่โดยทารกและเด็กอายุตั้งแต่ 0-12 ปี ในเกาหลีใต้สามารถแบ่งออกเป็น เสื้อผ้าเด็กเล็กอายุ 0-2 ปี และเสื้อผ้าเด็กอายุ 3-12 ปี และมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เสื้อ เสื้อกันหนาว กางเกง เสื้อผ้ากีฬา เช่น ชุดวอร์ม ชุดสกี ชุดว่ายน้ำ และชุดชั้นใน เป็นต้น
แม้ว่าอัตราการเกิดของเกาหลีใต้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีอัตราอยู่ที่ 0.78 รวมถึงการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า เครื่องแต่งกายของเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นตรงข้ามกับการคาดการณ์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเด็กมีการเติบโตจากการบริโภคเสื้อผ้าเด็กหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเสื้อผ้าเด็กชนิดหรูหราที่มียอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึง กระแสการใช้จ่ายแบบ VIB (Very Important Baby) ที่ต้องการมอบสินค้าคุณภาพดีเยี่ยมให้กับลูก อีกทั้ง จำนวนครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียวที่เพิ่มขึ้น ผู้ปกครองจึงไม่ลังเลที่จะใช้จ่ายในสินค้าสำหรับเด็ก
ตามรายงานของสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอเกาหลี (KOFOTI) กล่าวว่า ขนาดของตลาดสินค้าเสื้อผ้าเด็กตั้งแต่ปี 2564 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 23.3 นับว่าก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก และในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากปี 2564 (มูลค่า 1.12 ล้านล้านวอน) สหพันธ์ฯ ได้วิเคราะห์ว่า ตลาดเครื่องแต่งกายเด็ก จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต แม้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่ในปัจจุบันก็กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการกลับไปโรงเรียนและการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งทำให้ความต้องการเสื้อผ้าเด็กเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงสินค้าระดับพรีเมี่ยมในตลาดที่เพิ่มขึ้น
แบรนด์เสื้อผ้าเด็กรายสำคัญในเกาหลีใต้
ผู้ผลิตเสื้อผ้าเด็กรายสำคัญในเกาหลีใต้
ธุรกิจเสื้อผ้าเด็กกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ดีขึ้น รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่ผู้ปกครองลงทุนให้กับเด็กในมูลค่ามากเป็นกระแสในวงกว้าง
ด้วยความต้องการเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าเด็กชนิดพรีเมียมในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าที่จำหน่ายในราคาปานกลางถึงต่ำ จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มสินค้าชนิดพรีเมี่ยมในการผลิต และส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Instagram รวมถึงลดร้านค้าออฟไลน์ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
พฤติกรรมผู้บริโภคเกาหลีในตลาดเครื่องแต่งกายเด็ก
ประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยม
สินค้า 3 รายการที่นำตลาดเสื้อผ้าเด็ก ได้แก่ Hoodie/shirt Pants และ Jumpers/safari โดยมีมูลค่าการขายในปี 2564 อยู่ที่ 537 พันล้านวอน คิดเป็นร้อยละ 47.7 ของตลาดเสื้อผ้าเด็กทั้งหมด
อัตราการซื้อเสื้อผ้าเด็กตามอายุของแม่
เมื่อพิจารณาขนาดของตลาดตามกลุ่มอายุของคุณแม่ที่ซื้อเสื้อผ้าเด็กแล้ว อายุระหว่าง 35-39 ปี มีสัดส่วนการซื้อสูงสุด
ช่องทางการซื้อเสื้อผ้าเด็ก
ช่องทางการซื้อและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กหลักในปี 2564 ได้แก่ ร้านค้าออนไลน์และร้านค้าปลีกที่มีอัตราการซื้อสูงมาก และช่วงที่มีการซื้อขายมากที่สุด ได้แก่ พฤษภาคม มิถุนายน และธันวาคม
แนวโน้มของตลาด
แบรนด์เสื้อผ้าเด็กที่มีความพรีเมี่ยม
- ปัจจุบัน การแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างเข้มข้น เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคที่ต้องการลงทุนในสินค้าที่มีความหรูหราและคุณภาพดี ส่งผลให้ นอกเหนือจากเสื้อผ้าเด็กที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว แบรนด์สินค้าผู้ใหญ่ต่างๆ ก็เปิดตัวสินค้าสำหรับเด็กออกมาเช่นกัน รวมไปถึงการเปิดหน้าร้านค้าออฟไลน์สำหรับสินค้าเสื้อผ้าเด็กโดยเฉพาะ
- ในปี 2565 ยอดขายสินค้าเสื้อผ้าเด็กในห้างสรรพสินค้าหลัก 3 แห่งในเกาหลีใต้เติบโตเป็นอย่างมาก โดยห้างสรรพสินค้า Lotte เพิ่มขึ้น 20% Shinsegae เพิ่มขึ้น 20.8% และ Hyundai เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4โดยเฉพาะแบรนด์นำเข้าและแบรนด์หรูสำหรับผู้ใหญ่ที่เปิดตัวสินค้าเสื้อผ้าสำหรับเด็กออกมามีการเติบโต 40 ถึงร้อยละ 50 ของแต่ละห้าง
- คาดการณ์ได้ว่า ตลาดเสื้อผ้าเด็กชนิดพรีเมี่ยมจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยการลงทุนจากผู้ปกครองและร้านค้าสำหรับเสื้อผ้าเด็กจากหลากหลายแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นภายในห้างเช่นกัน
- แบรนด์เสื้อผ้าเด็กหรูหราที่ได้รับความนิยมในห้างสรรพสินค้าและมียอดขายสูงสุด ได้แก่ Stone Island Kids, Montclair, Ralph Lauren และ Burberry ตามลำดับ
- อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินค้าที่ได้รับความนิยมมักเป็นสินค้าเสื้อผ้านำเข้าส่วนใหญ่ ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าเด็กในประเทศที่จำหน่ายในร้านขายสินค้าลดราคา (Discount store) หรือมีราคาย่อมเยากว่าชะลอการเติบโตลง
Family look
- ผู้ปกครองยุคใหม่ที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอยู่แล้ว และต้องการเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งพ่อแม่และลูก มักจะมุ่งเป้าไปที่รูปลักษณ์ของครอบครัวหรือที่เรียกว่า ” Mini me” ซึ่งหมายความว่าเด็กๆ สามารถสวมใส่เสื้อผ้าได้เหมือนพ่อแม่ของพวกเขาหรือกลายเป็นพ่อแม่รุ่นเด็กนั่นเอง บริษัทเสื้อผ้าเด็ก Hansea MK กล่าวว่า แนวโน้มของเสื้อผ้าผู้ใหญ่และเด็กจะเริ่มมีความคล้ายคลึงกันไป
- “National Geographic Apparel Kids” เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากตลาดครอบครัวผ่านสินค้ารุ่น ” Mini me” ที่มีลักษณะเหมือนกับเสื้อผ้าผู้ใหญ่ เช่น เสื้อกันหนาวและเสื้อยืด โดยยอดขายสินค้าของกลุ่ม Kids ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 สูงกว่าที่บริษัทคาดไว้ถึงร้อยละ 124
- นอกจากนี้ NBA ยังได้เปิดตัว “เสื้อแขนสั้นสำหรับเด็ก” ซึ่งเป็นเสื้อที่มีขนาดสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน พ่อแม่จึงสามารถสวมใส่พร้อมกับลูกๆ ได้
- เมื่อจำนวนกิจกรรมภายนอกบ้านที่เพิ่มขึ้น เสื้อผ้าลักษณะ “Family หรือ Similar look” ที่พ่อแม่และเด็กสามารถสวมใส่ให้คล้ายกันในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสู่ตลาดเสื้อผ้าเด็ก
- การมุ่งเน้นไปที่คุณภาพสูงแต่ยังมีราคาสมเหตุสมผล ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มสำหรับตลาดเสื้อผ้าของเด็กและเป็นกลยุทธ์หลักของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นต่อการแข่งขันในตลาดนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกสินค้าที่หลากหลายให้กับผู้ปกครอง
- Musinsa ได้เปิดตัวแบรนด์แฟชั่นเด็กในราคาที่เอื้อมถึง เนื่องจากสินค้าสำหรับเด็กยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อและเปลี่ยนบ่อย โดยอยู่ภายใต้ชื่อ Musinsa Standard Kids เป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายสำหรับเด็กอายุ 4-12 ปี
- นอกจากนี้ TOPTEN ยังได้เปิดตัว TOPTEN BABY ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับเด็กทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 36 เดือน ซึ่งเสื้อผ้าผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัยและสวมใส่ได้สะดวกสบาย อีกทั้ง ยังติดฉลากในตำแหน่งที่ผิวของทารกจะไม่ได้รับผลกระทบ
เสื้อผ้าเด็ก Genderless
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ในฐานะพ่อแม่มีมาตรฐานของในการเลือกเสื้อผ้าเด็กแตกต่างจากอดีตเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาต้องการการออกแบบที่เป็นกลางต่อเพศ ผู้เชี่ยวชาญแนวโน้มการบริโภค กล่าวว่า ในอดีต พ่อแม่มักเลือกซื้อเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับวัยของพวกเขา แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์ในเลือกซื้อเสื้อผ้าที่การออกแบบหลากหลายขึ้นและมีวัสดุที่ดี ก็อาจคิดว่าไม่จำเป็นที่การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องเหมาะสมกับวัยเสมอไป
- นอกจากนี้ นักออกแบบเสื้อผ้าเด็กในปัจจุบัน มักจะจำหน่ายเสื้อผ้าโดยไม่แบ่งแยกเป็นเสื้อผ้าของผู้ชายและผู้หญิงเช่นกัน
กฎระเบียบการนำเข้ามายังเกาหลีใต้
- ผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับทารกสามารถนำเข้าได้ หลังจากได้รับการรับรองจากหน่วยงานทดสอบความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติพิเศษด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เด็ก
- ผลิตภัณฑ์สิ่งทอในครัวเรือนต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติควบคุมความปลอดภัยเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค
- ผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับเด็กทั้งหมดจะต้องระบุดังนี้ เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
- Children’s products subject to safety certification
- Children’s products subject to safety verification
- Children’s products subject to supplier’s declaration of conformity
- ผู้นำเข้าทุกคนต้องรายงานต่อ Korea Environment Corporation เพื่อชำระค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญ ญัติส่งเสริมการประหยัดและรีไซเคิลทรัพยากร
โอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย
ในตลาดเครื่องแต่งกายเด็กของเกาหลีนั้น การออกแบบหรือดีไซน์ของเสื้อผ้ามีความสำคัญต่อสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำและสินค้าระดับพรีเมี่ยมเป็นอย่างมาก โดยช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญของเสื้อผ้าชนิดพรีเมี่ยม ได้แก่ ร้านค้าออนไลน์ ร้านค้าแบรนด์สำหรับเด็ก และห้างสรรพสินค้า ช่องทางออนไลน์และร้านเอาท์เลททั่วไป
แม้ว่าการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงอาจเป็นไปได้ยาก ด้วยความต้องการในตลาดเกาหลีใต้ที่มุ่งเน้นไปยังแบรนด์นำเข้าที่มีชื่อเสียงหรือแบรนด์ในประเทศที่มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจเป็นหลัก เพื่อเพิ่มโอกาสสินค้าจากไทยในเกาหลีนั้น การผลิตในลักษณะ OEM และ ODM อาจเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากสินค้าของไทยก็มีความคิดสร้างสรรค์และวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ
สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้อัตราการเกิดของเกาหลีใต้จะลดลงและสถานการณ์ที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดเครื่องแต่งกายของเด็กก็ยังคงเติบโตขึ้นทุกปี จากกระแสที่ผู้บริโภคมีกำลังจ่ายมากขึ้นและเนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกเพียงคนเดียว การใช้จ่ายกับลูกจึงเพิ่มขึ้นตามไป โดยในตลาดมีสินค้าหลายประเภทซึ่งสามารถครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคได้ ทั้งสินค้าราคาสูง ปานกลาง และลดลงมา รวมถึง คุณภาพที่มีการพัฒนา เพื่อไม่ให้ก่ออันตรายต่อเด็กด้วย
โอกาสสำหรับสินค้าไทยในตลาดนี้ ถือว่ามีโอกาสเติบโตเช่นกัน โดยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยหลายรายได้พัฒนาและผลิตสินค้าออกมาหลายรูปแบบให้เหมาะกับแต่ละโอกาสมากขึ้น เช่น ชุดหรูหรา ชุดออกกำลังกาย ชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในการนำเสนอสินค้าอย่างเชี่ยวชาญด้วย แม้สินค้าเสื้อผ้าส่งออกโดยตรงอาจจะทำการตลาดในเกาหลีใต้ได้ยาก แต่การร่วมมือทางการค้าต่างๆ เช่น ร่วมมือออกแบบหรือทางการผลิต กับผู้ประกอบการเกาหลีก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามแนวโน้มในตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสำรวจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเกาหลี และเพิ่มโอกาสทางการค้ากับผู้ประกอบการในเกาหลีในอนาคต รวมถึงกิจกรรมการเจรจาการค้าต่างๆ ที่จัดขึ้นผ่านทางออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญเช่นกัน
******************************
สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน
ソウルの海外貿易促進事務所
25 กันยายน 2566
ที่มาข้อมูล:
(1) Korea Fashion Market Trend, Korea Federation of Textile Industries (KOFOTI), 2022.11