“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP13 เรื่อง โอกาสตลาดซอสพริกในสหรัฐฯ 

โอกาสตลาดซอสพริกในสหรัฐฯ 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากระแสความนิยมของซอสพริกศรีราชาได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด โดยกระแสดังกล่าวถูกจุดประกายจากสินค้าซอสพริกศรีราชาของบริษัท Huy Fong Foods ซึ่งมีลักษณะโด่ดเด่นมีขวดสีแดงและฝาสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ ก่อตั้งโดย Mr. David Tran ผู้อพยพชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เริ่มต้นกิจการจากการผลิตซอสพริกจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเอเชียและร้านก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม (เฝ่อ หรือ Pho) ในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2523 จนเป็นที่รู้จักในตลาด และกลายเป็นกระแสนิยมอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2559 ทำให้เริ่มเห็นผู้บริโภคชาวอเมริกันนำซอสพริกศรีราชาไปดัดแปลงปรุงเป็นอาหารมากขึ้น ประกอบกับในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้กระแสนิยมดังกล่าวขยายตัวไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมชอบใช้สื่อสังคมออนไลน์ ชอบทดลอง และชอบทำตามกระแสสังคมในขณะนั้น

 

เมื่อกระแสนิยมในตลาดขยายตัวมาขึ้นก็เริ่มมีผู้ประกอบการในตลาดนำซอสพริกศรีราชาไปปรับร่วมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจเพื่อตอบสนองกระแสความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น “Burger King” “McDonalds” “Taco Bell” หรือ “Wendy’s”  รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวหลายรายการ โดยกระแสดังกล่าวถือเป็นการเปิดตลาดทำให้ซอสพริกและชื่อศรีราชา (ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในประเทศไทย) ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาซอสพริกศรีราชาแบรนด์ Huy Fong ประสบปัญหาขาดตลาดอย่างหนัก เนื่องจากเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัตถุดิบจากปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ราคาสินค้าจำหน่ายปลีกในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากเดิมราคาในตลาดประมาณ 3 – 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อขวด ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 70 – 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อขวด

 

ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหาร เช่น กลุ่มร้านอาหารเอเชีย ร้านก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม ทำให้เริ่มปรับตัวหันไปเลือกซื้อซอสพริกศรีราชาแบรนด์อื่นที่มีราคาถูกกว่าทดแทนมากขึ้น

 

แม้ว่าแนวโน้มราคาซอสพริกศรีราชาของบริษัท Huy Fong Foods ในปัจจุบันจะเริ่มปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว แต่ไม่นานมานี้ยังมีรายงานข่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ซอสศรีราชาแบรนด์ Huy Fong ขาดตลาดเกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจกับหุ้นส่วนผู้เพาะปลูกและจำหน่ายพริกฮาลาเพนโยแดง (Red Jalapeno) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้า ให้กับบริษัทมานานกว่า 30 ปี จึงทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ

 

แม้ว่าบริษัทจะพยายามปรับตัวอย่างเต็มที่โดยหันไปจัดซื้อวัตถุดิบพริกฮาลาเพนโยแดงจากผู้ผลิตรายอื่นแต่ก็ยังไม่สามารถจัดหาซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของบริษัทได้เพียงพอ จึงยังน่าจะส่งผลต่อกำลังการผลิตของบริษัท อีกทั้ง ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีทีท่าที่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย จึงทำให้มีผู้ประกอบการคู่แข่งรายอื่นในตลาดสบโอกาสหันไปผลิตสินค้าซอสพริกศรีราชาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพิ่มมากขึ้น

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในปี 2566 อุตสาหกรรมค้าปลีกซอสพริกสหรัฐฯ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1,026.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า ตลาดจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,668.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.19 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาอุตสาหกรรมซอสพริกในตลาดสหรัฐฯ จะพบว่า ซอสพริกศรีราชาเป็นเพียงหนึ่งในสินค้าซอสพริกที่มีหลากหลายชนิด คิดเป็นสัดส่วนเพียงราวร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดซอสพริกทั้งหมดในสหรัฐฯ โดยซอสพริกทาบาสโก (Tabasco) และซอสพริกฮาบาเนโร (Habanero) ยังถือเป็นซอสพริกที่มีสัดส่วนตลาดสูงที่สุดในสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปัญหาความขาดแคลนสินค้าซอสพริกศรีราชาในตลาดปัจจุบัน ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าซอสพริกศรีราชาไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการในตลาดสนใจผลิตสินค้าซอสพริกศรีราชาในแบรนด์ของตนเองเพื่อแข่งขันกับสินค้าซอสพริกศรีราชาของบริษัท Huy Fong Foods มากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยเองก็มีจุดแข่งในด้านความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า สามารถปรับรสชาติได้ตามความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้ง ยังสามารถผลิตสินค้าได้ในระดับราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้

 

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าน้ำจิ้มไก่ หรือที่มักจะรู้จักในตลาดว่า Sweet Chili Sauce ก็เป็นหนึ่งในสินค้าซอสพริกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวในสหรัฐฯ มากเช่นเดียวกัน โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าน้ำจิ้มไก่ไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงถึง 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 95.61 ของมูลค่าตลาดน้ำจิ้มไก่ทั้งหมดในสหรัฐฯ ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมตามกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย นอกจากนี้ การวางแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม รวมถึงการหาโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพในตลาดก็จะมีส่วนช่วยเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในสหรัฐฯ

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/UsuzAxMu31I

 

******************************

 

シカゴ国際貿易促進局

 

jaJapanese