ความริเริ่มฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในแคริบเบียน

เนื้อหาสาระข่าว: ในบริบทโลกยุคปัจจุบันที่กระแสสังคมที่สนับสนุนกิจกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เราทุกคนมีส่วนช่วยในการบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้มากที่สุดจากชีวิตประจำวันของพวกเรา โดยหนึ่งในภาคส่วนที่ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากที่สุดคือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่จะเชื่อมโยงถึงกระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นว่ามีวิธีการที่เป็นมิตรหรือทำลายต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด ซึ่งหากพวกเราในฐานะผู้บริโภคไม่ได้รับทราบกระบวนการผลิตเบื้องหลังสินค้าที่เราซื้อ ก็อาจทำให้เราอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงในกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการคิดค้นฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) เพื่อเป็นตัวช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องหมายรับรอบคุณภาพการผลิตสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิต/ใช้วัสดุหรือวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฎการประกาศใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 โดยรัฐบาลเยอรมนีที่ใช้ชื่อว่า “The Blue Angel” และในเวลาต่อมาก็มีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรากฎทั้งเครื่องหมายที่การกำหนดและรับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม (NGO) หน่วยงานภาครัฐในระดับประเทศ ไปจนถึงการรับรองในระดับระหว่างประเทศซึ่งมีการกำหนดใช้ฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยหนึ่งในฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่ “EU Ecolabel” ที่กำหนดขึ้นโดยสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้นแบบ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environmental Programme: UNEP) ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ได้ประกาศความสำเร็จในการจัดตั้ง The Environmental Alliance of America หรือ พันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งภูมิภาคอเมริกา (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) โดยพันธมิตรดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินโครงการฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค (Regional Eco-labeling Programme) ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งนับได้ว่าเป็นความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในการผลักดันให้เกิดฉลากดังกล่าวในระดับภูมิภาค และเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน สืบเนื่องมาจากความตกลงจากการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Forum of Ministers of Environment of Latin America and the Caribbean) จัดขึ้นที่ประเทศปานามา เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นความริเริ่มที่สำคัญในการผลักดันแนวคิดการค้าที่ยั่งยืน (Sustainable Trade) และการเข้าถึงข้อมูลสินค้าที่ครบถ้วนเหมาะสมสำหรับผู้บริโภคกว่า 450 ล้านคนในภูมิภาค (เฉพาะในแคริบเบียนมีจำนวนประชากรประมาณ 45 ล้านคน) โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการเป็นส่วนเชื่อมความตระหนักในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค จากการได้รับข้อมูลการผลิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายในการมีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนหลักปฏิบัติในกระบวนการผลิต (Production Practices) และพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behaviors) เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ตลอดจนภาคการจัดซื้อในภาครัฐให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีความรู้ความเข้าใจในข้อมูลสินค้าที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสินค้าที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูง (High-Impact Product Categories) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอาหารจนถึงเครื่องปรับอากาศ และสินค้าที่ใช้พลาสติก

ผู้แทนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้เน้นย้ำถึงคุณลักษณะสินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการของพันธมิตรที่จะเกิดขึ้นนี้ จะต้องมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและรัดกุมในการที่จะได้รับการรับรองฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าในการได้รับข้อมูลกระบวนการผลิตสินค้าที่ครบถ้วน อันจะมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้บริโภคให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานในกระบวนการผลิตสินค้าของผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ลดความเสี่ยงในทางธุรกิจ และมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน

คุณ Juan Bello ผู้อำนวยการสำนักงาน UNEP ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ได้ให้ข้อสังเกตความว่า การผลักดันแนวคิดการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคครั้งนี้ จะเป็นการสร้างเครื่องมือที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคไร้พรมแดน ในการอำนวยการค้าขายที่ยั่งยืนของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ: หากพิจารณาถึงความคืบหน้าในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และสภาวะทางการค้าในภูมิภาคแคริบเบียน จะพบว่าในภาพรวมของภูมิภาคนั้นได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับกลาง-ล่างเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น โครงการความริเริ่มฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคครั้งนี้ อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในทางการค้าระดับภูมิภาคที่มีความน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยปรากฎฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเช่นนี้มาก่อน

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตัวนี้ออกมาว่าจะมีลักษณะและคุณสมบัติเป็นอย่างไร แต่หากเมื่อมีการประกาศความคืบหน้ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องออกมา ข้อมูลดังกล่าวก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและให้ความสำคัญ เนื่องจากหากในอนาคตฉลากดังกล่าวนี้ จะเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคต่อไป สินค้าจากประเทศไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดเข้าไปในภูมิภาคแคริบเบียนก็ควรที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของสินค้าไทยในภูมิภาค ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่ตลาดแคริบเบียนและรวมถึงตลาดลาตินอเมริกาอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าในอนาคต การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวแปรสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดมายังภูมิภาคอเมริกาต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองซี่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ก็มีการบังคับใช้บรรจุภัณฑ์และภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะกลุ่ม Generation X และ Y ดังนั้น การปรับตัวทางธุรกิจให้ได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องนำมาใส่เข้าไปในกระบวนการคิดคำนวณต้นทุนสินค้า

*********************************************************
ที่มา: UNEP Press Release
主題: “Latin America and the Caribbean launch first regional eco-labeling programme”
โดย: United Nations Environmental Programme (UNEP)
สคต. ไมอามี /วันที่ 25 กรกฎาคม 2567

jaJapanese