ราโคจิ (Koji Mold) ได้ถูกนำมาใช้ในครัวญี่ปุ่นมานานหลายพันปี โดยใช้ในการหมักซอสถั่วเหลือง มิโซะบด หรือสาเก ซึ่งบริษัท Start Up ด้านอาหารในนาม Formo ที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก โดยชีสที่ผลิตได้เป็นชีสที่ไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ของสัตว์หรือชีสทางเลือก แต่ผลิตมาจากโปรตีนของราโคจินั่นเอง และวางจำหน่ายในตลาด ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ Formo ได้ส่งครีมชีส 3 ชนิด และชีส Camembert มาเป็นตัวเลือกสำหรับวางขายในร้านค้าอย่างใน Rewe กว่า 2,000 แห่ง ร้าน Billa ในออสเตรีย และร้าน Metro ในเยอรมนีเป็นต้น นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกอย่างพวก Rewe ก็นับเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหม่ของ Formo ล่าสุดเพิ่งระดมทุนได้ 61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรอบ Series Funding B รวมถึงยังได้รับการลงทุนจากนักลงทุนรายเดิมอย่าง Foodlabs และ EQT Ventures เพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงนับว่า นี่เป็นหนึ่งในรอบการลงทุนที่สูงที่สุดสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร (Food-Tech) ของเยอรมันในปีนี้ ซึ่งโดยรวมแล้ว Formo สามารถระดมทุนได้ 117 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านนาง Barbara Siegert ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมหุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา Munich Strategy ได้กล่าวถึง ข้อดีของโปรตีนจากราโคจิในด้านรสชาติไว้อย่างซับซ้อน เนื้อสัมผัสที่หยาบเล็กน้อย และมีคุณสมบัติทางโภชนาการที่ดี และนาง Siegert ยังได้กล่าวอีกว่า “โปรตีนของราโคจิอาจมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน จากการที่นำพืชมาผลิตเป็นชีส” โคจิเป็นเชื้อราที่มีเส้นใยสูง ตัวอย่างเช่น บริษัท Nosh Bio บริษัทด้าน Food-Tech ที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินกำลังพัฒนาอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำจากการหมักไมซีเลียม (Mycelium) หรือเส้นใยจากเห็ดราโคจิ ล่าสุดบริษัท Zur Mühlen Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Tönnies ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีก็เพิ่งร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Formo ยังไม่ได้นำราโคจิมาใช้งานในรูปแบบชีวมวลเท่านั้น แต่ใช้งานในรูปแบบโปรตีนที่เห็ดผ่านการหมักแบบไมโคร นาย Raffael Wohlgensinger ผู้ก่อตั้งของบริษัท Formo และผู้บริหารหลักอธิบายว่า “เราให้อาหารราโคจิด้วยคาร์โบไฮเดรต และไนโตรเจน” หลังจากที่ราเติบโตในถังหมักได้ 2 – 3 วัน ก็จะสามารถผลิตโปรตีนได้ โดยมีความใกล้เคียงกับเวย์โปรตีน หลังจากนั้นโปรตีนดังกล่าวจะถูกเก็บเกี่ยวและแปรรูปเป็นผง แล้วโรงงานผลิตชีสแบบดั้งเดิมที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวทางตอนเหนือของเยอรมนีก็จะผลิตชีสสำหรับ Formo ขึ้นโดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ด้วยผงโปรตีน ไขมันพืช น้ำ เกลือ และการเพาะเลี้ยงตามกระบวนการผลิตชีสตามปกติ ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือ การที่ราโคจิและผลิตภัณฑ์หมักจากราโคจิ เช่น ซีอิ๊ว ถูกนำมาใช้เป็นอาหารมานานแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเป็น “อาหารนวัตกรรมใหม่ (Novel Food)” นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Formo ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโปรตีนนมทางชีวภาพที่ได้จากการหมักอย่างแม่นยำควบคู่กันไป ด้านนาย Wohlgensinger ได้อธิบายเทคโนโลยีนี้ว่า “แทนที่จะให้อาหารวัว เราให้อาหารยีสต์ที่ให้โปรตีนจากนมจริงแก่เราแทน” ลำดับยีนที่สอดคล้องกันจากวัวที่ผลิตโปรตีนนม เช่น เคซีน (Casein) จะถูกนำเข้าไปในเซลล์ของยีสต์ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ยังต้องได้รับการอนุมัติด้าน Novel Food เสียก่อน นาย Wohlgensinger กล่าวว่า “กระบวนการอนุมัติให้ใช้งานเคซีนทางชีวภาพจากการหมักที่แม่นยำจะใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหภาพยุโรป” นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ Formo มองหาวิธีอื่นเพิ่มเติมในการผลิตผลิตภัณฑ์จากนมที่ยั่งยืน โดยใช้การหมัก และนำชีสทางเลือกอื่นออกสู่ตลาด นาย Wohlgensinger ยังได้กล่าวย้ำว่า “การสร้างยอดขายอย่างรวดเร็ว และทำกำไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรามาก” โดย Formo วางแผนต้องการมีกำไรสุทธิภายในปี 2027 นาง Siegert ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การหมักระดับไมโครของโปรตีนราโคจิเป็นเทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การหมักที่แม่นยำ นอกจากลดอุปสรรคทางกฎหมายแล้ว อุปสรรคในการยอมรับของผู้บริโภคยังลดลงอย่างมากอีกด้วย นาง Siegert ยังเชื่ออีกว่า Formo สามารถผลิตชีสจากโปรตีนโคจิได้มากถึง 100 ตัน/เดือน และกำลังการผลิตคาดว่า น่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในปี 2025 โดย Formo ยังมีการวางแผนที่จะผลิตชีสอื่น ๆ อย่างเช่น เฟต้า บลูชีส และคอทเทจชีส (Cottage Cheese) ที่ผลิตจากโปรตีนโคจิอีกด้วย นอกจากนี้เงินลงทุนก้อนใหม่นี้จะช่วยในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจระดับสากลอีกด้วย นอกจากออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์แล้ว บริษัท Formo ก็ต้องการที่จะเติบโตในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย นาย Wohlgensinger กล่าวว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรายังคงดำเนินการวิจัยอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับเคซีนทางชีวภาพและเวย์โปรตีนจากการหมักที่แม่นยำ” ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาในด้านดังกล่าวบริษัท Formo ก็ได้เริ่มความร่วมมือด้านการวิจัยกับบริษัท That Vegan Cowboys ซึ่งเป็น Food Tech จากเนเธอร์แลนด์อีกด้วย
ในปี 2025 บริษัท Formo ตั้งเป้าที่จะผลักดันนำผลิตภัณฑ์แรกที่ผ่านการหมักแบบแม่นยำออกสู่ตลาด ซึ่งไม่น่าจะใช่ตลาดยุโรป แต่น่าจะเป็นตลาดในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก Formo ในฐานะ Food Tech ที่มีพนักงาน 82 คน ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน และแฟรงก์เฟิร์ต โดยหวังว่า จะได้รับการอนุมัติให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ภายในต้นปีหน้า จากนั้น Formo ต้องการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีสที่ทำจากโปรตีนโคจิรวมกับชีสผลิตจากโปรตีนนมเคซีน (นมชีวภาพ) อีกด้วย ซึ่งเริ่มแรกอาจเป็นผลิตภัณฑ์แบบผสม ขณะนี้ Formo ยังไม่ได้ยื่นขออนุมัติฯ ในสหภาพยุโรป (EU) นาย Wohlgensinger ผู้ก่อตั้ง Formo กล่าวว่า “ขั้นตอนขออนุมัติฯใน EU นั้นซับซ้อนมาก และเหนือสิ่งอื่นใดคือเสียเวลามากด้วย” คู่แข่งอย่างบริษัท Perfect Day จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และบริษัท Remilk จากอิสราเอล ถูก EU ปฏิเสธในการตรวจสอบในกระบวนการแรกโดยไม่มีการตรวจสอบใด ๆ ผ่านหน่วยงานวิจัย และการประเมินความเสี่ยงสหภาพยุโรป (EFSA – European Food Safety Authority) โดย EU ให้เหตุผลว่า ข้อมูลของทั้ง 2 บริษัทยังไม่เพียงพอ นาย Wohhlgensinger กล่าวว่า “นั่นคือสาเหตุที่เราต้องเตรียมทุกอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนยื่นคำร้อง” ในสหรัฐอเมริกามีครีมชีส ไอศกรีม และช็อกโกแลตแท่งที่ผลิตจากโปรตีนนมชีวภาพของบริษัท Perfect Day และ Remilk วางจำหน่ายอยู่บนชั้นวางของในซุปเปอร์มาร์เก็ตมาหลายปีแล้ว RethinkX สถาบันวิจัยของสหรัฐฯ คาดว่า ผลิตภัณฑ์นมทางเลือกเหล่านี้จะมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวถึงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ราคาจัดจำหน่ายชีสสด (Fresh and Whey Cheese) ของบริษัท Formo ยี่ห้อ Frischhain ที่ทำจากโปรตีนโคจิปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 2.89 ยูโร ในระหว่างที่ราคาชีสกาม็องแบร์ (ฝรั่งเศส: Camembert) ของบริษัท Formo ยี่ห้อ Camembritz อยู่ที่ 3.99 ยูโร ซึ่งมีสูงกว่าราคาชีสจากสัตว์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ในแง่ประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมแล้วชีสทางเลือกยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าชีสที่ทำมาจากนมวัวมาก โดยเรียกได้ว่า ชีสจัดเป็นอาหารที่ “ใช้น้ำเปลือง” ที่สุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า การผลิตชีสที่ทำจากนมวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำมากกว่า 5,600 ลิตร จากการวิเคราะห์วงจรชีวิต (LCA – Life cycle assessment) แสดงให้เห็นว่า ชีสสดยี่ห้อ Frischhain ของ Formo มีความยั่งยืนมากกว่าชีสสดดั้งเดิมจากสัตว์อย่างเห็นได้ชัด โดยชีสดังกล่าวมีความต้องการน้ำลดลง 96% เปอร์เซ็นต์ ต้องการพื้นที่ลดลง 83% และลดการปล่อยมลพิษลง 65%
จาก Handelsblatt 30 กันยายน 2567