สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทองคำที่สำคัญของโลก

จากรายงานล่าสุดของ Dubai Multi Commodities Centre (DMCC) เผยว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีอยู่ในสถานะที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำระดับโลก หลังที่ได้เข้าร่วมระเบียงเศรษฐกิจใหม่ของสมาชิกกลุ่ม BRICS  ซึ่งจะทำให้ยูเออีเป็น “ทางเลือก” แทนศูนย์กลางการค้าทองคำแบบดั้งเดิม และจากการจัดอันดับ     ในปี 2566 ระบุว่ายูเออีเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แซงหน้าอังกฤษ โดยสวิตเซอร์แลนด์ยังคงอยู่ในอันดับต้นของการจัดอันดับนี้

ยูเออีเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้  โดยมีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้เป็นแกนนำ สมาชิก BRICS เป็นประเทศที่มีความสําคัญในภูมิศาสตร์ของตนเอง เช่น จีนและรัสเซียรวมถึงบราซิลและแอฟริกาใต้

นาย Ahmed Bin Sulayem ประธานบริหารและ CEO ของ DMCC กล่าวว่า จะเห็นได้การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในตลาดโลหะมีค่า ซึ่งเกิดจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่บังคับให้ธนาคารกลางซื้อทองคำเป็นประวัติการณ์ และหลายประเทศต้องทบทวนเรื่องการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ

ยูเออีมีแนวโน้มที่จะเป็น “ทางเลือกที่มีโอกาสเติบโตที่แท้จริง” ในการเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำในหมู่ธนาคารกลาง (Central Bank) ที่นอกเหนือไปจากลอนดอนและนิวยอร์ก  ซึ่งเห็นได้จากการที่ยูเออีก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อปีที่แล้ว และมีปัจจัยอื่นหลายประการที่ส่งผลต่อสถานะยูเออี  ในฐานะเป็นช่องทางการค้า อีกทั้งยังหมายถึงการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯในการชำระการค้าระหว่างประเทศน้อยลง

การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการค้าทองคำระดับโลก

การค้าทองคำของยูเออี มีมูลค่ากว่า 129 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแวดวงการค้าแสดงความคิดเห็นว่า กลุ่ม BRICS จะปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ รวมทั้งการซื้อขายเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยการมีจีนและอินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในกลุ่ม BRICS ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายและการเคลื่อนย้ายทองคำในอนาคตอย่างแน่นอน

ข้อตกลง CEPA ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดีย

นอกเหนือจาก BRICS แล้ว ยูเออียังมีข้อตกลง CEPA กับอินเดีย ซึ่งหมายถึงการนำเข้าทองคำแท่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากยูเออีโดยอินเดียคิดภาษีนำเข้าร้อยละ 5 ขณะที่รัฐบาลอินเดียกำหนดอัตราภาษีนำเข้าโลหะมีค่าจากต่างประเทศอื่นๆที่ร้อยละ 6 หลังจากที่ปรับลดลงจากร้อยละ 15 เมื่อต้นปีนี้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าอินเดียสามารถนำเข้าทองคำจากยูเออีได้มากถึง 160 ตันในปีงบประมาณ 2567-2568

ความปลอดภัยของการถือครองทองคำ

ในรายงานของ DMCC ระบุถึง ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจการเงินโลกสั่นคลอน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ พิจารณาเกี่ยวกับการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ และความปลอดภัยของการที่ครองทองคำอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ Central Bank หรือธนาคารกลาง หลายประเทศจึงเพิ่มการซื้อทองคำและ    นำทองคำแท่งที่เก็บไว้ในสหรัฐฯ กลับประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงจากเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยบางประเทศใช้ทองคำแทนเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมการค้า นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และสร้างผลกระทบเป็นระลอกคลื่นไปทั่วเศรษฐกิจโลก

การเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงเดินหน้าสะสมทองคำต่อเนื่อง โดยผลสำรวจของ World Gold Council ในปี 2567 บ่งชี้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกราว 69% จะสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะทุนสำรองฯ ต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้  โดยเทรนด์ดังกล่าว เริ่มเห็นได้ชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่ฯคารกลาง ได้เข้าซื้อทองคำมากถึง 1,082 ตัน และ 1,037 ตัน ตามลำดับ และในปี 2567 แม้เผชิญกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลาง ก็ยังเข้าซื้อทองคำรวมทั้ง 3 ไตรมาสแรก (เดือนม.ค. – เดือนก.ย.) ในระดับที่ยังสูงถึง 669.5 ตัน

นอกจากนี้ ความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ ในยุคสมัยของทรัมป์ที่มีแนวโน้มกระตุ้นเงินเฟ้อให้กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง จึงเกิดความกังวลถึงการที่ FED อาจจะไม่สามารถสานต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากเท่าแผนการเดิม อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมไปถึง SME   ทำให้ขยายวงกว้างจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทองคำจึงยังมีความสำคัญในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะยาว

jaJapanese