แนวทางภาครัฐและเอกชนแคนาดาในการรับมือภาษีนำเข้าของทรัมป์ 2.0

หลังจากที่เริ่มเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ทรัมป์กล่าวว่าจะประกาศขึ้นภาษีระลอกแรกกับแคนาดา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

ถึงแม้ว่ารัฐบาลแคนาดามีการเตรียมตัวรับมือการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรี ทรูโดของแคนาดา กล่าวว่าจะดำเนินการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐในมูลค่าที่เท่ากัน (dollar-for-dollar retaliatory tariff) แต่ก็เปิดช่องว่าแคนาดาพร้อมเจรจากกับสหรัฐฯ ทุกเมื่อในเรื่องนี้ แต่สำหรับภาคเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ หมายถึงผลกระทบเชิงลบระดับมหาศาลกับบริษัท โดยหนังสือพิมพ์ The Globe and Mail ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทเอกชนในแคนาดา ถึงมุมมองผลกระทบและแผนการรับมือจากการขึ้นภาษี

Mr. François Fauteu ผู้จัดการกองทุน Phoenix Partners และมีตำแหน่งผู้บริหารบริษัท Nita Inc. ผู้ผลิตเครื่องติดฉลากสินค้า ในนครมอนทรีออล มองว่าทั้งสองประเทศจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถ้าทรัมป์เดินหน้าตามคำขู่ทั้งหมดของเขาในการขึ้นภาษีร้อยละ 25 โดยกล่าวว่าภาคเอกชนส่วนใหญ่ได้เริ่มวางแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือ อาทิ การสร้างสต็อกสินค้าในสหรัฐฯ การเพิ่มความพยายามในการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นกับลูกค้าในสหรัฐฯ (ก่อนภาษีมีผล) และการสำรวจหาโอกาสในการขยายตลาดรองอื่นๆ เพื่อเตรียมตัวในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่สามารถคาดเดาได้

บริษัท Guru Organic Energy Corp. จากนครมอนทรีออล บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังที่เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ (สินค้าของบริษัทฯ เป็นเครื่องดื่มชูกำลังออแกนิกส์) ซึ่งมียอดขายในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด ได้สะสมสต็อกสินค้าไว้ในสหรัฐฯ ถึง 6 เดือน ผ่านผู้ค้าปลีก เช่น Amazon Whole Foods และ Costco นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมองหาผู้รับเหมาในสหรัฐฯ ที่มีโรงงานเพื่อผลิตเครื่องดื่มชูกำลังของตนหากจำเป็น ทั้งนี้ สินค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันผลิตในนครโทรอนโต และค่าเงินที่อ่อนของเหรียญแคนาดา
ทำให้การผลิตในแคนาดาเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ซึ่งผู้บริหารแจ้งว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากมีการขึ้นภาษีร้อยละ 25 กับแคนาดา ทางบริษัทฯ อาจต้องเลือกผลิตสินค้าในสหรัฐฯ ในอนาคต

บริษัท Armo Tool Ltd. ผู้ผลิตสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีรายได้ปีละ 50 ล้านเหรียญแคนาดา (1,250 ล้านบาท) มีพนักงานกว่า 200 คน และยอดจำหน่ายกว่าร้อยละ 25 มาจากตลาดสหรัฐฯ ทางบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับสหรัฐฯ ในมูลค่าที่สูงในปีนี้ แต่สัญญาเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะสั้น ซึ่งผลกระทบของการขึ้นภาษีจะทำให้ยอดขายในอนาคต (ที่ยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขาย) หายไปทันที และอาจส่งผลให้บริษัทต้องปลดคนงาน นอกจากนี้ การตอบโต้การขึ้นภาษีของแคนาดา จะส่งผลให้เหล็ก อลูมิเนียม และวัสดุอื่นมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งการปรับตัวระยะสั้นของบริษัทคือเริ่มสร้างคลังสินค้าสะสมสต็อกสินค้าและอะไหล่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็หวังว่าแคนาดาและสหรัฐฯ จะหาทางออกร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว

มุมมองของผู้บริหารบริษัท Etbo Tool and Die Inc. ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเมืองอายล์เมอร์ รัฐออนแทรีโอ เห็นว่ารัฐบาลแคนาดาควรหาทางออกหรือทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาษีนำเข้าให้มีความชัดเจนและเร็วที่สุด มิฉะนั้นสถานการณ์จะควบคุมได้ยากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ไม่สามารถเปลี่ยนซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนจากแคนาดาเป็นซัพพลายเออร์ภายในประเทศได้ในทันที เนื่องจากชิ้นส่วนหลายรายการที่ผลิตในแคนาดามีผู้ผลิตรายเดียว ซึ่งทุกวันนี้ บริษัท Etbo มีรายได้ปีละ 75-100 ล้านเหรียญแคนาดา (1,875 – 2,500 ล้านบาท) โดยรายได้ร้อยละ 30 ของธุรกิจมาจากลูกค้าสหรัฐฯ และสถานการณ์ในปัจจุบันบังคับให้บริษัทต้องทำการพิจารณาวางแผนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการขยายไปตั้งฐานผลิตในประเทศอื่นๆ และขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เพื่อความอยู่รอดของบริษัท ลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากภาษีนำเข้ากับสหรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จภายใน 1-2 เดือน และก็ไม่สามารถตอบได้ว่าบริษัทจะรับผลกระทบจากภาษีได้นานแค่ไหน

ความเห็น สคต.

การที่ทรัมป์ประกาศจะเริ่มการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากแคนาดา ร้อยละ 25 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลแคนาดา ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายจัสติน ทรูโด จากพรรค Liberal ถึงแม้ว่าทรูโด ได้ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว (อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในพรรค ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) แต่นายทรูโด ก็ยังต้องหารือร่วมกับรัฐบาลระดับรัฐเพื่อการวางแผนตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าที่เท่าเทียมกัน ซึ่งหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีและมีการดำเนินการตอบโต้จริงอาจส่งผลต่อแคนาดาถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือภาคเอกชน (ส่งออก-นำเข้า) และภาคประชาชน ที่อัตราเงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation) โดยปี 2568 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจแคนาดา และความสัมพันธ์ประเทศระหว่างแคนาดา-สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 ซึ่งในอดีตแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ดีที่สุดกับสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกที่ดีต่อกันทั้งในด้านการเมือง การค้า เศรษฐกิจและสังคมกันอย่างยาวนาน

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

jaJapanese