เศรษฐกิจของประเทศโคลอมเบียกับโอกาสการส่งออกของสินค้าไทย

แม้ว่าโคลอมเบียจะเป็นประเทศที่คนไทยหลายท่านไม่คุ้นเคย เนื่องจากที่ตั้งของประเทศอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งห่างไกลจากไทย ประกอบกับเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านลบในแง่ของยาเสพติดและอาชญากรรม ทำให้ผู้ประกอบการไทยอาจมองข้ามและไม่ได้ให้ความสนใจ แต่แท้จริงแล้ว “โคลอมเบีย” ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เป็นผู้ส่งออกระดับโลกในสินค้าน้ำมันปาล์ม กล้วยไม้ กาแฟ และยังเป็นประเทศที่เมืองหลวง (กรุงโบโกตา) ถูกได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการสัญจรด้วยจักรยานหรือ Bicycle Friendly ในปี 2563[1] รวมทั้ง เป็นเมืองที่ใช้แนวคิดทำให้ขยะเป็นศูนย์หรือ Zero Waste ในปี 2565[2]

ปัจจุบันประเทศโคลอมเบียมีจำนวนประชากรจำนวน 52 ล้านคน[3] โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 7.3 ในปี 2565 (ค.ศ. 2022) หรือคิดเป็นมูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP Per Capita อยู่ที่ 6,644 เหรียญสหรัฐ[4] ทำให้โคลอมเบียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีกำลังซื้อในระดับชนชั้นกลาง

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียประจำปี 2565 แบ่งออกเป็น ภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (ร้อยละ 19.1) ภาคธุรกิจทางการเงิน (ร้อยละ 18.3) ภาคธุรกิจบริการ (ร้อยละ 18.1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ร้อยละ 12.2)  ภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 8.8) ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (ร้อยละ 7.9) ภาคบริการขนส่งโลจิสติกส์และโทรคมนาคม (ร้อยละ 7.4)  ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง (ร้อยละ 4.4) และภาคสาธารณูปโภค (ร้อยละ 3.9) ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจประจำปี 2565 แล้ว พบว่าโคลอมเบียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิล เม็กซิโก และอาร์เจนตินา[1] ตามลำดับ

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้คาดกาณ์เศรษฐกิจของโคลอมเบียในปีนี้และปีหน้าว่าน่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ[1]

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ที่ผ่านมาประเทศโคลอมเบียประสบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเป็นระยะเวลานานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือ FARC (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia) และมีปัญหายาเสพติดอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ในปี 2564 รัฐบาลโคลอมเบียได้เจรจาและบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธฯ ได้สำเร็จ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเบาบางลง เศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และถือเป็นตลาดใหม่ที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ จากตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับโคลอมเบีย (ข้อมูลจาก Global Trade Atlas) พบว่าในปี 2565 โคลอมเบียเป็นคู่ค้าของไทยในอันดับที่ 51 ไทยส่งออกสินค้าไปโคลอมเบียคิดเป็นมูลค่า 286.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.14)  โดยโคลอมเบียเป็นประเทศในลำดับที่ 4 ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ไทยมีการส่งออกมากที่สุดในปี 2565 รองจากเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ที่ระบุว่าไทยส่งออกสินค้าไปยังโคลอมเบียในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ที่ 289.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมากที่สุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ

สำหรับตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังโคลอมเบียในช่วง 7 เดือนแรกในปีนี้ (มกราคม – ธันวาคม 2566) มีมูลค่า 107.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.84 โดยสินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์  เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าประเทศโคลอมเบียเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่ค่อนข้างสำหรับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และรถจักรยาน เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง กรุงโบโกตาได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการสัญจรด้วยจักรยานในปี 2563 และจำนวนผู้ใช้รถจักรยานในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการใช้จักรยานดังกล่าว เป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับจักรยานของไทย นอกจากนี้ สคต. ณ กรุงซันติอาโก พบว่ารัฐบาลโคลอมเบียมีการกำหนดห้ามใช้พลาสติกตั้งแต่ปี 2560  ซึ่งจากผลการสำรวจของบริษัทวิจัย Savoo ระบุว่ากรุงโบโกตามีขยะพลาสติกต่ำที่สุดในโลกในปี 2563 คิดเป็นปริมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี หรือปริมาณ 70 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อปี ทำให้กรุงโบโกตาได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีขยะจากอาหารครัวเรือนในปริมาณต่ำที่สุดของโลกในปี 2564  ซึ่ง สคต.ฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยเช่นกัน

———————————————————

サンティアゴの国際貿易促進事務所

ตุลาคม 2566

[1] https://www.financecolombia.com/imf-raises-forecast-for-latin-america-and-caribbean-gdp-growth-to-1-9-for-2023/

[1] https://www.statista.com/statistics/802640/gross-domestic-product-gdp-latin-america-caribbean-country/

[1] https://www.timeout.com/news/how-bogota-became-a-world-beating-cycling-haven-110421

[2] https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000060940

[3] https://www.worldometers.info/world-population/colombia-population/

[4] https://statistics.cepal.org/portal/cepalstat/national-profile.html?theme=2&country=col&lang=en

jaJapanese