ตามข้อมูลสถิติศุลกากรของจีน ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคมปี 2566 สูงถึง 1.15 แสนล้านหยวน โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 6.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 220,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ มีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดสูงถึง 44.8 พันล้านหยวน คิดเป็น 38.9% ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนทุเรียนสดกลายเป็นผลไม้ที่มีการนำเข้ามากที่สุดของจีน และรักษาอันดับผลไม้นำเข้าสูงสุดต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนตุลาคมปี 2566 จีนมีการนำเข้าทุเรียนสดถึง 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 94.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายเดือน ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดในแต่ละเดือนของปี 2566 มีปริมาณสูงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าต่ำสุดอยู่ที่ 21,000 ตันในเดือนกุมภาพันธ์ และมีปริมาณการนำเข้าสูงสุด 252,000 ตันในเดือนมิถุนายน สาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าทุเรียนในปี 2566 สูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานทุเรียนสดของเวียดนามได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าต่อเดือนมากกว่า 100,000 ตัน และตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 การส่งออกทุเรียนสดของเวียดนามไปยังตลาดจีนได้แซงหน้าทุเรียนสดของไทย ส่งผลให้ทุเรียนเวียดนามกลายเป็นผู้ค้าหลักในตลาดจีน

ในเดือนตุลาคม ปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีนอยู่ที่ 120,000 ตัน เพิ่มขึ้น 100,000 ตันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 ทั้งนี้ การนำเข้าทุเรียนสดของเวียดนามยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 93,800 ตัน ในขณะที่การนำเข้าทุเรียนจากไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการนำเข้าเพียง 25,200 ตัน ในด้านของราคา เดือนตุลาคมปี 2566 ราคาเฉลี่ยต่อลูกของทุเรียนสดนำเข้าอยู่ที่ 31,100 หยวน/ตัน ลดลงเล็กน้อยจาก 33,200 หยวน/ตันในปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ ราคาทุเรียนของไทยอยู่ที่ 35,000 หยวน/ตัน ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 30,000 หยวน/ตัน และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 24,000 หยวน/ตัน ทั้งนี้ ราคาต่อหน่วยนำเข้าทุเรียนสดจากไทยยังคงสูงที่สุดในบรรดาสามประเทศผู้ส่งออกหลัก โดยปี 2566 ราคาทุเรียนสดโดยรวมมีแนวโน้มที่ลดลง

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล แสดงให้เห็นว่าทุเรียนสดของเวียดนาม เข้ามาของเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดหลังฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนสดของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี  ตามรายงานของสำนักข่าว“Vietnam Online Newspaper” ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน สูงถึง 452,000 ตัน เพิ่มขึ้น 3,190% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพิ่มขึ้น 3101% ปัจจุบันเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกเพียงทุเรียนสดไปยังจีน ในขณะที่ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสด ทุเรียนสดแช่แข็ง และทุเรียนสดแปรรูปไปยังจีน ซึ่งในอนาคต หากจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังจีนได้ยอดส่งออกทั้งโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงงานบรรจุภัณฑ์ทุเรียนสด 153 แห่ง จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีความพร้อมที่จะส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ส่งออกทุเรียนและหน่วยงานภาครัฐของไทยต้องเร่งหาทางออกเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกและรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนต่อไป

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบัน สินค้าทุเรียนในตลาดจีนโดยภาพรวม มาจากประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ในจำนวนนี้ สินค้าทุเรียนแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูป มีมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกหลัก ในขณะที่ตลาดทุเรียนสดของจีนถูกครองตลาดโดยทุเรียนไทยมาอย่างยาวนาน โดยจีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่และเป็นตลาดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งระหว่างปี 2563 – 2565 จีนซื้อทุเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ 740,000 ตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 95% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของโลก ที่ผ่านมา ทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนส่วนใหญ่มาจากไทย แต่หลังจากที่จีนได้อนุญาตการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ก็ได้มีการนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างทุเรียนเวียดนามกับทุเรียนไทย ราคาซื้อทุเรียนเวียดนามต่ำกว่าของทุเรียนไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ระยะเวลาการขนส่งทุเรียนเวียดนามไปยังจีนจะสั้นกว่าทุเรียนไทย ดังนั้นต้นทุนการขนส่งและการเก็บรักษาจะดีกว่าของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของทุเรียนเวียดนามได้เปรียบอย่างมาก

ทั้งนี้ผู้ส่งออกทุเรียนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรติดตามสถานการณ์การส่งออกทุเรียนของเวียดนามอย่างใกล้ชิดและร่วมมือกันในการแก้ปัญหาการขนส่ง เพื่อให้ทุเรียนไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน

 

 

ที่มา:

https://mp.weixin.qq.com/s/rtVqRF12xoSHXNILLBPqEg

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

jaJapanese