ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม 2567

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ผู้บริโภคในแคนาดาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในปี 2567 ท่ามกลางปัจจัยภายในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเงินเฟ้อ และปัจจัยภายนอก ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและความวุ่นวายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เพื่อจะหลบปัญหาเหล่านี้ ผู้บริโภคมองหาสินค้าอาหารประเภท Comfort Food อาหารที่รับประทานแล้วสบายใจ หรือเครื่องดื่มที่เมื่อบริโภคแล้วเกิดความรู้สึกดี หรือช่วยปลอบประโลมจิตใจให้อารมณ์ดียิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ถึงแม้ว่าพฤติกรรมการดื่มกาแฟในทุกวันนี้ยังคงเป็นที่นิยม โดยหนึ่งในเหตุผลของการบริโภคกาแฟ มาจากประโยชน์ของสารคาเฟอีนที่สร้างความกระปรี้กระเปร่า โดยผู้บริโภคมีความต้องการแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ที่มาทดแทนสารคาเฟอีนในรูปแบบอื่น เช่น หันไปดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงานในรูปแบบอื่นทดแทน อย่างเช่นกาแฟ “gold milk” ที่มีส่วนผสมสมุนไพร (Chai) ชาอินเดีย ผงเห็ดหอม รากชิคโครี่ ผงขิง อบเชย และพริกไทยดำ ซึ่งเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคสายห่วงใยสุขภาพ

ปัจจุบัน บริษัท Atomo Coffee ได้คิดค้นกาแฟเอสเปรสโซ ไร้เมล็ดกาแฟ ที่มีส่วนประกอบหลักเป็น เมล็ดอินทผลัม (Date Seed)  ซึ่งเมื่อนำเมล็ดมาอบและบด กลิ่นเหมือนกาแฟ สามารถนำมาดริป
หรือต้มกับเครื่องทำกาแฟได้ปกติ สามารถดื่มเป็นกาแฟดำได้ ทั้งนี้ รสชาติอาจไม่ขมเหมือนกาแฟ แต่ได้กลิ่นที่ทดแทนเสมือนดื่มกาแฟ คุณประโยชน์ของเมล็ดอินทผลัม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้คลายเครียด และเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายและยังมีวิตามินและแร่ธาตุสูง ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ผลิตภัณฑ์อาหารร่วมสมัยที่พัฒนาจากอาหารพื้นเมือง เช่น อาหารของคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ประกอบด้วย 11 ประเทศ (อัลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ มาซิโดเนียเหนือ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร โคโซโว สโลวีเนีย ตุรกี เฉพาะฝั่งยุโรป) ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออก โดยอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจกลุ่มประเทศดังกล่าว เช่น Cevapi-inspired sliders มีลักษณะคล้ายไส้กรอก ที่มีส่วนผสมของ เนื้อบด เนื้อแกะบด และเครื่องเทศ ทานคู่กับขนมปังชีสกระเทียม

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

Ćevapčići Sandwich

ผลไม้ต่างประเทศที่มีความหลากหลาย การได้ลิ้มรสผลไม้ต่างถิ่นเปรียบเสมือนการท่องเที่ยวผจญภัยในที่แปลกใหม่ผ่านรสชาติเครื่องดื่มหรือขนมที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้ ประเทศไทยมีผลไม้นานาชนิดที่สร้างความแตกต่างด้านรสชาติได้เป็นอย่างดี เช่น มะเฟือง เงาะ มังคุด สละ และอีกมากมาย หากพัฒนาแปรรูป ทำการตลาดเผยแพร่เริ่มจากในประเทศให้เป็นที่รู้จัก ก็สามารถสร้างกระแสให้ผู้คนสนใจและอยากลิ้มลอง

กระแสการดูแลสุขภาพองค์รวม ความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้ผู้บริโภคหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น และตระหนักเลือกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก็เช่นกัน การคิดค้นวัตถุดิบประกอบอาหารที่มีส่วนผสมที่สร้างประโยชน์ให้ผิวพรรณ เช่น แซลมอน แตงกวา กะหล่ำปลี และกิมจิ เพื่อเป็นอาหารผิวที่ช่วยรักษาผิวแห้ง สร้างความชุ่มชื่น หรือที่เรียกกันว่า “Skincare breakfast” ที่เป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ความเผ็ดร้อนของอาหาร อาจไม่ได้จำกัดแค่อาหารจานหลักอีกต่อไป ร้านอาหารปัจจุบันได้นำเสนอของหวานหรือของทานเล่นที่ผสมผสานความเผ็ดเล็กน้อย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับรส ความเผ็ดจะช่วยกระตุ้นต่อมรับรส ทำให้อะดรีนาลินสูบฉีดทั่วร่างกาย เปลี่ยนประสบการณ์การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ เช่น  ไอศกรีมที่โรยด้วยน้ำมันพริก ที่ก่อนหน้านี้มีเชนร้านอาหารจานด่วนต่างประเทศได้เคยลองตลาดมาแล้ว

กระแสการตั้งใจทำของใหม่ให้ดูเก่า โดยนำภาพและความทรงจำจากอดีต ผ่านรูปแบบของอาหาร กลับมาเป็นที่นิยมในต่างประเทศ และคาดว่าจะเป็นแนวโน้มในปี 2567 อาหารที่ดึงความทรงจำเก่าๆ เมื่อได้ทานแล้วหวนรำลึกถึงอดีต

การยกระดับอีกขั้นของอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI (Artificial Intelligence) หลายบริษัทค้นคว้าเพื่อใช้ประโยชน์ของ AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บางอุตสาหกรรมการผลิตใช้ลิ้น AI “AI tongues” ตรวจจับการทำซ้ำหรือทำสำเนาใหม่ของการรับรสของมนุษย์ ผนวกกับวิธีการคิด ขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผล (AI algorithms) ให้สามารถตรวจวิเคราะห์ คุณภาพ ความถูกต้อง รวมถึงโครงร่างรสชาติอาหาร

 ความเห็นของ สคต.         

ผู้บริโภคในแคนาดาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในปี 2567 ท่ามกลางปัจจัยภายในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเงินเฟ้อ อัตราการเป็นหนี้สูง และปัจจัยภายนอก เช่น ความวุ่นวายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก เพื่อจะหลบปัญหาเหล่านี้ ผู้บริโภคมองหานวัตกรรมใหม่ในสินค้าอาหารเพื่อทำให้รู้สึกดีขึ้น ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการนำของดั้งเดิมมาเพิ่มความแตกต่างเพื่อตอบโจทย์ตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรักสุขภาพที่มองหาผลิตภัณฑ์ทางเลือก  การพัฒนารูปแบบสินค้าจากรูปแบบเดิมเพื่อสร้างจุดขายให้ผลิตภัณฑ์  การผลิตอาหารร่วมสมัยที่พัฒนาจากอาหารพื้นเมือง การสรรหาผลไม้ต่างถิ่นเข้าสู่ตลาด และการสร้างความทรงจำดีๆ ผ่านรูปแบบอาหาร ประหนึ่งได้ทานรสมือแม่ กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง รวมถึงการยกระดับนวัตกรรมที่นำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ในอนาคต

จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถคิดค้นสูตรจากอาหารที่หลากหลายในประเทศ เริ่มจากอาหารที่ต่างชาติรู้จักและเป็นที่นิยม นำมาพัฒนาให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น มันฝรั่งกรอบรสส้มตำ เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ให้คนไทยสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัตถุดิบที่มีในพื้นที่

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

 

 

jaJapanese