แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่น

แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิคในญี่ปุ่น

 

                                                                                                                        สตท ณ เมืองฮิโรชิมา

 

ตลาดสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและยังคงแสดงแนวโน้มการขยายตัวยิ่งขึ้น โดยในปี 2022 (กราฟ 1)  ตลาดสินค้าเครื่องสำอางออร์แกนิคในญี่ปุ่นมีมูลค่า 1.73 แสนล้านเยน(ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) โดยแสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2019  และในปี 2023 ประมาณการว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.79 แสนล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปี 2022แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่น

ความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าเครื่องสำอางออร์แกนิคและเครื่องสำอางธรรมชาติ ในตลาดญี่ปุ่นเป็นผลมาจากความสนใจที่มีต่อสินค้าซึ่งมีความปลอดภัย ยั่งยืน (Sustainability) รวมทั้งไม่เป็นภัยต่อสภาวะแวดล้อม หากจะกล่าวถึงลักษณะพิเศษของตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิคในญี่ปุ่น คือ สินค้ามีความหลากหลาย พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อคุณภาพและนวัตกรรม  ในระยะหลายปีที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคมีความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ประเภทถนอมผิวและเครื่องสำอางที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติกันมากขึ้น  ซึ่งในขณะเดียวกันทำให้เกิดการกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตทำการค้นคว้าพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ ปัจจุบันผู้บริโภคมีการรับรู้กันกว้างขวางมากขึ้นเกี่ยวกับข้อดีของการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ รวมทั้งมีกระแสความสนใจเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจากผลการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภค เกี่ยวกับ SDGs (Sustainable Development Goals) พบว่า ชาวญี่ปุ่นมีการรับรู้เกี่ยวกับ SDGs ถึงร้อยละ 91.6 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 14.8 ของผลการสำรวจเมื่อปี 2018  โดยแม้ว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่เข้าใจความหมายของ SDGs อย่างชัดเจน มีสัดส่วนร้อยละ 40.8 ในปี 2023 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 3.6 ก็อาจกล่าวได้ว่า สังคมญี่ปุ่นแสดงแนวโน้มของความสนใจต่อประเด็นความยั่งยืนและสภาวะแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ

 

ตัวอย่างสินค้าเครื่องสำอางออร์แกนิคและธรรมชาติที่ได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่นแบรนด์ “BAUM”ของบริษัท Shiseido Japan Co., Ltd (https://www.shiseido.co.jp/) ซึ่งได้เริ่มออกจำหน่ายเมื่อปี 2021 เป็นกลุ่มสินค้าประเภท Skin care โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 95 อีกทั้งได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สื่อถึงการใช้วัตถุดิบที่ได้จากพืชพันธุ์ไม้ได้เป็นอย่างดี

แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่น

แบรนด์ ” Do Organic” ของบริษัท Mash Beauty Lab CO., Ltd. (https://www.mashbeautylab.com/) เป็นเครื่องสำอางออร์แกนิคของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งมีการใช้มาแต่ดั้งเดิมในญี่ปุ่นเพื่อเสริมความงาม ได้แก่ ข้าวออร์แกนิค สารสกัดจากผลบ๊วยออร์แกนิคและสารสกัดจากถั่วดำ (Lactobacillus/Soymilk Ferment Filtrate)   นอกจากนั้นยังมีสารที่ช่วยชะลอวัย เช่น สารสกัดจากข้าวและรำข้าวออร์แกนิค ซึ่งมีสรรพคุณช่วยดำรงความชุ่มชื้นและเปล่งปลั่งให้กับผิวหนัง ส่วนกลิ่นก็ใช้น้ำมันหอมระเหยสกัดจากดอกไม้ออร์แกนิค ได้แก่ ดอกกุหลาบประเภท Damask rose (Rosa Damascena) และดอกเจอราเนียม (Geranium)

แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่น

แบรนด์ Botanicanonของบริษัท Botanical Factory (https://botanical.co.jp/) ตั้งอยู่ในจังหวัด Kagoshima บนเกาะคิวชูทางใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นสามารถปลูกพืชผลเมืองร้อนได้ โดยได้เริ่มผลิตจำหน่ายตั้งแต่ปี 2016 บริษัทฯ ใช้ผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่นซึ่งไม่ผ่านเกรดการจำหน่ายเป็นผลผลิตสด (เช่น เนื่องจากขนาดผลเล็กไป ผิวมีรอย หรือหล่นจากต้นก่อนสุก ฯลฯ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางที่ได้จากธรรมชาติ 100% โดยไม่ใช้สารเคมี แอลกอฮอล์ล สารกันบูด หรือ สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ (Synthetic Surfactants)ใดๆเลย ส่วนวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นผลไม้เขตร้อน เช่น เสาวรส (Passion fruit)  พืชสมุนไพรต่างๆเช่น ตะไคร้, กระเพรา, ข่าโคม (Shell ginger) ซึ่งใช้เป็นจุดขายของสินค้าที่เป็นเครื่องสำอางธรรมชาติอย่างแท้จริง อีกทั้งบริษัทฯใช้อาคารโรงเรียนประถมเก่ามาปรับปรุงเป็นโรงงาน ช่วยเติมแต่ง Story ของการนำของเก่ามาใช้ประโยชน์ จนบริษัทฯ ได้รับรางวัลที่สองในการการประกวด Sustainable Cosmetics Award เมื่อปี 2021 และในปี 2023 ได้รับเลือกให้เป็นสินค้าจำหน่ายในเที่ยวบินบางสายของสายการบิน JAL และเริ่มวางจำหน่ายในสาขาของร้านสะดวกซื้อ Family Mart ในโตเกียวอีกด้วย

แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์กานิคในญี่ปุ่น

แบรนด์ “aonoของบริษัท Mandom Corp (https://www.mandom.co.jp/en/)  ซึ่งเป็นสินค้าเครื่องสำอางสำหรับบุรุษ ที่ได้เริ่มวางจำหน่ายทางออนไลน์ตั้งแต่ปี 2024  ใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่เป็นออร์แกนิค 100% โดยมุ่งจับกลุ่มผู้บริโภคชายในวันตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปซึ่งผิวพรรณเริ่มเสื่อมโทรม ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคบุรุษในญี่ปุ่นมีแนวโน้มใส่ใจกับผิวพรรณและรูปลักษณ์ของตนเองกันมากขึ้นซึ่งทำให้ตลาดเครื่องสำอางในญี่ปุ่นสำหรับบุรุษแสดงแนวโน้มการขยายตัวอย่างโดดเด่น

 

การพัฒนาสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิค

ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่หันมาใช้เครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิคซึ่งมีราคาสูงกว่าเครื่องสำอางปกติ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ต่อสารเคมี หรือผู้ที่ใส่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขภาพ ดังนั้น การที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเปลี่ยนจากเครื่องสำอางปกติไปซื้อเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิคที่ราคาแพงกว่า ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ละเอียดและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิค ในขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ผลิตเองก็จะต้องพยายามทำให้ระดับราคาเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิคไม่สูงกว่าเครื่องสำอางปกติมากจนเกินไป นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อนำพืชผลตามธรรมชาติต่างๆมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางก็มีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่น

ตัวอย่างวัตถุดิบธรรมชาติที่มีการใช้ในเครื่องสำอางประเภทต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า มีการใช้น้ำมันจากรำข้าว น้ำมันเมล็ดคามีเลีย(Camellia) น้ำมันเมล็ดมะรุม (Oleifera Seed Oil และสารสกัดจากพืชต่างๆ เป็นต้น
  • มอยซ์เจอร์ไรเซอร์ Moisturizer ซึ่งช่วยให้ผิวชุ่มฉ่ำ มักใช้น้ำมันที่สกัดจากพืช เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid /HA)  สควาลีน (Squalene)   น้ำมันโจโจบา (Jojoba oil) โรสฮิปออยล์ (Rose hip oil)  น้ำมันอาร์แกน (Argan Oil)  เป็นต้น
  • เซรัมและเอสเซนส์ โดยปกติในญี่ปุ่นมักใช้ส่วนผสม เช่น สารสกัดจากพืช (Plant extract) เช่น วิตามิน C Niacinamide  ชะเอมเทศ (Licorice) และชาเขียว
  • แชมพูและครีมนวดผม สินค้าธรรมชาติจะไมใช้สารเคมีที่ทำลายเส้นผม โดยใช้พืชและสารสกัดจากพืช เช่น น้ำมันเมล็ดคามีเลีย น้ำมันรำข้าว สารสกัดจากสาหร่ายทะเล เป็นต้น
  • น้ำมันนวดผมและบำรุงผม (Hair treatment) มีการใช้น้ำมันอาโวคาโด (Avocado) น้ำมันอาร์แกน น้ำมันเมล็ดคามีเลีย เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) BB Cream (Blemish Balm Cream) ใช้สีที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ (Mineral pigment) และสารสกัดจากพืช
  • ลิปสติก ใช้ไขที่ได้จากพืช น้ำมันและสีธรรมชาติ น้ำมันโจโจบา ไขผึ้ง(Bees wax) เชียบัตเตอร์ (Shea butter)
  • น้ำหอม มักใช้น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ที่ได้จากธรรมชาติเช่นดอกไม้หรือผลไม้ต่างๆ

ตลาดเครื่องสำอางธรรมชาติ ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ครอบคลุมสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นบุรุษ สตรีหรือเด็ก โดยสำหรับสตรี ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวธรรมชาติจะใช้วัตถุดิบที่มาจากพืช และมีให้เลือกหลากหลายเพื่อให้เข้ากับประเภทผิวและปัญหาผิวต่างๆนาๆ เช่น ครีมล้างหน้า ครีมเสริมสร้างความชุ่มฉ่ำของผิว โลชั่น แมส ครีมกันแดด ฯลฯ  รวมทั้งช่วยขจัดปัญหาเรื่องสิว ช่วยชะลอวัย (Anti-aging)  หรือช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูผิวที่ถูกทำลายให้กลับสดใส (Brightening)

สำหรับบุรุษ ส่วนใหญ่เป็นประเภทแชมพูและครีมบำรุงผม (Hair conditioning) และผลิตภัณฑ์แต่งผม (Styling) ยาโกนหนวด หรือครีมหลังโกนหนวดซึ่งใช้สารสกัดจากพืชแทนการใช้สารเคมีที่ทำร้ายเส้นผม

ส่วนสำหรับทารกและเด็ก สินค้าเช่น Baby lotion, ครีม, น้ำมัน และสบู่อาบน้ำจะเน้นเป็นพิเศษด้านความปลอดภัยและความนุ่มนวลต่อผิวที่บอบบางของเด็ก พร้อมการเสริมสารธรรมชาติและออร์แกนิคเข้าไปด้วย

 

บทสรุปและคำแนะนำสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย

สินค้าเครื่องสำอางที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติและออร์แกนิค มีแนวโน้มการขยายตัวของความต้องการในตลาดญี่ปุ่นต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพและความปลอดภัยกันมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลกซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในส่วนของผู้ผลิต ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ คือ ความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า โดยผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องศึกษากฏระเบียบของญี่ปุ่นสำหรับสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิค รวมถึงการระบุว่าเป็นเครื่องสำอางออร์แกนิค/ธรรมชาติ การใช้คำว่า “Natural ingredients” หรือการใช้เครื่องหมายรับรองต่างๆ สำหรับสินค้าเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิค  นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นเองบางรายใช้วัตถุดิบที่เป็นพืชผลเขตร้อนและพืชสมุนไพร ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นรู้จักกันมากขึ้น ดังนั้น สินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบประเภทดังกล่าวจึงมีศักยภาพในการส่งออกไปยังญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณของวัตถุดิบธรรมชาติต่างๆซึ่งผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นอาจไม่คุ้นเคย รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติก็จะเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้

 

มีนาคม 2567

 

 

jaJapanese