เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP21 เรื่อง กาแฟเครื่องดื่มยอดฮิตของชาวอเมริกัน

 

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐฯ ซึ่งกาแฟก็ถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดสูงเป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมา ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ ตามลำดับ โดยชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่มีพฤติกรรมนิยมดื่มกาแฟกันเป็นประจำจนผสมผสานกลายเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันจนแทบจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังจะเห็นได้จากสื่อภาพยนตร์และซีรีย์อเมริกันต่างๆ ที่มักจะมีการเสนอภาพของการดื่มกาแฟที่บ้าน ร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ อยู่บ่อยครั้ง

จากข้อมูลรายงานล่าสุดของสมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association of USA หรือ NCA) พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ดื่มกาแฟมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดในสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับสัดส่วนเพียงร้อยละ 49 ในปี 2547 ซึ่งถือเป็นสถิติสัดส่วนผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟมากที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้งนี้ หากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 4

 

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ชาวอเมริกันในตลาดดื่มกาแฟเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปัจจัยด้านสถานการด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ปรับตัวดีทำให้ชาวอเมริกันสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติจึงหันกลับมาเลือกดื่มกาแฟตามร้านกาแฟและคาเฟ่ต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ กระแสความนิยมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ที่ขยายตัวสูงขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมพิถีพิถันในการเลือกบริโภคกาแฟจากผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟ (Roasters) ที่สามารถผลิตสินค้าตอบโจทย์ความเชื่อและความต้องการของผู้บริโภคได้ด้วย ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

โดยรวมแล้วผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนมากยังคงดื่มกาแฟจากที่บ้านเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 ของทั้งหมด โดยกาแฟที่ต้มด้วยเครื่องทำกาแฟได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมา กาแฟจากเครื่องทำกาแฟแบบถ้วยเดียว (Single Cup) และกาแฟสำเร็จรูป ตามลำดับ และส่วนที่เหลือร้อยละ 17 เป็นการดื่มกาแฟนอกบ้าน เช่น ที่ทำงาน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และคาเฟ่ เป็นต้น

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าอุตสาหกรรมกาแฟสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 18,944.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 23,204.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.14 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีความต้องการบริโภคกาแฟสูงแต่กลับมีปริมาณความสามารถในการผลิตภายในประเทศไม่มากนัก โดยอุตสาหกรรมการเพาะปลูกกาแฟสหรัฐฯ กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเขตเครือรัฐเปอร์โตริโก รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐฮาวาย ที่สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสม โดยเฉพาะในรัฐฮาวายที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟกาแฟโคนา ซึ่งเป็นกาแฟพิเศษคุณภาพสูงมีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

 

ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องนำเข้ากาแฟจากประเทศผู้ผลิตจากทั่วโลก โดยในปี 2566 สหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้ากาแฟทั้งสิ้น 7,998.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.53 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัจจัยด้านสถานการณ์ด้านการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาด แหล่งนำเข้ากาแฟที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ โคลัมเบีย (ร้อยละ 17.24) บราซิล (ร้อยละ 16.92) สวิตเซอร์แลนด์ (ร้อยละ 14.01) แคนาดา (ร้อยละ 7.10) ฮอนดูรัส (ร้อยละ 5.79) กัวเตมาลา (ร้อยละ 5.72) แม็กซิโก (ร้อยละ 4.54) นิการากัว (ร้อยละ 4.50) เวียดนาม (ร้อยละ 4.34) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 3.36) ตามลำดับ

 

ในส่วนของไทยนั้น แม้ว่าไทยจะสามารถเพาะปลูกกาแฟได้เป็นปริมาณพอสมควรประมาณปีละ 50,000 ตัน แต่ก็แทบจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศจึงทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกไม่มากนัก แม้ว่าปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทยโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคใต้จะเหมาะสมในการปลูกกาแฟพิเศษคุณภาพสูงก็ตาม

 

นอกจากนี้ การเข้าถึงศาสตร์และภูมิความรู้ด้านกาแฟในระดับสากลเชิงลึกของกลุ่มเกษตรกรไทยในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัดจึงทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟพิเศษคุณภาพสูงที่เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

ดังนั้น การดำเนินโครงการส่งเสริมและให้ความรู้ผู้ประกอบการไทยแบบครบวงจรตั้งแต่การเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ดีมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว เก็บรักษา แปรรูป จนกระทั่งการคั่วเมล็ดกาแฟ ตามแนวโน้มความต้องการของตลาดสากลจึงน่าจะช่วยส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากาแฟไทยได้ในอนาคต

 

อีกทั้ง การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในตลาดสากล เช่น สถาบันคุณภาพกาแฟ (Coffee Quality Institute หรือ CQI) ยังน่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมการแฟไทยเพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/Bhpobww11AE

 

******************************

 

シカゴ国際貿易促進局

 

jaJapanese