13 เทรนด์ที่ส่งผลต่อการซื้อของออนไลน์ในสิงคโปร์

ในปี 2567 การแข่งขันในตลาดการค้าออนไลน์ในสิงคโปร์ทวีความรุนแรงขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมีส่วนสำคัญให้ลูกค้าเข้าถึงการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องก้าวให้ทันกับความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพลวัตของการค้าออนไลน์ในสิงคโปร์

13 เทรนด์ที่ส่งผลต่อการช้อปปิ้งออนไลน์ในสิงคโปร์ในปี 2567 มีดังต่อไปนี้

  1. การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในปี 2567 ปัญญาประดิษฐ์จะยังคงเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ขายสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติเฉพาะบุคคล หรือการตอบโต้ผ่านแชทบอทได้ เพราะ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถทำได้ถึงระดับการปรับแต่งเฉพาะบุคคล ซึ่งจะก่อให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้าได้เป็นอย่างมาก
  2. การให้ความสำคัญในการจัดการและรวบรวมข้อมูล ในปี 2567 ข้อมูลจะยังคงเป็นทรัพย์สินทางธุรกิจที่มีค่าที่สุดสำหรับการทำความเข้าใจลูกค้า การตัดสินใจอย่างมีข้อมูล และการวัดความสำเร็จ ดังนั้น การจัดระเบียบข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นเรื่องที่สำคัญ การจัดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และระบบการจัดการคำสั่งซื้อ ซึ่งการบูรณาการนี้จะครอบคลุมการดำเนินการของธุรกิจ จากการสร้างความสอดคล้องของข้อมูลจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถรับข้อมูลเชิงลึกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำมาปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ระบบการรวบรวมข้อมูลทำให้เกิดการนำ AI ไปใช้ รวมไปถึง Generative AI[1] ระบบอัตโนมัติ และ Machine Learning[2] เพิ่มประสิทธิภาพการตลาด การบริการลูกค้า และกระบวนการขาย
  3. การสนทนาผ่านแชทบอทจะคล้ายกับมนุษย์มากขึ้น การค้าผ่านบทสนทนากับแชทบอทจะมีความสมจริงมากขึ้น จะไม่เหมือนในอดีตที่บทสนทนาจะแข็งทื่อ และไม่เป็นธรรมชาติ ความก้าวหน้าด้าน Generative AI และ Large Language Models (LLM)[3] จะช่วยปฏิวัติวิธีที่ผู้ขายสื่อสารกับแชทบอท ที่จะทำให้บทสนทนาสมจริง และมีการปรับแต่งให้ลงตัวมากขึ้น การปรับปรุงเหล่านี้ช่วยให้มีการโต้ตอบเหมือนมนุษย์มากขึ้นในการสอบถามข้อมูลบริการและการสนทนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ่านแอพฯ ส่งข้อความและเว็บไซต์ ให้เหมือนกับคุณภาพที่ลูกค้าได้รับจากการบริการแบบหน้าร้านในรูปแบบออนไลน์
  4. ความก้าวหน้าของ Headless Commerce[4] วิธีการแบบ Modular ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและเปิดตัวอินเทอร์เฟซใหม่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ติดขัดจากการปรับเปลี่ยนระบบแบ็คเอนด์ทำให้ทางร้านสามารถอัพเดตข้อมูลหน้าร้านดิจิทัลได้ทันที
  5. สินค้ามือสองกลับมาเฟื่องฟู ทัศนคติของผู้บริโภคต่อสินค้ามือสองเปลี่ยนแปลงไป ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 52% ของผู้บริโภคมีการซื้อสินค้ามือสอง มีการคาดการณ์ว่าตลาดสินค้ามือสองอาจสูงถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)[5] หลายแบรนด์จึงเปิดร้านรีเซลล์และกระตุ้นให้ลูกค้ารีไซเคิลสินค้า ตั้งแต่ผ้ายีนส์ที่ชำรุดไปจนถึงกระเป๋าระดับไฮเอนด์และอุปกรณ์ในครัว ดังนั้น หากต้องการให้ธุรกิจในตลาดที่กำลังขยายตัวนี้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ที่รวมถึงระบบการจัดการสินค้าคงคลัง และคำสั่งซื้อขั้นสูงที่ทำให้เกิดการมองเห็นได้ทันที และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
  6. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางสังคม การขายของบนโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Instagram,Facebook, Snapchat และ TikTok ได้มีผู้ใช้รวมกันเกือบห้าพันล้านคนในแต่ละเดือน ในปี 2567 ผู้ซื้อมากกว่าสองในสาม (67%) ทั่วโลกได้ทำการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย การค้าแบบ Social Commerce สามารถเชื่อมโยงธุรกิจกับผู้ชมจำนวนมากได้โดยตรง ทำให้เกิดการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์มากขึ้น การเข้าถึงตลาดใหม่ และส่งเสริมความสัมพันธ์กับผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ อาจไม่เพียงพอ ผู้ขายต้องมีส่วนร่วมเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า/ผู้ชม
  7. เนื้อหาวิดีโอแบบไดนามิก[6]ช่วยเพิ่มยอดขาย เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังเนื้อหาวิดีโอที่น่าดึงดูดและคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากเนื้อหารูปแบบนี้ช่วยให้ลูกค้ามีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากการสาธิตวิธีการใช้ และมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือโฆษณาหรือช่วยในการค้นหาผลิตภัณฑ์แล้ว การนำเสนอรูปแบบเนื้อหาวิดีโอได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงตลอดการซื้อสินค้าของลูกค้า รวมถึงการให้คำปรึกษาก่อนการซื้อ คำอธิบายผลิตภัณฑ์โดยละเอียด และแม้แต่การสื่อสารหลังการซื้อ โดยผู้บริโภค 89% ได้ดำเนินการซื้อสินค้าต่อจากการดูวิดีโอ
  8. แนวโน้มการทำ Personalized Loyalty Programs หรือการสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขาย การดึงดูดลูกค้าใหม่เป็นสิ่งสำคัญ แต่การรักษาลูกค้าปัจจุบันก็มีความ สำคัญไม่แพ้กันในการรักษาการเติบโตของธุรกิจ ดังนั้น การทำ Personalized Loyalty Program มีความจำเป็นเพราะเป็น
    กลยุทธ์ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ แต่ยังทำให้ความรักในแบรนด์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกด้วย ผู้บริโภคหันมาสนใจโปรแกรมสะสมคะแนนที่ให้มากกว่าการซื้อสินค้า เพราะผู้บริโภคมองหาของรางวัลที่สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภค ในปัจจุบัน ลูกค้าคาดหวังถึงข้อเสนอที่เรียบง่ายและพิเศษเฉพาะจากโปรแกรมสะสมแลกคะแนน ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า 60% ของผู้บริโภคชอบคูปองส่วนลดเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโปรแกรมสะสมคะแนน และประมาณหนึ่งในสามของผู้บริโภคให้ความสำคัญของสิทธิพิเศษในการเข้าถึง/ซื้อผลิตภัณฑ์ก่อนใคร
  9. gารสื่อสารทางการตลาดผ่าน Influeners การตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นเทรนด์ที่โดดเด่นในสิงคโปร์มาหลายปีแล้ว ประกอบกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นในเนื้อหาวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram และ TikTok โดยก่อนหน้าการโปรโมทสินค้าผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนอาจจะเหมาะอย่างมาก แต่ในปี 2567 เป้าหมายได้เปลี่ยนไปยังอิทธิพลของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโครและ
    นาโนมากขึ้น โดยทั่วไป อินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโครจะมีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 ถึง 1,000,000 ราย และอินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโนจะมีผู้ติดตามหรือสมาชิกระหว่าง 100 ถึง 10,000 ราย ซึ่งจะสามารถนำเสนอได้ตรงเป้าหมายทางการตลาดมากขึ้น จากรายงาน The State of Influencer Marketing 2022 ระบุว่า อินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโครและนาโนจะมี Conversion Rate[7] ที่คงที่กว่า เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นส่วนตัวกับผู้ติดตาม ทำให้มีอิทธิพลและความสามารถโน้มน้าวใจได้มากขึ้น
  1. ทางเลือกการชำระเงินแบบใหม่ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ได้เปลี่ยนจากการชำระเงินสดไปเป็นตัวเลือกอื่น ๆ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต ธนาคารออนไลน์ และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง PayPal ตลาดออนไลน์หลัก ๆ มักมีวิธีการชำระเงินเป็นของตัวเอง เช่น SPayLater ของ Shopee ที่เสนอทางเลือกให้ลูกค้าซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy-Now-Pay-Later) แต่ในปี 2567 นอกเหนือจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ผู้บริโภคยังคาดหวังตัวเลือกต่าง ๆ เช่น การแบ่งชำระการซื้อสินค้าออกเป็นหลาย ๆ งวด หรือสกุลเงินดิจิทัลจะเริ่มกลายเป็นวิธีการชำระเงินทั่วไปในการซื้อของออนไลน์
  2. การซื้อของแบบไลฟ์สด (Livestream Shopping) การทำการตลาดด้วยการสื่อสารผ่านวิดีโอ (Video Marketing) ได้เปลี่ยนแนวโน้มของตลาดในสิงคโปร์ และในปี 2566 ได้เกิดการยกระดับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการซื้อของแบบไลฟ์สด หรือการถ่ายทอดวิดีโอแบบเรียลไทม์ไปยังผู้ชมโดยตรงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยม เช่น Facebook, Instagram และ TikTok ซึ่งนอกจากทางร้านค้าสามารถแสดงสินค้าของทางร้าน ทางร้านยังสามารถตอบคำถามและยังช่วยปิดการขายได้ทันที ซึ่งการขายดังกล่าวกลับได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นเก่า รายงานของ Klarna ระบุว่า 28% ของ Baby Boomers และ 27% ของคน Generation X มีส่วนร่วมในการซื้อของแบบไลฟ์สด ในขณะที่ อัตราการมีส่วนร่วมของคนรุ่น Millennials และ Generation Z ซึ่งอยู่ที่ 23% และ 20% ตามลำดับ
  3. แนวโน้มของ User-Generated Content(UGC)[8] ต่อยอดขายของอีคอมเมิร์ซ UGC ได้เปลี่ยนวิธีที่ทางแบรนด์ได้เชื่อมต่อกับกลุ่มผู้บริโภค ซึ่ง UGC ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์/สินค้าเป็นอย่างมาก และนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นและความภักดีของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการเป็นลูกค้าในอนาคต (Potential Buyers) มักจะให้ความสำคัญกับการดูผลตอบรับและบทวิจารณ์จากใจจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่ง UGC ได้นำเสนอภาพรวมเหล่านั้นในฐานะลูกค้าปัจจุบันและเป็นผู้ใช้งานจริง จากเดิมการนำเสนอขายสินค้าอาจจะเป็นคำอธิบายผลิตภัณฑ์มาตรฐานและภาพถ่ายระดับมืออาชีพ โดยแสดงให้เห็นการใช้งานจริงและการประยุกต์ใช้ในแบบต่างๆ แต่วิดีโอของ UGC จะช่วยเพิ่มการนำเสนอการใช้งานเชิงลึก ความซับซ้อนของสินค้าตั้งแต่อุปกรณ์เทคโนโลยีไปจนถึงยานพาหนะ
  4. รูปแบบการสมัครสมาชิก(Subscriptions)จะยังมีบทบาทต่อไป รูปแบบธุรกิจการสมัครสมาชิกยังคงมีส่วนสำคัญในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ความบันเทิงดิจิทัลไปจนถึงอาหาร เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ภายในปี 2567 การสมัครสมาชิกสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ รูปแบบธุรกิจนี้ให้ประโยชน์ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าจากการนำเสนอความยืดหยุ่นและทางเลือกให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่มั่นคง เช่น บริษัท KIND Snacks ได้ขยายกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรวมบริการสมัครสมาชิกควบคู่ไปกับการขาย B2B แบบดั้งเดิม แนวทางนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอข้อเสนอสุดพิเศษและรสชาติให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่ยังส่งเสริมความภักดีต่อแบรนด์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ รูปแบบการสมัครสมาชิกยังช่วยให้ KIND สามารถรวบรวมข้อมูลจากบุคคล ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิเคราะห์เทรนด์ต่าง ๆ

     ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ ในสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 5,793.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์  และคาดว่า จะโตถึง 7,504.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ภายในปี 2571  การซื้อของออนไลน์แพร่หลายไปสู่ผู้คนแทบทุกกลุ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาตลาดด้านอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามเทรนด์ข้อมูลต่าง ๆ อยู่เสมอ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยสามารถนำข้อมูลแนวโน้มการทำการตลาดออนไลน์ในสิงคโปร์ไปพัฒนาช่องทางการตลาด หรือการประชาสัมพันธ์สินค้าให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดสิงคโปร์ได้ต่อไป

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

https://mediaonemarketing.com.sg/ecommerce-trends-in-singapore

[1] ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลอื่น ๆ

[2] การทำให้คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลและสภาพแวดล้อมที่ได้รับจากการเรียนรู้ของระบบ

[3] ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างรูปแบบสนทนา และ ข้อมูลได้คล้ายกับการสรรสร้างภาษาของมนุษย์

[4] การที่โครงสร้างของเว็บ E-Commerce สามารถแยกการทำงานของ Front end กับ Back end โดยที่ไม่ส่งผลต่อกันได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการพัฒนาเว็บไซต์ไปในทางที่ต้องการ และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

[5] ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในทุกกระบวนการ

[6] วิดีโอขนาดเต็มที่ได้รับการปรับขนาดอัตโนมัติให้เหมาะกับหน้าจอทุกแบบ และปรับการสตรีมอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอ

[7] อัตราการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ

[8] เนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมาจากลูกค้า/ผู้ใช้ของแบรนด์ตัวจริง

jaJapanese