ตลาดรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น

                                                                                                                   สตท ณ เมืองฮิโรชิมา

 

รถจักรยานยนต์เป็นยานยนต์ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดทั่วโลกเนื่องจากความคล่องตัว และสำหรับประเภทรถจักรยานยนต์ขนาดกลางและเล็ก มีระดับราคาที่คนทั่วไปพอที่จะหาซื้อเป็นเจ้าของได้   ในอดีตญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นตลาดแห่งหนึ่งซึ่งได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน โดยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญประเทศหนึ่ง และในปัจจุบันก็ยังเป็นตลาดที่มีความต้องการอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

 

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น                                                                                             

ญี่ปุ่นเริ่มจากการเป็นตลาดของสินค้านำเข้าในช่วงทศวรรษ 1920 และต่อมามีบริษัทญี่ปุ่นเลียนแบบและเริ่มการผลิตภายในประเทศ  ในขณะเดียวกัน เมื่อปี 1931 บริษัท Harley-Davidson ของสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปตั้งเป็นบริษัทท้องถิ่นและเริ่มการผลิตแบบน็อคดาวน์ (Knock-down) ในญี่ปุ่น  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ชะงักลงเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆถูกกำหนดให้ผลิตยุทธปัจจัยทางการทหาร  ในช่วง 15 ปีภายหลังสงครามอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่นได้ค่อยๆฟื้นตัว จนในปี 1948 ได้มีการจัดตั้งสมาคม ยานยนต์ขนาดเล็กแห่งญี่ปุ่น

ในช่วงทศวรรษ 1950 รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยการใช้นโยบายห้ามการนำเข้า จำกัดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมของชาติ และส่งเสริมการส่งออก ทำให้รถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นมีการพัฒนาต่อยอดด้วยการปฎิรูปเทคโนโลยีการผลิต จนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามลำดับและขยายการส่งออกไปยังตลาดโลก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเปิดเสรีการนำเข้าในปี 1961

ในช่วงทศวรรษ 1960 บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น 3 ราย คือ ฮอนด้า ยามาฮ่า และซูซูกิได้เริ่มออกไปจัดตั้งบริษัทจำหน่ายและโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศ บ้างก็มีการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำการผลิตแบบน็อคดาวน์ (Knock down) เพื่อจำหน่ายในประเทศนั้นๆรวมทั้งส่งออก จนมีฐานธุรกิจที่มั่นคงใน 3 ประเทศหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ไต้หวันและไทย  ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 บริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นยังคงเน้นการผลิตในประเทศ ใช้ระบบการผลิตเพื่อส่งออกปริมาณมาก จนพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดของการผลิตและส่งออกในต้นทศวรรษ 1980  ประมาณปี 1985 เมื่อเงินเยนมีค่าสูงขึ้นอย่างมาก จึงเริ่มเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ

ในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อตลาดในประเทศเริ่มหดตัวลง อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นจึงมุ่งไปยังตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของฐานการผลิตในต่างประเทศ บริษัทญี่ปุ่นจึงเริ่มนำเข้าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศกลับมา จากนั้นยังได้ขยายฐานการผลิตกว้างขวางขึ้นไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและอินเดีย เป็นต้น ซึ่งเป็นการเสริมกำลังให้กับระบบการผลิตและจำหน่ายของบริษัทญี่ปุ่น  แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการเงินในเอเซียเมื่อปี 1997 ที่ทำให้การผลิตลดลงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นก็ได้กลับฟื้นตัวในช่วงการเจริญเติบโตสูงของตลาดเอเซีย  และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ในขณะที่ตลาดในประเทศลดขนาดลง ก็ได้เริ่มเห็นการปฎิรูปโครงสร้างขนานใหญ่ของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น พร้อมกับขยายการลงทุนเครื่องจักรการผลิตใหม่ และจัดตั้งหน่วยวิจัยพัฒนาที่ฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อให้เป็นธุรกิจรถจักรยานยนต์อย่างครบวงจร

 

ขนาดตลาดรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น   

จากสถิติล่าสุดในปี 2022 ญี่ปุ่นมีการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภท เป็นปริมาณ 6.95 แสนคัน โดยประเภทที่มีการผลิตมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดลูกสูบเกินกว่า 251cc ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.5 ของปริมาณการผลิตทั้งสิ้น รองลงมา คือขนาดลูกสูบน้อยกว่า 50cc (สัดส่วนร้อยละ 21.9)  ขนาด 51-125cc (ร้อยละ7.9) และขนาด 125-250cc (ร้อยละ 7.7) ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาการผลิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษ 1970 – 1990 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า ปริมาณการผลิตในญี่ปุ่นได้ลดลงกว่า 8-10 เท่า โดยเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ  และหากพิจารณาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  พบว่า รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคือต่ำกว่า 50cc แม้ว่ายังมีปริมาณการผลิตน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ แต่แสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการขอใบอนุญาติขับขี่สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กกว่า 50cc. ค่อนข้างง่าย  ในขณะที่ประเภทที่ใหญ่กว่า 50cc มีแนวโน้มค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะการลดลงอย่างมากในช่วงปี 2019-2020 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจโดยรวมชะลอหรือชะงักตัวลงเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด แต่ก็ได้ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2021 จนกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น ปัจจุบัน(สถิติปี 2022)  มีฐานการผลิตใน 23 ประเทศทั่วโลก มีโรงงานรวม 64 โรงงาน โดยอยู่ในทวีปเอเชีย 47 โรงงาน ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 11 โรงงาน  ทวีปแอฟริกา 3 โรงงาน ทวีปยุโรป 2 โรงงานและอเมริกาเหนือ 1 โรงงาน มีปริมาณการผลิตรวม 25.36 ล้านคัน

 

การส่งออกรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น

ในปี 2022 ญี่ปุ่นส่งออกรถจักรยานยนต์ทุกประเภทเป็นปริมาณ 4.87 แสนคัน โดยประเภทที่ส่งออกมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ขนาดเกินกว่า 251cc ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.4 รองลงมา คือ ขนาด 126-250cc (ร้อยละ 10.6)  ขนาดรถ 51-125cc (ร้อยละ7.8) และ ขนาดน้อยกว่า 50cc (ร้อยละ 5.2) ตามลำดับ  เห็นได้ว่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นได้ลดลงประมาณ 4-6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปี 1970 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา การส่งออกมีแนวโน้มค่อนข้างคงตัว

 

ตลาดส่งออกหลักของรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.8 คือยุโรป รองลงมา เป็นตลาดอเมริกาเหนือ ร้อยละ 31.2 นอกนั้นเป็นส่วนน้อย เช่น ตลาดเอเชีย (ร้อยละ6.2) ตลาดแปซิฟิค (ร้อยละ 5.5) ตลาดอเมริกาใต้ (ร้อยละ 4.8) ฯลฯ    เมื่อพิจารณาแนวโน้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าตลาดยุโรปและเอเชียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ในขณะที่ตลาดอเมริกาเหนือและตลาดอื่นๆลดลง

 

การนำเข้ารถจักรยานยนต์     

ดังที่ได้กล่าวข้างต้น บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของญีปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งเป็นการลงทุนเองและร่วมลงทุนกับผู้ผลิตในท้องถิ่น โดยใช้ชิ้นส่วนที่นำเข้าจากญี่ปุ่นและที่ผลิตในท้องถิ่นด้วย สินค้าที่ผลิตในต่างประเทศจำหน่ายในตลาดนั้นๆและส่งออกไปยังประเทศที่สาม รวมทั้งมีการนำเข้ารถบางรุ่น รวมทั้งชิ้นส่วนกลับมายังญี่ปุ่นด้วย จากสถิติรวบรวมโดย JAMA   ในปี 2022 ตลาดญี่ปุ่นมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมทั้งสิ้น 4.05 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์นำเข้า 43,119 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของยอดการจำหน่ายรวม  โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์นำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รถจักรยานยนต์ผลิตในประเทศมีการจำหน่ายได้ค่อนข้างดีกว่า ทำให้สัดส่วนของรถจักรยานยนต์นำเข้ามีแนวโน้มลดลง (ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวมิได้รวมรถจักรยานยนต์นำเข้าขนาดกลางและเล็กที่ต่ำกว่า 125cc)

รถจักรยานยนต์นำเข้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ Big Bike นำโดย Harley-Davidson (https://www.harley-davidson.com/jp/ja/index.html) ของสหรัฐฯ  BMW Motorrad (https://www.bmw-motorrad.jp/ja/home.html) ของเยอรมัน  Triump (https://www.triumphmotorcycles. jp/) ของสหราชอาณาจักร Ducati (https://www.ducati.com/jp/ja/home) ของอิตาลี KTM (https://www. ktm.com/ja-jp.html) ของออสเตรีย นอกจากนั้น มีแบรนด์อื่นๆ เช่น Moto Guzzi (อิตาลี) Indian Motorcycles (สหรัฐฯ) Aprilia (อิตาลี) Piaggio (อิตาลี) MV AGUSTA (อิตาลี) Benelli (อิตาลี) ส่วนแบรนด์นำเข้าจากเอเชีย ได้แก่ KYMCO จากไต้หวัน และ GPX จากไทย  เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถิตินำเข้ารถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น ในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้ารถจักรยานยนต์ทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 8.37 แสนคัน เป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน(Internal combustion engine) ร้อยละ 31.7 และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 68.3   หากพิจารณาเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในด้านปริมาณ มีการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 2.65 แสนคัน มูลค่า 823.3 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก คือ ประเภทเกิน 51cc-125cc และ 126cc-250cc ซึ่งสองประเภทนี้มีปริมาณนำเข้ารวมกัน 2.05 แสนคัน หรือร้อยละ 77.3 ของปริมาณการนำเข้ารถจักรยานยนต์ประเภทสันดาปภายใน  ในขณะที่ในด้านมูลค่า รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เกินกว่า 800cc มีมูลค่าสูงสุด คือ 298.1 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.2

ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นำเข้ารวมทั้งสิ้น 5.50 แสนคัน คิดเป็นมูลค่า 224.2 ล้านเหรียญฯสำหรับแหล่งนำเข้า ของรถจักรยานยนต์ทุกประเภท   ในด้านปริมาณ จีนมีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 68.6 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รองลงมาได้แก่ ไทย สัดส่วนร้อยละ 14.0 ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นรถจักรยานยนต์ประเภทสันดาปภายใน แต่เมื่อดูในด้านมูลค่า ไทยมีมูลค่าสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 42.6 ในขณะที่จีนเป็นอันดับสอง สัดส่วนร้อยละ 22.9  ส่วนแหล่งนำเข้าอื่นๆ มีปริมาณและสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10

 

การนำเข้าจากไทย       

ญี่ปุ่นนำเข้ารถจักรยานยนต์จากไทย  ในปี 2023 เป็นปริมาณ 1.17 แสนคัน มูลค่า 449 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสองปีก่อนหน้านั้น โดยแทบทั้งหมด คือ ร้อยละ 85 ของปริมาณ  และ ร้อยละ 57 เป็นสินค้ารถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมีขนาดลูกสูบเกินกว่า 50cc จนถึงขนาดที่ไม่เกิน 500cc       รถจักรยานยนต์นำเข้าจากไทยซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยมาในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ แบรนด์ GPX ซึ่งได้รับการพัฒนาและผลิตโดยบริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) (https://gpxthailand.com/activity-content-gpxxsym/)และเริ่มเข้าจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปี 2019 ผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่น  GPX Japan Co.,Ltd (https://www.gpxjapan.co.jp/)  โดยญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของบริษัทฯ รองจากจีน สหรัฐฯ เบลเยี่ยมและ สหราชอาณาจักร ตามลำดับ   ขนาดรถจักรยานยนต์ที่ส่งไปจำหน่ายในญี่ปุ่น เป็นขนาดเล็กและกลาง คือ 100cc-250cc ซึ่งเป็นประเภทที่ขับขี่ได้ง่ายโดยเฉพาะสำหรับสุภาพสตรี อีกทั้งราคาก็อยู่ในระดับที่ซื้อหาได้ไม่ยาก

 

แนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่นในอนาคต

ได้มีนักการตลาดวิเคราะห์และคาดการอนาคตของตลาดรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่นว่า ประเด็นที่ต้องจับตาและติดตาม คือ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัวอย่างโดดเด่นในตลาดต่างๆทั่วโลก ซึ่งต้องการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality (CN)  นอกจากนั้น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ เช่น ช่วยลดเสียงรบกวน มีค่าใช้จ่ายต่ำ และการเปลี่ยนแบตตารี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก็มีประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า  บริษัท Yano Economic Research ของญี่ปุ่นได้คาดการว่า ภายในปี 2030 รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดไปถึงร้อยละ 27  ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออนาคตของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า คือ ความพร้อมของสถานีชาร์จ  ซึ่งในญี่ปุ่นบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยักษ์ใหญ่ 4 บริษัทได้ตกลงร่วมกันในการใช้แบตตารี่แบบเดียวกัน และร่วมมือกับบริษัทด้านพลังงานของญี่ปุ่นได้ลงทุนสร้างสถานีชาร์จ ภายใต้ชื่อ  Gachaco (https://gachaco.co.jp/) ซึ่งปัจจุบันมีถึง 12,000 แห่งทั่วประเทศ จึงเชื่อว่า การขยายตัวของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับอนาคตของตลาดรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น

 

บทสรุปและข้อคิดเห็น

แม้ว่ารถจักรยานยนต์ที่ผลิตเองในญี่ปุ่นยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่ารถจักรยานยนต์นำเข้ามาก แต่จะเห็นได้ว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมีความนิยมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือ Big Bike ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะแบรนด์ชั้นนำของโลก ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์นำเข้าขนาดกลางและเล็กซึ่งมีราคาที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ก็สามารถขยายตลาดในญี่ปุ่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ของไทยซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้นตามลำดับ   เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องเข้มงวดในการรักษาคุณภาพความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อรักษาชื่อเสียงรถจักรยานยนต์ “Made In Thailand” ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยทำให้รถจักรยานยนต์กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังญี่ปุ่นอีกรายการหนึ่งของไทยในอนาคต  นอกจากนั้น มีประเด็นที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป คือ การขยายตัวของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถปรับตัวและวางแผนการตลาดในระยะกลางและยาวให้เหมาะสมต่อไปได้

 

                                                                                                                                     พฤษภาคม 2567

 

ที่มาข้อมูล

  • Japan Automobiles Manufacturers Association (JAMA) (https://www.jama.or.jp/ ) และสถิติตลาดรถจักรยานยนต์ในญี่ปุ่น (https://www.jama.or.jp/statistics/facts/two_wheeled/index.html)
  • บทศึกษาเรื่อง “The development process of the Japanese two-wheels vehicles industry and overall picture”(日本の二輪車産業発展のプロセスと全体像) โดย Institute of Developing Economies (https://www.ide.go.jp/library/Japanese/Publish/Reports/InterimReport/pdf/2004_01_05_01.pdf)
  • รายงานเรื่อง “The market trend of the import motorcycles: the current situation and the future prospects” (輸入二輪車メーカー市場動向|現状と今後の展望 ) โดย Turnpoint Consulting Co., Ltd 13 ตุลาคม 2023 (https://turnpoint-consulting.com/media-mobility/motorcyclemarket/)   
  • รายงานเรื่อง “2 years after the landing of GPX from the kingdom of motorcycles, Thailand : too good cost performance? Maybe suitable for the beginners. (バイク王国タイから上陸2GPXコスパよすぎ? 初めてのバイクにぴったりかも) 31 ตุลาคม 2021 โดย Norimono News Mediavague Co., ltd. (https://trafficnews.jp/post/112048)
  • รายงานเรื่อง “กรณีศึกษา ไทยส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์” โดยเวปไซต์ ลงทุนแมน  (https://www.longtunman.com/36554) 7 มีนาคม 2022
  • รายงานเรื่อง “Special Edition: the future of motorcycle market. Into a big change for sales(特集: 2023年オートバイ市場の行方は?車両販売、今後も大きく変化へ ) โดย Motorcycle Distribution Newspaper (オートバイ流通新聞) 27 กุมภาพันธ์ 2023 (autobi-r.net)

 

 

 

jaJapanese