ปัญหาความขัดแย้งของผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วน

ความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จนถึงขณะนี้ถือว่าอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด โดยปัจจุบันได้มีการส่งมอบชิ้นส่วนที่ชำรุดหรือมีปัญหามากขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่งรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ช้าลง บางทีก็เกิดปัญหาจำเป็นต้องเรียกคืนรถยนต์เพราะชิ้นส่วนบางอย่างชำรุด เรื่องได้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง BMW, Mercedes และ Audi ต้องเสียหายหลายพันล้านยูโร ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากจึงได้ออกมาประสานเสียงและแจ้งต่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า ปัญหาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และจากข้อมูลวงในเปิดเผยว่า เนื่องด้วย Bosch ไม่สามารถจัดหาแบตเตอรี่ขนาด 48 โวลต์ ได้เพียงพอกับความต้องการ/คำสั่งซื้อของ Mercedes จึงทำให้ Mercedes สูญเงินไปกว่าหนึ่งพันล้านยูโร ในขณะที่ BMW ก็มีปัญหากับเบรกอิเล็กทรอนิกส์ของ Continental จนทำให้ BMW (ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก) ต้องเรียกรถยนต์คืนกว่า 130,000 คัน ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเสียหายหลายร้อยล้านยูโร ด้านคู่แข่งอย่าง Audi ก็กำลังมีประเด็นกับบริษัท Vitesco ในเรื่องของสตาร์ทเตอร์เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (BAS – Belted Alternator Starter) ที่ทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาหลัก ๆ ระหว่างค่ายรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่ใช่เรื่องอุปกรณ์สมัยใหม่หรือซอฟต์แวร์ตัวใหม่ หากแต่เป็นเรื่องของชิ้นส่วนที่ใช้กันมานานแล้ว อาทิ เครื่องห้ามล้อ (เบรก) หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ ผู้บริหารของ Mercedes ได้ออกมาตำหนิ Bosch ว่า “ไม่มีความเป็นมืออาชีพและไม่น่าเชื่อว่า เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้” โดยกล่าวกันว่า นาย Källenius ผู้บริหาร Mercedes และนาย Hartung ผู้บริหาร Bosch ต่างก็ต้องพูดคุยกันแทบจะทุกวัน เพราะปัญหาจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ประจักษ์ในขณะนี้เป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง (ที่ลอยพ้นน้ำ)” เท่านั้น

 

โดยปกติแล้ว ปัญหาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนมักจะแก้ไขหรือพูดคุยกันภายใน โดยนาย Jens Haas หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการของบริษัทให้คำปรึกษา Alix Partners เปิดเผยว่า “ปัจจุบันความตึงเครียดในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น ทำให้เรื่องนี้หลุดออกมา สู่สาธารณะมากขึ้น” แรงกดดันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ครอบคลุมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนบุคลากรที่เพิ่มขึ้น และยังจะต้องรับมือกับความต้องการสินค้าที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันรถยนต์ และชิ้นส่วนมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในอดีตการวางแผนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ออกมา ใช้เวลาวางแผนแค่ประมาณ 5-7 ปี แต่ในเวลานี้คู่แข่งรายใหม่จากโลกฝั่งตะวันออกกำลังเป็นผู้กำหนดความเร็วในการผลิตรถยนต์ คนวงในอธิบายว่า “BYD ใช้เวลาในการพัฒนารถยนต์ได้ภายใน 24 เดือน ในขณะที่ผู้ผลิตสัญชาติเยอรมันต้องใช้เวลามากกว่าถึง 2 เท่า” ผลลัพธ์ที่ตามมาทำให้ช่วงเวลาในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าลดลง ซึ่งจะหมายความว่า การวางแผนผลิตรถยนต์จะต้องประสบความสำเร็จในครั้งแรก เพราะระบบดังกล่าวไม่ยอมรับข้อผิดพลาดได้เลย

 

ปัจจุบันการร่วมงานระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตรถยนต์อย่างใกล้ชิดนั้น ถือเป็นสูตรสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนี ยกตัวอย่างเช่น Mercedes กับ Bosch ต่างก็ร่วมกันพัฒนาระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) จนกลายเป็นผู้สร้างมาตรฐานด้านดังกล่าวในวงการรถยนต์ และมีการใช้งานทั่วโลกต่อไป แต่เวลาของการพัฒนาร่วมกันเพื่อให้ได้มายังนวัตกรรมใหม่ที่ล้ำหน้าดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว ในเวลานี้โครงการสำคัญในอนาคต อย่างการร่วมกันพัฒนาระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติระหว่างทั้ง 2 บริษัท ก็ได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว ทุกวันนี้ Bosch ตั้งหน้าตั้งตาถกเถียงกันในเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ที่ผิดพลาด จนทำให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง Bosch (ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก) และ Mercedes เสียหายอย่างรุนแรงคงจะแก้ไขได้ยาก เหตุผลหลัก ๆ ของความขัดแย้งมาจาก เรื่องแบตเตอรี่ของ Bosch ที่มีขนาดเท่ากล่องใส่รองเท้า ซึ่งมีการนำชิ้นส่วนนี้ไปประกอบในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปของ Mercedes ใหม่เกือบทุกคัน แบตเตอรี่ดังกล่าวช่วยลดการสิ้นเปลืองการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสตาร์ท ขับเคลื่อน และเร่งความเร็ว ซึ่งหาก Mercedes ไม่มีระบบดังกล่าวเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลสมัยใหม่ของ Mercedes ก็ไม่สามารถละสายพานประกอบรถยนต์ได้เลย ผลลัพธ์ก็คือ ในปี 2023 บริษัท Mercedes ต้องยอมรับการสูญเสียยอดขายกว่า 100,000 คัน (โดยประมาณ) เพราะ Bosch ไม่สามารถส่งแบตเตอรี่ 48 โวลต์นี้ทำให้บริษัท Mercedes ได้ และถึงแม้ว่า Bosch จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายแรกในโลกที่สามารถพัฒนาแบตเตอรี่ 48 โวลต์ พร้อมระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics) แบบผสมสำหรับ Mercedes ขึ้น แต่มีปัญหามากมายในการพัฒนาให้โรงงานให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ฯ เชิงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความเร็วตามต้องการได้ นาย Hartung ผู้บริหาร Bosch บ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเรา และทำให้เราสูญเสียเงินในการแก้ไขปัญหานี้มหาศาล” ขณะนี้วิศวกรของ Bosch กว่า 100 คน ร่วมกันทำงานในการผลิตแบตเตอรี่ในโรงงานในเมือง Eisenach เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างหนัก นอกจากนี้ Bosch ยังสร้างสายการผลิตที่โรงงานอื่น ๆ อีกด้วย โดยวงในกล่าวว่า การลงทุนเพิ่มของ Bosch จะสามารถเริ่มใช้งานได้เป็นรูปธรรมก็ต้องใช้เวลากว่าครึ่งปี จากข้อมูลของ Bosch เปิดเผยว่า สถานการณ์กำลังดีขึ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ Mercedes ไม่พอใจกับปริมาณที่ Bosch จัดส่งให้ เพราะน้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา นอกจากนี้ เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา Mercedes ได้จัดตั้ง Taskforce เฉพาะกิจขึ้นมา และส่งผู้เชี่ยวชาญหลายสิบคนของบริษัทไปยังรัฐ Thüringen (ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของ Bosch) เป็นการชั่วคราว ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้บริหารของ Mercedes กล่าวว่า เรามาอยู่ที่นี่จน “เรารู้จักเครื่องจักรทุกเครื่องที่นี่เป็นอย่างดี”

 

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ระหว่างบริษัท BMW กับ Continental ก็มีความตึงเครียด โดยคนวงในกล่าวกันว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในศูนย์ BMW ในเมืองมิวนิกกำลังมองหาวิธีแก้ปัญหาอย่างหนัก โดย BMW ไม่ได้แสดงความเห็นต่อการระงับการพัฒนาสินค้าร่วมกันกับ Continental ซึ่งปัญหาหลัก ๆ เป็นผลมาจากการ ความไว้วางใจต่อกัน โดยในช่วงโควิด – 19 ซึ่งตอนนั้นเกิดการขาดแคลนชิปอย่างรุนแรง ผู้ผลิตรถยนต์ต่างตำหนิผู้ผลิตชิ้นส่วนของตน และเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทดำเนินต่อไปได้ ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นพันธมิตรกัน จะเข้าเจรจาซื้อ-ขายกับผู้ผลิตชิปโดยตรงเลย ซึ่งจากมุมของผู้ผลิตชิ้นส่วนพบว่า ผู้ผลิตรถยนต์หาผลประโยชน์จากการขาดแคลนดังกล่าว และเอื้อประโยชน์ให้ตนเองโดยหันไปขายรถยนต์รุ่นที่มีขนาดใหญ่และมีราคาแพงเป็นพิเศษ ผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายรู้สึกเบื่อหน่ายที่พวกเขาไม่ได้รับผลกำไรเพิ่มเติม ซึ่งผลที่ตามมาจากปัญหาในครั้งนี้ก็คือ ช่องว่างความค้างคาใจที่ยังคงมีอยู่ โดยนาย Haas ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์กล่าวว่า “นับตั้งแต่มีวิกฤตโควิด-19 สัดส่วนของกำไรของผู้ผลิตชิ้นส่วนลดลงกว่าของผู้ผลิตรถยนต์มาก” ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ อย่างเช่น Volkswagen, BMW และ Mercedes มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 7 – 10% ในระหว่างที่ Bosch, Continental และ ZF แผนกชิ้นส่วนรถยนต์ยอดจำหน่ายเพียงแค่คุ้มเฉพาะต้นทุนการผลิตเท่านั้น

 

เนื่องด้วยผู้ผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่มีสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตรถยนต์ ดังนั้น แม้ต้นทุนวัสดุ พลังงาน และบุคลากร ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังผู้ผลิตรถยนต์โดยอัตโนมัติเพราะพวกเขาติดสัญญาระยะยาวนั่นเอง เมื่อเกิดแรงกดดันด้านต้นทุนก็ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องเริ่มลดจำนวนพนักงานลง จากข้อมูลของตัวแทนสหภาพแรงงาน ระบุว่า เฉพาะใน ZF ในเยอรมนีเพียงอย่างเดียว มีตำแหน่งการจ้างงานกว่า 12,000 ตำแหน่ง ที่อยู่ในความเสี่ยง ซึ่งจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 4 ของการจ้างงานทั้งหมดของ ZF ในเยอรมนีเลยทีเดียว และเป็นไปได้ที่ ZF จะมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีก ในส่วนของบริษัท Bosch ได้เกิดการประท้วงใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ โดยพนักงานได้ออกมาประท้วงที่สำนักงานใหญ่ในเมือง Gerlingen ใกล้กับเมือง Stuttgart เพื่อต่อต้านนโยบายการลดตำแหน่งงานจำนวน 7,000 ตำแหน่ง ตามแผนของบริษัท เมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทคู่แข่งของ Bosch อย่าง Continental ก็ได้ตัดสินใจปลดพนักงานในแผนกรถยนต์เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการปลดพนักงานนอกเหนือจากโครงการประหยัดงบประมาณของบริษัทที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2019 เพิ่มเข้าไปอีก โดยการปลดพนักงานในครั้งนี้เป็นพนักงานฝ่ายการวิจัยและพัฒนาสินค้าจำนวน 1,750 ตำแหน่งทั่วโลก ในส่วนงานธุรการเป็นไปได้ที่จะมีการปลดพนักงานจำนวน 5,400 ตำแหน่ง ด้านนาย Frank Schwope ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์คาดว่า ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์มีตำแหน่งการจ้างงานทั้งสิ้น 270,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2030 ประมาณ 70,000 ตำแหน่งมีแนวโน้มที่จะถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในเยอรมนีได้ปลดพนักงานไปแล้วเกือบ 40,000 ตำแหน่ง

 

จาก Handelsblatt 31 พฤษภาคม 2567

jaJapanese