ญี่ปุ่นเริ่มใช้ธนบัตรชนิดราคา 1,000 เยน 5,000 เยน และ 10,000 เยน รุ่นใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2567 แทนรุ่นที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 คาดสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ธนบัตรรุ่นแรกของญี่ปุ่นเริ่มใช้ในปี 2428 (ค.ศ. 1885) จนถึงปัจจุบันรวม 53 รุ่น โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบทุกๆ 20 ปี เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งธนบัตรรุ่นล่าสุดนี้ พิมพ์โดยใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติเป็นครั้งแรกของโลก และใช้ตัวเลขอาราบิกที่มีขนาดใหญ่แทนตัวอักษรคันจิในการระบุมูลค่า เพื่อให้ผู้ที่ปัญหาทางการมองเห็น และนักท่องเที่ยวสามารถจำแนกชนิดธนบัตรได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าผลิต 7.5 พันล้านฉบับ ภายในเดือนมีนาคม 2568
บุคคลในธนบัตรรุ่นล่าสุดนี้ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ การศึกษา และการแพทย์ของญี่ปุ่น โดยชนิดราคา 10,000 เยน คือ Eiichi Shibusawa “บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น” และการธนาคารยุคใหม่ ชนิดราคา 5,000 เยน คือ Umeko Tsuda ผู้บุกเบิกการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับสตรี และราคา 1,000 เยน คือ Shibasaburo Kitasato “บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่” และผู้พัฒนาเซรั่มต้านพิษบาดทะยัก ส่วนด้านหลัง เป็นภาพสถานีโตเกียว ดอกวิสทีเรีย และภาพ The Great Wave off Kanagawa ที่มีชื่อเสียง
การเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรครั้งนี้ คาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนอกจากจะสร้างรายได้ทางตรง และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์ธนบัตรแล้ว ยังสร้างมูลค่าธุรกิจในการเปลี่ยนเครื่อง หรืออัพเกรดระบบของตู้ ATM ที่มีจำนวนกว่า 200,000 เครื่องทั่วประเทศ (ที่ธนาคาร และร้านสะดวกซื้อ) อีกกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเปลี่ยน หรืออัพเกรดตู้จำหน่ายสินค้า (Vending machine) ที่มีมากกว่า 4 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะรายย่อย เลือกที่จะไม่เปลี่ยน หรืออัพเกรดเครื่องเดิม หากแต่เปลี่ยนรูปแบบการรับชำระเงินเป็นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์/contactless เท่านั้น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงใช้เงินสดเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก (ปี 2565 จำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบมีมากถึง 18.59 พันล้านฉบับ) อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากการชำระเงินแบบ e-payment/contactless และการใช้เงินดิจิทัลกลายเป็นวิธีการทำธุรกรรมหลัก ธนบัตรรุ่นนี้อาจมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเป็นรุ่นสุดท้ายก็เป็นได้
ที่มา : https://www.nikkei.com , https://www.sanwagr.co.jp , https://www.nri.com/jp
と https://www.japantimes.co.jp