บริษัทมาเลเซียและจีน ร่วมลงนามในข้อตกลงสำหรับการลงทุนที่มีมูลค่า 2.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 ที่มา : Reuters

บริษัทมาเลเซียและจีนลงนามในข้อตกลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน สําหรับการลงทุน
ที่มีศักยภาพมูลค่า 2.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อร่วมมือกันในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน

กระทรวงการค้าของมาเลเซียระบุว่า การลงนามที่ได้เห็นเป็นสักขีพยาน รวมถึงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัท Genting Oil & Gas ของมาเลเซีย และบริษัท PT Layar Nusantara ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในอินโดนีเซีย ร่วมกับ บริษัท Wison Energies ของจีนเพื่อออกแบบและสร้างโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลอยน้ำแบบใกล้ชายฝั่งขนาด 1.2 ล้านตันต่อปีในอินโดนีเซีย

กระทรวงฯ ยังได้กล่าวในแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า บริษัท Genting Sanyen Malaysia และบริษัท SDIC Power Holdings จะร่วมกันพัฒนาและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซขนาด 1,685 เมกะวัตต์ ที่โจวซาน (Zhousan) ประเทศจีน ทั้งนี้ ยังมีการทำข้อตกลงอื่น ๆ ที่ครอบคลุมความร่วมมือในภาคธนาคารและการศึกษา

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

เมื่อบริษัทในมาเลเซียและจีนร่วมมือกันเพื่อลงนามข้อตกลงในโครงการดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งสามารถนำไปสู่การค้าทวิภาคีที่เพิ่มขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสอง และช่วยเพิ่มขีดความสามารถต่อการแข่งขันในตลาดโลกได้ในที่สุด

โครงการและการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาซึ่งเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูงบริษัทจีนอาจนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเทคโนโลยีของมาเลเซียส่งผลให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมมาเลเซียที่มีอยู่ได้ และเกิดโอกาสในการจ้างงาน ที่เพิ่มขึ้นให้กับชาวมาเลเซีย โดยการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ อาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การทำงานร่วมกันในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การศึกษาอาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ มาใช้ในประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไปอาจทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียมีความเสี่ยงต่อความผันผวนจากปัจจัยภายนอก อีกทั้ง การลงทุนในน้ำมันและก๊าซอาจก่อให้เกิดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่ได้มีนโยบายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น สคต.

แม้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างมาเลเซียและจีน อาจนำไปสู่ความต้องการการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าไทยไปยังมาเลเซียเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย อาจต้องเผชิญกับความท้าทาย หากบริษัทของมาเลเซียและจีนมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน การศึกษาตลาดมาเลเซียอย่างละเอียดจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจความต้องการของลูกค้าและคู่แข่งทางธุรกิจ การวิเคราะห์ธุรกิจและตลาด เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาด และได้รับการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและธุรกิจในไทยสามารถรับมือกับความท้ายเหล้านี้ และสามารถคว้าโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจในอนาคต

jaJapanese