การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งมหานครมุมไบ

เมืองมุมไบได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานตลอดช่วงหลายปีที่ผ่าน และเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้รับเชิญให้เป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีเปิดและวางศิลาฤกษ์ให้กับโครงการต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 29,400 ล้านรูปี ( 3,518.56 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่เปิดตัว คือ การสร้างอุโมงค์คู่ขนานสำหรับโครงการถนนเชื่อมไร้รอยต่อระหว่างเขต Goregaon และ Mulund (Goregaon Mulund Link Road :GMLR) ซึ่งเป็นโครงการมีมูลค่าสูงกว่า 6,300 ล้านรูปี (753.98 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ โครงการ GMLR มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อถนนจากทางหลวงสายตะวันตก (Western Express Highway) ที่เขต Goregaon ไปยังทางหลวงสายตะวันออก (Eastern Express Highway) ที่เขต Mulund โดยมีความยาวประมาณ 6.65 กิโลเมตร ทำให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจะช่วยเชื่อมต่อโดยตรงจากชานเมืองทางตะวันตกไปยังสนามบินแห่งใหม่ในเขต Navi Mumbai และเชื่อมกับทางด่วน Pune-Mumbai

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีโมดีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนเมืองมุมไบเป็นครั้งแรก และได้เน้นย้ำความสำคัญของเมืองมุมไบว่า “เป้าหมายของผมคือการเปลี่ยนแปลงรัฐมหาราษฏระให้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลกและสร้างเมืองมุมไบให้เป็นเมืองหลวง Fintech ระดับสากล”
2. การเปิดตัวโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน: นายกรัฐมนตรีโมดียังได้วางศิลาฤกษ์สำหรับการปรับปรุงลานขนส่ง Kalyan Yard และสถานี Gati Shakti Multi-Modal Cargo Terminal ที่แขวง Turbhe ในเขต Navi Mumbai ซึ่งการปรับปรุงลานขนส่งในครั้งนี้ จะทำให้สามารถบรรเทาการจราจรจากระยะทางไกลและการจราจรในเขตชุมชนเมืองได้ ส่งผลให้ลานขนส่งแห่งนี้สามารถรองรับการขนส่งทางรถไฟได้มากขึ้น ลดความแออัด และสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการจัดการ
3. สถานี Gati Shakti Multi-Modal Cargo Terminal ครอบคลุมพื้นที่กว่า 32,600 ตารางเมตร จะสร้างโอกาสการจ้างงานเพิ่มขึ้นให้กับคนในท้องถิ่น และเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งซีเมนต์และสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเปิดชานชาลาแห่งใหม่ที่สถานี Lokmanya Tilak Terminus และขยายสถานีชานชาลาหมายเลข 10 และ 11 ที่สถานี Chhatrapati Shivaji Maharaj Terminus ทั้งนี้ สถานีชานชาลาแห่งใหม่ที่ Lokmanya Tilak Terminus จะสามารถรองรับรถไฟที่มีขบวนยาวขึ้นได้ เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารมากขึ้น และสถานีได้ถูกสร้างขยายออกไปด้วยระยะทาง 382 เมตร สามารถรองรับรถไฟที่มีโบกี้สูงสุดถึง 24 โบกี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และนอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีโมดีได้เปิดตัวโครงการ Mukhyamantri Yuva KaryaPrashikshan Yojana ซึ่งเป็นโปรแกรมฝึกงาน internship แก่นักศึกษาจบใหม่ ด้วยงบประมาณกว่า 56,000 ล้านรูปี (670.21 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. ปรับปรุงการเชื่อมต่อการคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ: นอกจากโครงการ GMLR จะช่วยเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างทางหลวงสายตะวันตกและทางหลวงสายตะวันออกเข้าด้วยกันทำให้เกิดระบบการขนส่งสินค้าให้ราบรื่นยิ่งขึ้นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ถูกปรับปรุงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย ทั้งเป็นการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าภายในเมืองมุมไบและเมืองอื่นๆ ของอินเดีย และในส่วนของสนามบินแห่งใหม่ ในเขต Navi Mumbai เป็นการเชื่อมต่อโดยตรงกับสนามบินจะช่วยลดการบริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศให้ง่ายและเข้าถึงตลาดต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนถ่ายสินค้า: การพัฒนาสถานี Gati Shakti Multi-modal Cargo Terminal แห่งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถต่อการรองรับการขนส่งลำเลียงวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์และวัสดุอื่น ๆ ทำให้เกิดเป็นข้อดีแก่ผู้ส่งออกไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปอินเดีย
3. ความสามารถในการรองรับรถไฟและผู้โดยสารได้มากขึ้น: การขยายสถานี Lokmanya Tilak และสถานีปลายทาง Chhatrapati Shivaji Maharaj จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและรองรับสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าในภาพรวม
ข้อคิดเห็น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเมืองมุมไบผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ “Viksit Bharat 2047 หรือ “Developed India 2047” และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่มุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ คือนโยบาย Gati Shakti มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนส่งในประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดียให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมทั้งการเชื่อมโยงระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้ในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น ประโยชน์หลักของนโยบาย Gati Shakti ได้แก่ 1) สร้างโอกาสใหม่ในการลงทุน ผ่านการเชื่อมโยงระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภายในและต่างประเทศมากขึ้นในประเทศอินเดีย 2) สร้างงาน ผ่านโครงการการขนาดใหญ่ เป็นการสนับสนุนการจ้างงานในชุมชนท้องถิ่น และ 3) สร้างความมั่นคง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นช่วยเพิ่มความมั่นคงในการบริหารจัดการของรัฐบาลและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงข้อมูลเชิงสถิติการนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้างของอินเดียจากไทย ในปี 2566 ได้แก่ สินค้าทำจากปูนซีเมนต์ คอนกรีต ภายใต้พิกัด (HS Code 6810) คิดเป็นมูลค่า 84,003 เหรียญสหรัฐ อินเดียนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นลำดับที่ 4 ภายใต้กลุ่มสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก โครงการ GMLR และสถานี Gati Shakti Multi-Modal Cargo Terminal ได้ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งซีเมนต์และสินค้าอื่นๆ ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าเข้าสู่เมืองมุมไบและตลาดอินเดียได้ในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจในธุรกิจดังกล่าวควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและมาตรการที่ทางอินเดียอาจประกาศใช้ในอนาคตต่อไป

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งมหานครมุมไบ

 

ที่มา:1. www.financialexpress.com/business/infrastructure-pm-modi-launches-infra-projects-worth-rs-29400-crore-in-mumbai-a-look-at-key-projects-3552723/

 

jaJapanese