ความคืบหน้า โครงการทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต

  • Chinese state-owned China Road and Bridge Corp: CRBC หรือบริษัทถนนและสะพานแห่งประเทศจีน ได้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต เสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการรวบรวมรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอรัฐบาลกัมพูชาเพื่อตรวจสอบและประเมินผล
  • โครงการทางด่วนฯ นี้ เริ่มต้นที่วิน-วิน บูเลอวาร์ด ทางเหนือของกรุงพนมเปญ และสิ้นสุดที่ปอยเปต จังหวัดบันทายเมียนเจย โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจากพนมเปญถึงเสียมราฐ ซึ่งมีความยาวประมาณ 249 กม. มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนระยะที่ 2 จากเสียมราฐถึงปอยเปตมีความยาวประมาณ 151 กม. มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • นาย Phan Rim โฆษกกระทรวงโยธาธิการ เปิดเผยว่า ความสำเร็จที่สำคัญนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงการทางด่วนในกัมพูชาซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยสะท้อนถึงเจตจำนงอันแข็งแกร่งของรัฐบาลในการปรับปรุงสภาพการจราจร การขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกัมพูชา (เสียมราฐ) และชายแดนกัมพูชา – ไทย (ปอยเปต)
  • โครงการทางด่วน 3 โครงการในกัมพูชา ได้แก่ (1) พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว ลงทุนไปแล้วประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2) พนมเปญ-บาเวต ซึ่งติดกับเวียดนาม กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ลงทุนประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ (3) พนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังเสนอรัฐบาลกัมพูชาเพื่อตรวจสอบและประเมินผล

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. เสียมราฐ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ และปอยเปตเป็นการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาที่ยอดนิยมเช่นกัน ดังนั้น หากในอนาคตทางด่วนสายที่ 3 (พนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต) เสร็จสมบูรณ์จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากมีความปลอดภัย รวดเร็ว ประหยัดเวลาการเดินทาง และยังแบ่งปันการจราจรจากทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งทำให้กิจกรรมการขนส่งสินค้าจากไทยมายังกัมพูชามีความสะดวก มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
  2. ปัจจุบันจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท(ปอยเปต) ได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักต่างๆ ในฝั่งกัมพูชาเสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงฝั่งประเทศไทย และกำลังเปิดบริการชั่วคราว โดยสามารถรองรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า ประมาณวันละ 150-300 คัน และใช้เวลาการตรวจเช็คเอกสารเหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการฝั่งประเทศไทยเสร็จสิ้นได้ภายในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งหากเสร็จสิ้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริการได้มากขึ้น
  3. จากข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้กัมพูชาน่าดึงดูดการลงทุน การท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในด้านโลจิสติกส์ และไม่กี่ปีที่ผ่านมากัมพูชาได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาทางด่วน โครงการ ‘ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช’ และล่าสุดโครงการขุด ‘คลองฟูนัน-เตโช’ ซึ่งกัมพูชาทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขั้นสูงในปี ค.ศ. 2030 และรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2050

 

————————–

ที่มา: Khmer Times

กรกฎาคม 2567

jaJapanese