ธนาคารกลางของไนจีเรียได้อนุมัติเงิน 689.88 ล้านดอลลาร์ (903,950 ล้านไนรา ณ อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการที่ 1,309 ไนราต่อ 1 ดอลลาร์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2024) ให้แก่ชาวไนจีเรียสำหรับการนำเข้ารายการอาหารในไตรมาสแรกของปี 2024 นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณอาหารที่นำเข้ามายังไนจีเรียเพิ่มขึ้น 16.37 เปอร์เซ็นต์ภายในหกเดือนแรกของปี 2024
ตามข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดัชนีราคาเฉลี่ยของอาหารนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 806.0 จุดในเดือนมิถุนายน 2024 จาก 692.6 จุดในเดือนมกราคม 2024 และข้อมูลจากสำนักงานสถิติฯ เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของอาหารนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2024 เผยให้เห็นถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตกและต่อเนื่องโดยในเดือนมกราคม ไนจีเรียบันทึกอัตราเงินเฟ้อที่นำเข้าอาหารที่ 26.29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 29.81 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์โดยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 3.52 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในเดือนมีนาคมซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่นำเข้าอาหารพุ่งสูงถึง 32.89 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้น 3.08 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34.01 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 จากเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นถึงอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย ในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อสินค้าอาหารนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 34.83 บ่งชี้ถึงแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 จากเดือนเมษายนฯ และในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อสินค้าอาหารนำเข้าพุ่งสูงถึงร้อยละ 36.38 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 จากเดือนพฤษภาคมฯ แม้ว่าแนวโน้มโดยรวมจะสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก่อนที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายนฯ
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อัตราเงินเฟ้ออาหารนำเข้าพุ่งสูงถึง 36.38 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน 2024 จาก 34.83 เปอร์เซ็นต์ที่บันทึกไว้ในเดือนก่อนหน้าซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้น 1.55 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ค่าเงินไนราอ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางไนจีเรียรวมตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทุกกลุ่มเข้าด้วยกันโดยที่นโยบายรวมกลุ่มในเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งมุ่งหวังที่จะสร้างตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินไนราอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลกลางได้อนุมัติช่วงเวลาปลอดอากร 150 วัน เพื่อให้สามารถนำเข้าข้าวโพด ข้าวกล้อง และข้าวสาลีได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งทำให้ชาวไนจีเรียจำนวนมากต้องยากจน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรและภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าอาหารบางประเภทผ่านพรมแดนทางบกและทางทะเล
อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารพัฒนาแอฟริกา ดร. อคินวันมิ อเดสินา ได้แสดงความกังวลและความไม่สบายใจเกี่ยวกับแผนการนำเข้าอาหารของรัฐบาลกลางเนื่องจากไนจีเรียไม่สามารถพึ่งพาการนำเข้าอาหารเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาได้ และการใช้มาตรการดังกล่าวอาจทำลายนโยบายการเกษตรของประเทศได้ นอกจากนี้ ประธานสมาคมเกษตรกรไนจีเรียแห่งชาตินายคาเบียร์ อิบราฮิม กล่าวว่าการนำเข้าอาหารโดยไม่เสียภาษีจะส่งผลให้ผลกำไรที่ได้จากการผลิตข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลีในท้องถิ่นลดลงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนโดยให้เงินอุดหนุนปัจจัยการผลิต เช่น เครื่องจักร ปุ๋ย และสารเคมี เพื่อให้มีระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศ
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอาหารที่สูงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไนจีเรียกังวล โดยไนจีเรียมีภาคการเกษตรขนาดใหญ่ และมีการพยายามเพิ่มการผลิตในท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหาร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ความไม่ปลอดภัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในภาคส่วนนี้