TEMU แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรหมแดนน้องใหม่สัญชาติจีน ที่ขยายตลาดออกไปอย่างรวดเร็ว ถึง 49 ประเทศ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี และได้เปิดให้บริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยเป็นหมุดหมายที่ 3 ในการขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยมีการใช้งานสื่อออนไลน์และมีการยอมรับอีคอมเมิร์ซค่อนข้างสูง
โดยก่อนหน้าในเดือนกันยายน 2565 ได้ทำการเปิดตัวครั้งแรกในตลาดสหรัฐอเมริกา และสร้างเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก จากการมียอดดาวน์โหลดใช้งานขึ้นเป็นอันดับ 1 ในหมวดหมู่แอพพลิเคชันซื้อขายสินค้าออนไลน์ แซงหน้าเจ้าถิ่นอย่าง Amazon ภายในไม่กี่อาทิตย์หลังจากเปิดตัว และขึ้นแท่นเป็นแอพพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดใช้งานสูงสุดทั้งใน iOS และ Android แซงหน้า TikTok, Facebook และ Instagram
TEMU เป็นบริษัทลูกภายใต้ PDD Holdings บริษัทค้าปลีกสัญชาติจีน เจ้าของอีคอมเมิร์ซแบรนด์พี่ที่มีผู้ใช้งานในประเทศจีนถึง 750 ล้านแอคเคาท์อย่าง Pinduoduo(拼多多)โดยมุ่งเน้นการขายสินค้าไม่มีแบรนด์ มีสินค้าให้เลือกหลายหลาย ราคาถูก จัดส่งฟรี รวมถึงบริการคืนสินค้าได้ฟรีในระยะเวลาที่กำหนด
ขั้นตอนจัดการคำสั่งซื้อของTEMU
TEMU เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแบบครบวงจร กล่าวคือ การเปลี่ยนผู้ขายให้เป็น “ผู้จัดจำหน่าย” ซึ่งผู้จัดจำหน่ายไม่จำเป็นต้องดำเนินการร้านค้าเอง ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การจัดเก็บ และการขนส่ง ทุกขั้นตอนจะถูกจัดการโดย TEMU ผู้ขายเพียงแค่ผลิต หรือจัดหาสินค้าส่งไปยังคลังสินค้าในกว่างโจวของTEMUเท่านั้น
ถึงแม้ว่า TEMU เน้นขายสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ และเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง แต่ผู้ขายส่วนใหญ่ในแพลตฟอร์มเป็นผู้ค้าปลีก หรือโรงงานรายใหญ่ที่ได้ฐานจากบริษัทพี่อย่าง Pinduoduo ในจีน ทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าในราคาที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งการที่สินค้าบนแพลตฟอร์ม TEMU มีราคาถูกขนาดนี้ได้เนื่องจากการซื้อสินค้าผ่าน TEMU เป็นการสั่งซื้อแบบกลุ่ม (Group Buying) โดยเมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าแล้วก็จะรวบรวมคำสั่งซื้อประเภทเดียวกันจากผู้ซื้อท่านอื่น และทำการส่งคำสั่งซื้อไปยังผู้ขายโดยตรง เพราะเมื่อรวมกันสั่งซื้อแล้วจะทำให้ได้สินค้าที่ต่ำกว่าหน้าตลาด อาจทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าล่าช้าไปบ้าง แต่ก็จะได้สินค้าในราคาถูกและยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งมากกว่าการสั่งซื้อรายบุคคลอีกด้วย
TEMU ไม่ได้เป็น“น้องใหม่”ในตลาดแข่งขันอีคอมเมิร์ซ
หากพูดถึง TEMU ในการแข่งขันตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรหมแดน ก็อาจจะมองว่านี่คือน้องใหม่ไฟแรงในวงการ หากแต่จริงๆแล้ว TEMU นั้นเก๋าเกมเกินกว่าที่คิดมาก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า TEMU เป็นบริษัทในเครือPDD holdings บริษัทแม่ของ Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในจีน ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 10 ร้านค้าขายปลีกออนไลน์ของโลก และเป็นร้านค้าขายปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ดังนั้นการมีฐานเครือข่ายจากบริษัทพี่อย่าง Pinduoduo ช่วยให้ TEMU มีพื้นฐานในระบบจัดการหลังบ้าน และระบบการจัดการคลังสินค้าที่ดี อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการโลจิสติกส์และการบริการลูกค้า ทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด หรือแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป และยังสามารถขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศต่างๆได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดย Pinduoduo และ TEMU เป็นแพลตฟอร์มที่มีกลยุทธ์การขายคล้ายๆกัน แตกต่างกันที่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนี้
Pinduoduoที่มา https://images.app.goo.gl/7FNTWUmn2JJtjJhM7 |
TEMUที่มา https://images.app.goo.gl/LRyyV5Hp5LatTpf5A |
การตลาด: เน้นการใช้โซเชียลมีเดียสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแบรนด์ด้วยการบอกต่อกันในหมู่ผู้บริโภค (Viral Marketing Tactic) | การตลาด : เน้นไปที่การสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ผ่านการโฆษณาแบบดั้งเดิม และแคมเปญโฆษณาที่จับมือร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง |
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย : กลุ่มผู้ซื้อในประเทศจีน | กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: กลุ่มผู้ซื้อในต่างประเทศ |
ที่มา https://daoinsights.com/wp-content/uploads/2020/08/pinduoduo-bargain-1024×735.jpg | ที่มา https://youtu.be/PTPibi7M_9M?si=dMbRc4AAOX44ex09 |
ใครใช้ TEMU บ้าง?
อ้างอิงจากผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา GenX และ Baby Boomers ซื้อสินค้าบ่อยกว่าและใช้จ่ายมากกว่าผู้ซื้อที่อายุน้อยกว่า ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย Attain ในชิคาโก ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากบัตรเครดิตของผู้บริโภค 6.5 ล้านคน พบว่า Baby Boomers ที่มีอายุ 59 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ โดยมีการสั่งซื้อประมาณ 6 ครั้งในช่วง 12 เดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าผู้ซื้อ GenZ ที่มีอายุ 18 ถึง 26 ปี ถึงสองเท่า
年齢 | ยอดการทำธุรกรรมโดยเฉลี่ย
(ดอลลาร์สหรัฐ) |
จำนวนครั้งที่ทำธุรกรรม |
18 – 26 ปี (GenZ) | 26 | 2.6 |
27 – 42 ปี (GenY) | 28 | 3.3 |
43 – 58 ปี (GenX) | 28 | 4.5 |
59 ปีขึ้นไป (Boomers) | 27 | 5.6 |
ที่มา Bloomberg
TEMU กับตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย
ณ ขณะนี้ TEMU มีการปรับปรุงแอพพลิเคชันให้รองรับภาษาไทย และสามารถผูกบัญชีเพื่อเข้าสู่ระบบผ่าน บัญชี Google, Facebook, Apple ID และ X และมีการจัดโปรโมชันดึงดูดผู้ใช้งาน โดยเสนอส่วนลดสูงสุดถึง 90% รวมถึงคูปองส่วนลดมูลค่า 70 บาทจากการชวนเพื่อนเข้ามาใช้งาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายจัดส่งฟรี การรับประกันราคาสินค้า 30 วัน และการคืนสินค้าและเปลี่ยนฟรีภายใน 90 วัน
ที่มา temu.com
อย่างไรก็ตามการสร้างพื้นที่ในตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยก็ยังเป็นความท้าทายสำหรับ TEMU ข้อมูลจาก Momentum Asia ระบุว่า ในปี 2023 ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมี Shopee, Lazada และTiktok เป็นผู้ครองตลาด โดยทั้งสามเจ้านี้มีส่วนแบ่งตลาด 49%, 30%, 21% ตามลำดับ และทั้งสามแพลตฟอร์มก็มีผู้ขายชาวจีนภายใต้แพลตฟอร์มอยู่จำนวนมาก ดังนั้นพื้นที่ที่ TEMU สามารถเจาะเข้ามาทำตลาดได้นั้นยังมีพื้นที่ไม่มาก
อีกทั้งการที่ TEMU จะยืนหยัดในประเทศไทยได้ก็ไม่อาจเป็นตัวตัดสินว่า จะขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังหรือไม่ เนื่องจากหลังจากการเปิดตัวแอพพลิเคชันไปในปี 2023 กลับสร้างความได้เปรียบและส่วนแบ่งในตลาดมาเลเซียและฟิลิปปินส์ได้ไม่สูงนัก ยกตัวอย่าง ในช่วงการเปิดตัวแอพพลิเคชันในมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ TEMU ก็จัดโปรโมชันลดสูงสุด 90% เช่นกัน แต่หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมก็ไม่สามารถรักษาลูกค้าเอาไว้ได้มากนัก
ถึงแม้ว่า TEMU จะมีข้อดีที่ราคาสินค้าถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป แต่เมื่อสินค้ามีราคาต่ำมาก ปัญหาที่ตามมาคือคุณภาพของสินค้าที่รับประกันได้ยาก เนื่องจากผู้ขายเองก็ต้องการกำไร หากเน้นขายสินค้าราคาต่ำ สิ่งที่ถูกบีบลงเพื่อลดต้นทุนก็คือคุณภาพของสินค้า อีกทั้งจะทำให้เกิดสงครามด้านราคาระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้พื้นที่การดำเนินธุรกิจลดลง ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย ทำให้รายได้ธุรกิจSMEsใประเทศลดลง
ภาคสมาคมของไทยให้ความเห็น
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ชี้ว่า คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย แสดงความเห็นถึงการเข้าตลาดไทยของ TEMU ว่าไม่อยากให้ผู้ประกอบการไทย ตื่นตระหนก ในมุมกลับชี้ให้เห็นว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเพื่อขายสินค้าในต่างประเทศ ผ่านการทำอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้ ถึงแม้ปัจจุบัน แพลตฟอร์มยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถนำสินค้าไปขายบน TEMU ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี “ทางสมาคมกำลังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนบริษัทในฮ่องกงและจีนง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถค้าขายข้ามพรมแดนได้มากขึ้นด้วย”
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: ในปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเข้ามาของสินค้าจีนที่ในแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ของไทย รวมถึง TEMU จะส่งผลกระทบกับกับยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจSMEs แต่อีกมุมหนึ่งเนื่องจากราคาสินค้าที่ต่ำมาก คุณภาพของสินค้าเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะผู้ประกอบการจีนเองก็ยังคงต้องการกำไรจากการขายสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยควรเน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพ สร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ น่าจดจำ และตอบสนองความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงผู้บริโภคเอง ต้องเตรียมรับมือ ปรับตัว และพร้อมจะคว้าโอกาสกับตลาดอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์มในทุกสัญชาติที่คาดการณ์ว่าจะยังคงมีการขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา
https://www.globalsources.com/knowledge/pinduoduo-vs-temu/
https://www.bangkokpost.com/business/general/2840876/thai-pm-srettha-allays-concerns-over-chinese-retailer-temu
https://www.prachachat.net/ict/news-1622093
https://new.qq.com/rain/a/20240802A07Y7H00
https://finance.sina.com.cn/jjxw/2024-07-31/doc-incfzpyw6943685.shtml
https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-01-23/temu-s-most-loyal-shoppers-are-actually-boomers-and-gen-xers
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
8 สิงหาคม 2567