ภาพรวมอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าตลาดอาหารสุนัขในสหรัฐอเมริกาปี 2567 มีมูลค่า 42,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจาก 38,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นร้อยละ 8.4 และคาดว่ามูลค่าตลาดอาหารสุนัขปี 2568 จะมีมูลค่า 44,584.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 5.9 โดยผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
มูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขในตลาดสหรัฐฯ (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สำหรับช่องทางการจำหน่ายของอุตสาหกรรมอาหารสุนัขในสหรัฐฯ ปี 2567 เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางการค้าปลีกร้อยละ 98 และเป็นการขายผ่านคลินิกร้อยละ 2 สำหรับช่องทางการค้าปลีกแบ่งเป็นการขายผ่านช่องทางออฟไลน์ร้อยละ 65 และเป็นช่องทางออนไลน์ร้อยละ 33 ทั้งนี้ สำหรับช่องทางการจำหน่ายค้าปลีกแบบออฟไลน์ ผู้เลี้ยงสุนัขชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซื้อจากไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และซุปเปอร์มาร์เก็ตรวมร้อยละ 30.3
สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารสุนัขในสหรัฐฯ ปี 2567
ตลาดอาหารสุนัขระดับพรีเมี่ยม
ถึงแม้ว่าอาหารสุนัขโดยรวมจะมีปริมาณการค้าปลีกเติบโตชะลอตัวลงในปี 2567 แต่อาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยมกลับมีปริมาณการค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สินค้ามีการปรับราคาสูงขึ้นแต่อาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยมทั้งชนิดแห้งและชนิดเปียกกลับมีสัดส่วนทางการค้าปลีกมากที่สุด ทั้งกลุ่มอาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยมสำหรับสุนัขทั่วไป (Non-therapeutic) และกลุ่มอาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยมที่ผลิตมาเพื่อตอบสนองให้กับสุนัขที่มีความต้องการเฉพาะ (Therapeutic) เช่น สุนัขที่เป็นโรคไต หรือสุนัขที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งเสริมทางการขายและบทบาทของโซเซียลมีเดียมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพส่วนผสมของอาหารสุนัข
ผู้เลี้ยงสุนัขในสหรัฐฯ ใส่ใจเรื่องส่วนผสมของอาหารสุนัขระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนผสมอาหารสุนัขจากผู้ผลิตรายใหญ่มักมีความไม่ชัดเจน ทำให้แบรนด์เล็กๆ ที่เน้นการทำการตลาดโดยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะจูงใจผู้บริโภคชาวอเมริกันได้มากกว่า นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสุนัขในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้สูง จึงเป็นโอกาสของอาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยม
อาหารสุนัขระดับราคาประหยัดมีการผลิตน้อยลง
อาหารสุนัขระดับราคาประหยัดมีการเติบโตของปริมาณการค้าปลีกน้อยที่สุด ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะยังดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยในปี 2565 และปี 2566 อาหารสุนัขชนิดเปียกแบบราคาประหยัดมีปริมาณการค้าปลีกลดลงมากกว่าร้อย 10 ส่วนหนึ่งมาจากผู้ผลิตอาหารสุนัขรายใหญ่เลิกผลิตสินค้าระดับราคาประหยัดและลงทุนในสินค้าระดับราคาพรีเมี่ยมมากขึ้น
อุตสาหกรรมอาหารสุนัขได้กดดันให้ผู้เลี้ยงสุนัขหันไปให้สินค้าที่มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและตัวเลือกอาหารสุนัขระดับราคาประหยัดมีจำกัดทำให้ผู้เลี้ยงสุนัขหันไปซื้อสินค้าระดับราคาปานกลางแทน แม้ว่าผู้บริโภคมีงบประมาณจำกัดแต่ตัวเลือกอาหารสุนัขที่น้อยลงทำให้ผู้เลี้ยงสุนัขมองว่าอาหารสุนัขระดับราคาปานกลางดูคุ้มค่ากว่าอาหารสุนัขสินค้าตราห้างหรือราคาประหยัด อาหารสุนัขระดับราคาประหยัดและระดับราคาปานกลางจึงมักถูกรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน สำหรับสินค้าระดับราคาพรีเมี่ยมก็มีแนวโน้มยกระดับไปสู่ซุปเปอร์พรีเมี่ยมมากขึ้น
กลยุทธ์ของการเป็นสินค้าที่สามารถเป็นทั้งขนมและอาหารหลักได้
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขแช่แข็งจนไปถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องและแช่เย็นต่างพยายามใช้กลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถเป็นได้ทั้งอาหารมื้อหลัก ขนมหรืออาหารเสริมสำหรับสุนัขได้ด้วย ผู้เลี้ยงสุนัขที่ขาดความรู้เรื่องโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยงและมีกิจวัตรที่มีความไม่แน่นอนมักมองหาอาหารสุนัขที่พกพาง่ายในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่อาหารสุนัขระดับพรีเมี่ยมที่มีโภชนาการสูงมักอยู่ในรูปแบบแช่แข็งและแช่เย็น ซึ่งผู้ผลิตได้พยายามผลิตอาหารสุนัขระดับพรีเมี่ยมให้สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้มากขึ้น เพื่อจูงใจผู้เลี้ยงสุนัขที่กังวลว่าอาหารสุนัขแช่เย็นมักเน่าเสียง่าย และสามารถให้อาหารสุนัขได้ทันทีโดยไม่ต้องปรุง
อย่างไรก็ดี สินค้าระดับพรีเมี่ยมที่สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิห้องและพร้อมให้สุนัขรับประทานได้ทันทีมักมีราคาต่อมื้อสูง ผู้ผลิตจึงได้พยายามจูงใจให้ผู้เลี้ยงสุนัขซื้อสินค้าบ่อยครั้งขึ้นจากที่เป็นเพียงอาหารสุนัขเพื่อใช้ในกรณีพิเศษ เช่น เป็นอาหารเสริมหรืออาหารสำหรับการเดินทางไกล เพื่อความสะดวกในการให้อาหารสุนัขโดยไม่ต้องปรุง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่สูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตพยายามจูงใจในเรื่องของความสะดวกสบายและการประหยัดเวลา
แนวโน้มและโอกาส
สินค้าระดับพรีเมี่ยมจะเผชิญกับความท้าทายในเรื่องปริมาณการขาย
อาหารสุนัขในตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าปกติ เนื่องจากการปรับราคาได้สร้างความท้าทายให้กับการเติบโตของปริมาณการขาย ผู้เลี้ยงสุนัขนิยมใช้ใช้สินค้าระดับราคาพรีเมี่ยมมากขึ้นจึงทำให้สินค้าระดับราคาพรีเมี่ยมกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ผู้เลี้ยงสัตว์คาดหวัง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีสัตว์เลี้ยงที่ถูกละทิ้งมากขึ้น ทำให้เจ้าของใหม่มักจะรับเลี้ยงสุนัขจากสถานรับเลี้ยงสุนัขมากกว่าหาซื้อสุนัขตัวใหม่ และมีแนวโน้มต่ำว่าจะหาสุนัขตัวใหม่มาทดแทนหากสุนัขเดิมที่ตายไป จึงส่งผลให้ปริมาณการบริโภคของอาหารสุนัขโดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
อาหารสุนัขแช่เย็นระดับพรีเมี่ยมที่ผู้ผลิตส่งมอบให้กับผู้บริโภคโดยตรง (Direct-to-customer: DTC) เช่น The Farmer’s Dog เป็นต้น นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องการจัดเก็บสินค้าและส่งผลต่อการวางกลยุทธ์ด้านราคา แม้ว่าอาหารสุนัขประเภท DTC ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ผู้ผลิตอาหารสุนัขประเภท DTC ที่มีเงินทุนต่ำกลับต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสูง ประกอบกับการผลิตอาหารสุนัขให้ตรงความต้องการเฉพาะของสุนัขนั้น ทำให้ราคาอาหารสุนัขมีความไม่แน่นอนซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ผลิต เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและลูกค้ารายใหม่ก็หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายกับสินค้าที่มีราคาไม่ชัดเจน
การเติบโตของอาหารสุนัขสำหรับสุนัขสูงอายุ
การมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่จะเติบโตอย่างช้าๆ เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจและกิจวัตรประจำวันที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับตลาดอาหารสุนัขส่วนใหญ่เป็นสูตรอาหารสำหรับสุนัขโตเต็มวัยและสุนัขสำหรับทุกวัย ทำให้โภชนาการสำหรับสุนัขสูงอายุมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการของอาหารสำหรับสุนัขสูงอายุเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมหรือขนมสุนัข เจ้าของสัตว์เลี้ยงยุคใหม่ยินดีที่จะใช้จ่ายกับอาหารเสริมที่มีส่วนผสมเพื่อชะลอวัยสัตว์เลี้ยงและยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับสุนัขสูงวัย จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตในการขยายสินค้าไปสู่อาหารสำหรับสุนัขสูงอายุ
นอกจากนี้ ความต้องการของอาหารสำหรับสุนัขสูงอายุยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอาหารสดสำหรับสุนัข เจ้าของที่มีสุนัขสูงอายุพยายามหาอาหารชนิดเปียกที่ง่ายต่อการเคี้ยวและจูงใจให้สุนัขสูงอายุที่ไม่ค่อยอยากอาหาร อย่างไรก็ดี สุนัขสูงอายุบางตัวมีปัญหาเรื่องไขมันเมื่ออายุมากขึ้นทำให้อาหารสดอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับสุนัขบางตัว จึงเริ่มมีความกังวลต่อแบรนด์เล็กๆ ที่ปรุงอาหารสดแบบโฮมเมดว่าอาจจะส่งผลเสียต่อสุนัขได้ ในขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ ได้ร่วมมือกับสัตวแพทย์และนักโภชนาการในการคิดค้นสูตรอาหารสุนัข แนวโน้มดังกล่าวทำให้เห็นความสำคัญของสูตรอาหารสุนัขที่จะต้องมีความชัดเจนและโภชนาการที่ควรแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัยของสุนัข
ความท้าทายในการควบคุมน้ำหนักของสุนัข
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาความต้องการอาหารสำหรับสุนัขที่ต้องควบคุมน้ำหนักมีแนวโน้มมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารสุนัขไม่ใช่แค่การเปิดกระป๋องหรือตักอาหารเม็ดอีกต่อไปแต่เป็นการใส่ใจในเรื่องของอาหารว่าง การเติบโตของอาหารเสริม ไปจนถึงการต่อต้านอาหารสุนัขแปรรูป
ผู้เลี้ยงสุนัขรู้สึกผิดที่ไม่ได้ใช้เวลากับสุนัขของตัวเองเท่าที่ควร จึงต้องการหาอาหารที่มีโภชนาการสูงเพื่อชดเชยกับความรู้สึกผิดดังกล่าว ทำให้ผงอาหารเสริม อาหารสุนัขแช่แข็ง และขนมสุนัขกลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับสุนัข
แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้ทำให้สุนัขมีการบริโภคแคลลอรี่มากกว่าที่จำเป็น ผู้ผลิตได้วางตำแหน่งทางการตลาดของขนมสุนัขเป็นอาหารว่างมากกว่ารางวัลสำหรับสุนัข ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เจ้าของและสุนัขจะได้ใช้เวลาร่วมกัน และแนวโน้มดังกล่าวทำให้สุนัขเกิดปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น โรคอ้วน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางส่วนได้ใช้คำกล่าวอ้าง เช่น โปรตีนสูง แคลลอรี่ต่ำ เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคไม่ทันตระหนักในเรื่องการควบคุมอาหารของสุนัข
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
อุตสาหกรรมอาหารสุนัขในสหรัฐฯ มีความใส่ใจในเรื่องโภชนาการมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยง จึงทำให้อาหารสุนัขระดับราคาพรีเมี่ยมเป็นที่นิยมมากขึ้นหรือจัดหาอาหารสุนัขให้เหมาะสมกับช่วงวัยมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยอาจพิจารณาอาหารสุนัขที่มีลักษณะ
พรีเมี่ยมมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาสูตรอาหารสุนัขให้เหมาะสมตามความต้องการเฉพาะที่สนับสนุนโดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ข้อมูลอ้างอิง: Euromonitor