ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ฐานไม่ลงโทษประเทศที่ไม่คุ้มครองสัตว์ทะเล

เนื้อหาสาระข่าว: สามองค์กรคุ้มครองสัตว์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ฐานละเลยการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล (Marine Mammal Protection Act – MMPA) ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยกลุ่มดังกล่าวต้องการให้ศาลออกคำสั่งบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามกฎเพื่อห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศที่มีการประมงที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำนวนมากเกินไป

องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Institute), ศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Center for Biological Diversity) และสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council – NRDC) ร่วมกันยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กรมการประมงแห่งชาติสหรัฐฯ (NMFS) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ พร้อมทั้งบรรดาผู้แทนของของหน่วยงานเหล่านี้

MMPA เป็นนโยบายระดับชาติที่มุ่งลดการจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลพลอยจับ (bycatch) ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมประมงพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยการกำหนดให้ประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลมายังสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับที่กำหนดให้กับการประมงของสหรัฐฯ

“รัฐบาลสหรัฐฯ ละเมิดกฎหมาย MMPA มาอย่างยาวนานเกินไป จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลทั่วโลก” เคท โอคอนเนลล์ (Kate O’Connell) ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุโสของโปรแกรมสัตว์ป่าในทะเลขององค์กรสวัสดิภาพสัตว์กล่าว “มันเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษหลังจากที่ MMPA ถูกบังคับใช้ แต่ชาวอเมริกันยังคงซื้ออาหารทะเลโดยไม่รับรู้ถึงภัยคุกคามที่มีต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น วาฬ โลมา สิงโตทะเลหรือแมวน้ำ ถึงเวลาที่จะต้องหยุดได้แล้ว”

มีการประมาณการว่าสหรัฐฯ นำเข้าอาหารทะเลราวร้อยละ 85 จากกว่า 130 ประเทศ รวมถึงแคนาดา อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเม็กซิโก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยซื้อสินค้ามูลค่ากว่า 21 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือร้อยละ 15 ของมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในตลาดโลก

ตามข้อมูลของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลกว่า 650,000 ตัว เช่น โลมา วาฬ แมวน้ำ และสัตว์อื่นๆ เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บรุนแรงใกล้กับกิจกรรมประมงที่มุ่งเน้นการจับสัตว์ที่เป็นอาหารยอดนิยม อาทิ กระโทงดาบ ทูน่า และหอยต่างๆ

“ชาวอเมริกันชอบอาหารทะเลที่ไม่ก่ออันตรายต่อวาฬและโลมา และชาวประมงสหรัฐฯ ภาคภูมิใจที่ได้ส่งอาหารทะเลที่ทำการประมงอย่างยั่งยืนมากกว่ามายังโต๊ะอาหารของเรา” แซค สมิธ (Zak Smith) ผู้อำนวยการ สำนักงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโลก ของ NRDC กล่าว “แต่รัฐบาลของเรายังคงปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาเร่ขายอาหารทะเลที่ได้มาจากการทำการประมงด้วยการฆ่าวาฬและโลมาในตลาดสหรัฐฯ ได้ ในขณะที่ผู้เสียภาษีและชาวประมงของเราต้องใช้ทุ่มเทเงินทุนมหาศาลในประเทศเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

ข้อบังคับตามที่ MMPA บัญญัติไว้ กำหนดให้การประมงในต่างประเทศต้องพิสูจน์ว่ามีวิธีการป้องกันการจับสัตว์นอกเป้าหมายที่เทียบเท่ากับมาตรฐานของสหรัฐฯ กฎนี้ได้ให้ระยะเวลาแก่ประเทศต่างๆ 5 ปี เพื่อสำรวจจำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน่านน้ำ ประเมินจำนวนการจับสัตว์ทะเลพลอยจับและกำหนดมาตรการเพื่อลดการจับสัตว์น้ำพลอยจับ

กรมการประมงแห่งชาติสหรัฐฯ (NMFS) จะต้องพิจารณาว่าการประมงของประเทศต่างๆ นั้นเป็นไปตามมาตรฐานของสหรัฐฯ หรือไม่ หลังสิ้นสุดระยะเวลาที่ผ่อนผันให้ดังกล่าว และรัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะห้ามนำเข้าจากแหล่งที่ทำการประมงผิดไปจากข้อบังคับดังกล่าว

ที่ผ่านมามีเหตุให้ต้องชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวหลายครั้งแล้ว เหตุแรกก็เพราะมีการระบาดของโควิด-19 และยังมีเหตุอื่นให้ต้องชะลอการบังคับใช้ต่อไปอีกสองครัง ทำให้ยังต้องชะลอการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรตามข้อบังคับดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2569

“MMPA กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศที่เข้มงวดในการป้องกันการจับสัตว์นอกเป้าหมาย แต่สหรัฐฯ กลับละเลยมาตรฐานเหล่านี้และทอดทิ้งสัตว์มหาสมุทรที่เป็นสัญลักษณ์เหล่านี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว” คริสเท็น มอนเซลล์ (Kristen Monsell) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายทางทะเลแห่งศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพกล่าว “วาฬและโลมาที่ถูกจับในอวนจับปลาทั่วโลกไม่อาจทนรอต่อไปได้แล้ว ถึงเวลาที่รัฐบาลกลางจะต้องเหยาะแหยะ และเริ่มบังคับใช้มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศที่ก่อภัยร้ายต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมากเกินไปเสียที”

บทวิเคราะห์: ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตปลาซาร์ดีน ทูนาและแมคเคอเรลบรรจุกระป๋องป้อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยปีละประมาณ 300-600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเวียดนามและเอกวาดอร์ผลัดกันเป็นรองแชมป์ หลังจีนเริ่มชะลอลงและหลุดไปจากแหล่งผลิต 10 ลำดับแรกไปนับจากปี 2019 เป็นต้นมา

ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ฐานไม่ลงโทษประเทศที่ไม่คุ้มครองสัตว์ทะเล

NRDC ร่วมกับองค์กรดังกล่าวและหน่วยงานสอบสวนสิ่งแวดล้อม (EIA) มีรายงานผลการศึกษาถึงผลกระทบจากการประมงทั่วโลกที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลต้องตายหรือบาดเจ็บสาหัสถึงกว่า 650,000 ตัวทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประมงที่มีสัตว์เป้าหมายเป็นสัตว์ทะเลชนิดอื่นอาทิ กระโทงดาบ และทูนา โดยใช้วิธีทำการประมงที่ขาดความรับผิดชอบแล้วไปทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ทีละมากๆ ได้ต้องติดร่างแหเข้ามาด้วยแล้วบาดเจ็บรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมาก โดยในสหรัฐฯ เองนั้นได้มีกฎหมาย MMPA ออกมาตั้งแต่ปี 1972 ซึ่งมีเงื่อนไขบังคับให้ประเทศคู่ค้าที่จะส่งออกอาหารทะเลมาจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ จะต้องทำการประมงตามมาตรฐานที่สหรัฐฯกำหนดโดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ แต่ก็ไม่เคยนำกฎหมายนี้มาบังคับใช้กับการประมงในประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าอย่างเคร่งครัดเลย และแล้วในปี 2016 สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการบังคับให้ประเทศคู่ค้าที่ส่งออกอาหารทะเลมายังตลาดสหรัฐฯ จะต้องแสดงให้เห็นได้ว่าการประมงในประเทศของตนมีมาตรฐานสูงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ โดยได้นำเอาข้อบังคับใน MMPA มาใช้กำกับอย่างเคร่งครัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 เป็นต้นไป และองค์กรเหล่านี้ก็ได้เริ่มทำการสำรวจมาตรฐานการทำการประมงของ 11 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แคนาดา เม็กซิโกและ เอกวาดอร์ ซึ่งก็พบว่าไม่มีประเทศใดเลยที่ทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยจะคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากประเทศที่ไม่อาจทำการประมงตามมาตรฐานเดียวกันกับสหรัฐฯ ได้

ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ฐานไม่ลงโทษประเทศที่ไม่คุ้มครองสัตว์ทะเล

ด้วยสถานะของสหรัฐฯ ในฐานะตลาดที่มีการนำเข้าอาหารทะเลมากที่สุดในโลกโดยมีสัดส่วนระหว่างร้อยละ 70 ถึง 85 ของอาหารทะเลในตลาดโลก รวมปีละกว่า 6 พันล้านปอนด์และมีมูลค่ารวมถึง 21 พันล้านเหรียญสหรัฐ การกำหนดมาตรฐานเช่นนี้จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการประมงทั่วโลกได้โดยจะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเหล่านี้ได้

ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ฐานไม่ลงโทษประเทศที่ไม่คุ้มครองสัตว์ทะเล

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับข้อเรียกร้องให้จัดกระบวนการตามมาตรฐานดังกล่าวจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2017 และมีช่วงเวลาที่สหรัฐฯผ่อนผันให้นาน 5 ปีจนถึงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2023

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) ซึ่งประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation)  กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development)  กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management)  กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement) และกลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (communication) รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมโดยหารือร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อรองรับกฎระเบียบ MMPA ที่จะประกาศบังคับใช้ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้ใช้ดำเนินการโครงการเร่งด่วนจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อรองรับ Marine Mammal Protection Act  ของประเทศสหรัฐอเมริกา (2) โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (3) โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และ (4) โครงการการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน ทั้งนี้ นอกจากการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้กลไกต่างๆ แล้ว กรมประมงยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง และโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของการทำประมงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมและเป็นไปอย่างยั่งยืน

เช่นที่เคยเป็นมา กฎหมาย MMPA ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของสหรัฐอเมริกา (MMPA) ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย หากประเทศไทยไม่ยอมปรับตัวตามเงื่อนไขเหล่านั้น ซึ่งกรมประมงในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องรับบทบาทสำคัญในการนำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและตรวจสอบกระบวนการในการทำการประมงของไทย เพื่อให้จะยังคงส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังตลาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ได้ต่อไป โดยที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 3 คณะอนุกรรมการเพื่อรับผิดชอบในแง่มุมต่างๆ กันไป ได้แก่ (1) การป้องกัน แก้ไขปัญหาและประสานความร่วมมือด้านผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล (2) คณะนักวิชาการเพื่อสนับสนุนข้อมูลและแก้ปัญหาผลกระทบต่อสัตว์เหล่านี้ และ (3) คณะผู้เจรจาด้านผลกระทบจากการประมงต่อสัตว์เหล่านี้ โดยได้ศึกษาและวางมาตรการต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังต้องมีการออกกฎหมายหลายฉบับ โดยข้อมูลล่าสุดที่รัฐบาลไทยได้แถลงไว้ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2021 ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้น ซึ่งจากรายงานของ NRDC เอง ล่าสุดก็จับตาประเทศอื่นๆ 11 ประเทศดังได้กล่าวไว้แล้ว และไม่มีประเทศไทย แต่เชื่อได้ว่าหลังการฟ้องร้องครั้งนี้ การผ่อนผันต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยมีให้กับประเทศคู่ค้าที่ยังไม่พร้อมจริงๆ จะหยุดลง และมีแรงกดดันต่อประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้แน่นอน

*********************************************************

ที่มา: Food Ingredients 1st
主題: “US government sued over failure to enforce marine mammal protection in seafood imports”
โดย: บรรณาธิการ
สคต. ไมอามี /วันที่ 12 สิงหาคม 2567
jaJapanese