กระแสความต้องการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาดที่ปรับตัวลดลงกดดันให้บริษัท Ford Motor ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรถยนต์แบรนด์อเมริกันรายใหญ่ประกาศตัดสินใจยกเลิกแผนการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (Sport-Utility Vehicle หรือ SUV) ขนาดใหญ่สามตอน (Three-Row SUV) เช่น รุ่น Explorer และรุ่น Expedition ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และจะเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวในระบบไฮบริด (Hybrid gas-electric) ทดแทน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทได้เคยประการแผนการชะลอการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวในตลาดจากปี 2568 ไปเป็นปี 2570 มาแล้ว โดยคาดว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับบริษัทเป็นมูลค่าสูงถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประกาศเลื่อนแผนการเปิดตัวรถกระบะพลังงานไฟฟ้าออกไปจากแผนเดิมอีกหนึ่งปีเป็นปี 2570 (เป็นการประกาศเลื่อนครั้งที่สอง) อีกทั้ง ยังจะลดเงินงบประมาณลงทุนในกลุ่มรถยนต์พลังงานลงเหลือเพียงร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 40 ของงบประมาณลงทุนทั้งหมดด้วย

 

การประกาศแผนยกเลิกดังกล่าวเป็นแนวโน้มของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในตลาดที่ได้ขยายแผนการลงทุนในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ตลาดมีกำลังความต้องการซื้อสูง ในขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดกลับเริ่มมีความลังเลในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจากปัจจัยด้านราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงและปัญหาในการหาสถานีชาร์จพลังงาน

 

Mr. John Lawler ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท Ford Motor กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของแนวโน้มของตลาดและผู้บริโภคในปัจจุบัน

 

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนจากกลุ่มธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแล้วเป็นมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่บริษัทมียอดขาดทุนจากการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยสูงถึง 44,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน ทำให้บริษัทต้องเร่งพยายามปรับตัวเพื่อลดตัวเลขการขาดทุนและสร้างกำไรในกลุ่มธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟ้ฟ้าในอนาคต

 

ปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดต่างพยายามที่จะปรับตัวหาจุดสมดุลในตลาดสำหรับกลุ่มธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยปัจจัยด้านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ประกอบกับปัจจัยด้านการขยายตัวอย่างของผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีนอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ต่างจำเป็นต้องเร่งลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีตามให้ทัน ในขณะที่ผู้บริโภคในตลาดเองกลับเริ่มมีความสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยบริษัท Ford Motor เองวางแผนปรับตัวด้วยการเพิ่มจำนวนรถยนต์ระบบไฮบริดออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุตสหกรรมและรถกระบะขนาดกลางที่มีต้นทุนแข่งขันได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบพัฒนาเพื่อแข่งขันกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าราคาถูกจากจีน

 

Mr. Jim Farley ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Ford Motor กล่าวว่าผู้ประกอบการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจีนมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนด้านห่วงโซ่อุปทานที่ต่ำ ดังนั้น บริษัทจึงต้องหาวิธีในการควบคุมต้นทุนการผลิตของบริษัทเพื่อแข่งขันกับจีนในตลาด นอกจากนี้ เขายังคาดว่า ด้วยปัจจัยด้านสรรถนะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจีนเองน่าจะทำให้สินค้าไหลทะลักเข้าสู่ตลาดทุกภูมิภาคในที่สุด

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดหลายรายยังได้พิจารณาระงับหรือชะลอแผนการลงทุนในสายธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วยเนื่องจากปัจจัยด้านการชะลอตัวของความต้องการผู้บริโภคในตลาด โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมาบริษัท General Motors ได้ประกาศเลื่อนแผนการเปิดสายการผลิตรถกระบะพลังงานไฟฟ้าแบรนด์ Buick ที่โรงงานเมือง Detroit รัฐมิชิแกน จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปีนี้ไปเป็นกลางปี 2569

 

ทั้งนี้ จากข้อมูล Motor Intelligence ผู้สำรวจข้อมูลตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ รายงานว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรกของสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.8 ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวของตลาดที่หดตัวลงเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดในตลาดกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดตัดสินใจหันไปพัฒนารถยนต์ไฮบริดทดแทนเพื่อรองรับกับแนวโน้มของผู้บริโภคในตลาดกลุ่มที่ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 ยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจาประมาณ 3 แสนคันในปี 2563 ขยายตัวเป็น 1.6 ล้านคันในปี 2566 ทำให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ในตลาดต่างเร่งปรับตัวเพิ่มเงินลงทุนขยายกิจการเพื่อแย่งชิงสัดส่วนตลาดที่มีมูลค่าสูงจากบริษัท Tesla ซึ่งเป็นผู้นำตลาดรายใหญ่ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดสูงถึงร้อยละ 39.9 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดมีอัตราการขยายตัวสูงส่วนหนึ่งมาจากความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่มีนโยบายการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศทั้งในรูปแบบของเงินสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการ เงินส่วนลดภาษีซื้อสำหรับผู้บริโภค รวมถึงเงินลงทุนในการขยายโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดเพื่อควบคุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดเนื่องจากทำให้มีต้นทุนการซื้อแพงขึ้นจากภาระอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการทำสงครามในเขตทะเลแดงที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศล้วนส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดชะลอการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ  มีแนวโน้มทรงตัวมาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ จะชะลอตัวในปีนี้แต่หากจะพิจารณามูลค่าการนำเข้าสินค้าในกลุ่มยานยนต์ของสหรัฐฯ กลับพบว่ายังมีมูลค่าขยายตัวพอสมควร โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งสิ้นประมาณ 1.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.52 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลด้านปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามและการโจมตีเรือขนส่งสินค้าของกลุ่มกบฐฮูตีทำให้ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมต้นทุนการขนส่งที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 34.83) แคนาดา (ร้อยละ 13.56) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 12.94) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 12.13) และเยอรมนี (ร้อยละ 8.81) ตามลำดับ ส่วนไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.58 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.53 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

โดยรวมแม้ว่าตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง เช่น ล้อ ยาง เพลา และตัวถัง เป็นต้น ซึ่งไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาปรับตัวหาจุดสมดุลในการส่งออทั้งตลาดรถยนต์ระบบน้ำมัน ไฮบริด และไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดในสหรัฐฯ ในอนาคต อีกทั้ง การพิจารณาควบคุมต้นทุนการผลิต รักษาคุณภาพสินค้า และบริหารการจัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้ในอนาคตด้วย

 

นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้าภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

******************************

 

シカゴ国際貿易促進局

jaJapanese