อุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโกเนื้อหอม ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ปี 67 ทะลุ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

อุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโกเนื้อหอม ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ปี 67 ทะลุ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

อุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโกยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เม็กซิโกขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มูลค่าราว 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีจีนอยู่อันดับที่ 1 ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนีอยู่อันดับที่ 5) นอกจากนี้ เม็กซิโกยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 7 ของโลก โดยในปีที่ผ่านมาผลิตรถยนต์รวมกว่า 3.8 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นรถปิคอัพ และ SUVs และคาดว่าในปี 2567 จะผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 4 ล้านคัน ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของเม็กซิโกเติบโตอย่างมากในปีนี้มาจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีการลงทุน FDI ในอุตสากรรมยานยนต์ในเม็กซิโกมากถึง 127 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 39,157 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าแนวโน้มการลงทุน FDI ทั้งปีจะสูงถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 56 ของการลงทุนทั้งหมดจะอยู่ในภาคการผลิต (Manufacturing Sector) ซึ่งหมายถึงการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มขึ้นถึง 55,000 อัตรา โดยการลงทุนหลักมาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อาเจนตินา และจีน

ทั้งนี้ ผู้แทนจากองกรค์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เม็กซิโกเปิดเผยว่า ร้อยละ 95 ของชิ้นส่วนที่ผลิตในเม็กซิโกจะถูกส่งไปประกอบที่โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 88.8 ของรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการได้รับประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา-แคนาดา (หรือความตกลง T-MEC : Tratado entre México, Estados Unidos y Canadá)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเม็กซิโกมีความตกลง FTA 14 ฉบับ กับ 52 ประเทศ แต่มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ อย่างจริงจังเพียงความตกลง T-MEC เท่านั้น ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเม็กซิโก ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เม็กซิโกได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากสินค้าจีนที่เคยส่งไปสหรัฐฯ ถูกกีดกันทางภาษี ทำให้มีการลงทุนจากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเม็กซิโกเพื่อส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แทนการส่งตรงจากจีน ทั้งนี้ ยังต้องรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะหากอดีตประธานธิบดีโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้าและความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เนื่องจากทรัมป์เคยกล่าวว่าควรจะมีการเจรจาความตกลง T-MEC ใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากมีการทบทวนความตกลงดังกล่าว อาจจะมีการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานและสัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่ผลิตในเม็กซิโกก่อนส่งไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโก (Ministry of Economy) เปิดเผยตัวเลขการลงทุนในเม็กซิโกในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2567 ว่ามีการประกาศการลงทุนรวม 166 โครงการ มูลค่าสูงถึง 48,035 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 75,481 อัตรา โดยประเทศที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 46) เยอรมนี (ร้อยละ 15) และอาเจนติน่า (ร้อยละ 9) นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน ฝรั่งเศส โปรตุเกส ที่เริ่มเข้ามาลงทุนในเม็กซิโกมากขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ร้อยละ 53 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานยนต์ แก๊สธรรมชาติ และโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ภาคการค้า (Trade) ร้อยละ 14 ภาคการขนส่ง (Transport) ร้อยละ 11 สื่อสารมวลชน (Mass media) ร้อยละ 10 และการก่อสร้าง (Construction) ร้อยละ 7 ดังนั้น คาดว่าปริมาณการลงทุน FDI ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเหล่านี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2567 ของเม็กซิโกเติบโตได้มากขึ้น

 

Source: 

jaJapanese