ภาพรวมอุตสาหกรรม

ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าตลาดไอศกรีมในสหรัฐอเมริกาปี 2567 มีมูลค่า 20,868.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจาก 20,025.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นร้อยละ 4.2 และคาดว่าตลาดไอศกรีมปี 2568 จะมีมูลค่า 21,757.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 4.3 จากปี 2567 โดยผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

มูลค่าผลิตภัณฑ์ไอศกรีมแบ่งตามประเภทในตลาดสหรัฐฯ (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

อุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ ปี 2567

 

มูลค่าการค้าปลีกของไอศกรีมเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณการค้าปลีกลดลง

มูลค่าการค้าปลีกไอศกรีมในสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 แต่ปริมาณการค้าปลีกมีแนวโน้มลดลงในปี 2567 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ยอดขายของไอศกรีมนมแบบขายแพ็คยังคงแข็งแกร่ง ส่วนยอดขายของไอศกรีมแบบรับประทานทันทีมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากราคาต่อหน่วยของไอศกรีมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น

 

เมื่อพิจารณาราคาไอศกรีมแล้วจะพบว่า ไอศกรีมแบบรับประทานทันทีมีราคาต่อหน่วยสูงในร้านค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าริมถนน เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่ได้ซื้อไอศกรีมปริมาณมากๆ จากร้านค้าดังกล่าวอีกต่อไป โดยเฉพาะไอศกรีมที่เป็นแบรนด์ราคาแพง แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมักจะหันไปซื้อไอศกรีมแบบขายแพ็คใหญ่ ดังนั้น หากผู้ผลิตต้องการให้สินค้าไอศกรีมเป็นที่ต้องการในตลาดสหรัฐฯ อาจต้องมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์และสูตรไอศกรีมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภค

 

การเฉลิมฉลองถือเป็นโอกาสหนึ่งของอุตสาหกรรมไอศกรีม

พฤติกรรมการรับประทานของหวานของชาวอเมริกันมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมากเลือกที่จะซื้อเค้กไอศกรีมแทนเค้กแบบปกติเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ หรือแม้แต่เลือกไอศกรีมแทนผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เพื่อเป็นของหวานสำหรับหลังอาหารเย็นของครอบครัว

 

ผู้บริโภคชาวอเมริกันพยายามหาวิธีในการเฉลิมฉลองกับครอบครัวและเพื่อนในวิธีที่สร้างสรรค์โดยไม่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับไอศกรีมที่เป็นของหวานไม่ได้มีราคาสูงกว่าขนมหวานประเภทอื่นๆ มากนัก ไอศกรีมจึงเป็นแนวทางใหม่ในการเฉลิมฉลองของชาวอเมริกัน และมีแนวโน้มว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะเติบโตขึ้นในอนาคต ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างการพัฒนาเรื่องรสชาติหรือประเภทของไอศกรีมจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น

 

ช่องทางการจำหน่ายไอศกรีมมีการเปลี่ยนแปลงไป

การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องออนไลน์ในสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ช่องทางการจำหน่ายของสินค้าไอศรีมในสหรัฐฯ ผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้าและปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี ปี 2565 การขายไอศกรีมผ่านช่องทางออนไลน์ลดลงร้อยละ 8 ซึ่งดูเหมือนว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มกลับมาใช้วิถีชีวิตเหมือนเดิมกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ร้านสะดวกซื้อเริ่มกลับมามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าปี 2567 ช่องทางการจำหน่ายไอศกรีมจะมีแนวโน้มคงที่ทั้งสำหรับช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

 

สำหรับช่องทางการจำหน่ายของอุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ ปี 2567 เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ร้อยละ 92 และเป็นช่องทางออนไลน์ร้อยละ 8 ทั้งนี้ สำหรับช่องทางการจำหน่ายแบบออฟไลน์ ผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซื้อจากไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และซุปเปอร์มาร์เก็ตถึงร้อยละ 61 และเป็นการซื้อจากร้านสะดวกซื้อร้อยละ 11

 

 

แนวโน้มและโอกาสของอุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ

 

ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมไอศกรีมแบบแช่แข็ง

ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดสำหรับซีกโลกเหนือ ด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ทำให้ต้นทุนในการทำความเย็นของอุตสาหกรรมไอศกรีมเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ตั้งแต่ต้นทุนในการผลิต การจัดจำหน่าย และต้นทุนของพื้นที่ชั้นวางของในร้านค้าปลีกสูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่เป็นเพียงแค่เรื่องของความปลอดภัยที่ใช้บรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

 

ตัวอย่างเช่นตู้แช่แข็งพลังงานต่ำที่บริษัท Unilever ได้พัฒนาตู้แช่แข็งสำหรับไอศกรีมที่ขายในร้านค้าปลีกเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการทำความเย็นที่สูงขึ้น โดยตู้แช่แข็งนี้สามารถเก็บไอศกรีมได้โดยใช้อุณหภูมิที่สูงกว่าตู้แช่แข็งปกติ เพื่อลดการใช้พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนได้ในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมไอศกรีมโดยรวม

 

อุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ

 

ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายอย่างประหยัด

ภาวะเงินเฟ้อที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันจึงลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง และคาดว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงสังสรรค์กันอยู่แต่จะใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น

 

แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอเมริกันแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรก คือ ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังมองหาความคุ้มค่ามากขึ้นโดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยอยู่กันหลายคนหรือมีเด็ก โดยครัวเรือนมักจะซื้อไอศกรีมในรูปแบบจัดแพ็คหรือสินค้าตราห้าง โดยยังคงซื้อไอศกรีมในปริมาณเท่าเดิมแต่จะเลือกแบรนด์สินค้าที่มีราคาถูกลง ในขณะที่ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยวหรือครัวเรือนที่ไม่มีเด็กนั้นมีแนวโน้มจะเลือกไอศกรีมที่มีความพรีเมียมมากกว่า แต่จะซื้อน้อยลงกว่าในอดีต

 

ผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันส่งผลให้ความต้องการของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่มีราคาระดับปานกลางมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตไอศกรีมที่มีราคาระดับปานกลางในการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องความคุ้มค่า ประกอบอาจใช้นวัตกรรมของไอศกรีมในการอาจดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งการบรรจุไอศกรีมหลากหลายรสชาติ หรือการเสนอไอศกรีมรสชาติพิเศษที่มีเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่ง

 

แนวโน้มการรักษาสุขภาพ

เทรนด์การรักษาสุขภาพได้มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมขนมหวานมานานหลายปีและดูเหมือนว่าจะยังดำเนินต่อไป นอกจาก ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะใส่ใจการผลิตไอศกรีมในเรื่องส่วนประกอบของไขมันและน้ำตาลแล้ว ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังให้ความสำคัญเรื่องของคำกล่าวอ้างที่แสดงถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ ปลอดภัย และมีความเป็นธรรมชาติ เช่น ปราศจากกลูเตน ไม่มีสารแต่งกลิ่นหรือรสชาติสังเคราะห์ ไม่มีการใช้ฮอร์โมน เป็นต้น โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันพยายามหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปสูงและมีส่วนประกอบที่เป็นสารสังเคราะห์ แม้ว่าไอศกรีมจะเป็นของหวานแต่ผู้บริโภคก็ยังต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดของการรักษาสุขภาพ

 

ทั้งนี้ คาดว่าเทรนด์การรักษาสุขภาพจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตและจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสนใจกับกระบวนการผลิตมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตไอศกรีมในการเน้นย้ำคุณค่าของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่ผลิตมาจากส่วนประกอบจากธรรมชาติ และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าสินค้าระดับราคาพรีเมียม
มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปอย่างไร

 

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

อุตสาหกรรมไอศกรีมในสหรัฐฯ ยังเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อได้ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยอาจหาแนวทางในการเสนอผลิตภัณฑ์ให้เห็นถึงความคุ้มค่ามากขึ้น เช่น การบรรจุสินค้าแบบแพ็คใหญ่คละรสชาติ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในรสชาติที่แตกต่างตลาดสหรัฐฯ การเน้นย้ำถึงความเป็นไอศกรีมระดับพรีเมียมที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันเห็นถึงความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมไทย

 

ข้อมูลอ้างอิง: Euromonitor

jaJapanese