ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ มาแรงรับเทรนด์ตลาดสิงคโปร์

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา สิงคโปร์ได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2569 นอกจากนี้ ประชากรหนึ่งในสี่จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไปภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่หนึ่งในหก เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพที่ดีของสิงคโปร์ ทำให้ประชากรจะมีอายุยาวขึ้น ขณะนี้สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะเป็น Blue Zone 3.0 หรือพื้นที่ที่มีประชากรสุขภาพดีและอายุยืนที่สุด โดยคาดว่า ผู้คนอาจมีอายุยืนถึง 100 ปี หรือมากกว่า ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) ของสิงคโปร์ลดลงต่ำกว่า 1

รายงานของ Ageing Asia Alliance ระบุว่า สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจเงินสูงสุดในแง่ของความสามารถในการใช้จ่ายหรือได้รับการสนับสนุนจากลูกหลานของประชากรสูงอายุ ตลาดเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ภายในปี 2568 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่า 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในสิงคโปร์จะมีมูลค่าสูงถึง 72,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

หน่วยงาน Enterprise Singapore เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดในกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ และที่พักอาศัยแบบ Assisted Living[1] โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในการนำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ที่ใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ผ่านการคิดค้นจากศูนย์นวัตกรรมในสถาบันการศึกษาระดับสูง

ความต้องการทั่วไปของกลุ่มผู้สูงอายุคือ รถเข็นและไม้เท้า อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สูงอายุหลังอายุ 65 ปีไม่ได้มีลักษณะความต้องการที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุบางคนจะเริ่มมีความพิการ หรือบกพร่องทางร่างกาย แต่ผู้สูงอายุหลายคนที่มีอายุระหว่าง 65 ถึง 70 ปีปลาย ๆ ยังคงเป็นผู้บริโภคที่คล่องแคล่วและกระเป๋าหนัก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีความเป็นผู้ใหญ่ รู้ความต้องการของตนเอง และสามารถเป็นลูกค้าประจำได้หลายปี ธุรกิจของกลุ่มเศรษฐกิจสูงวัยจึงอยู่ในขาขึ้น

ศาสตราจารย์ Straughan กล่าวว่า การให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุหลังอายุ 65 ปีไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจในประเทศเท่านั้น  สิงคโปร์ยังสามารถเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุได้เช่นกัน จากการที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ปลอดภัยและมีระบบการดูแลสุขภาพที่ดี หากกลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลที่ดีในสิงคโปร์ อาจจะมุ่งหน้าไปยังมาเลเซียหรือไทยเป็นจำนวนมากแทน

ในปัจจุบัน สิงคโปร์มีธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Senior-Friendly Business) เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ตามตัวอย่าง ดังนี้

  1. FairPrice Group มีโครงการส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ผ่านบัตรต่าง ๆ นอกจากนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice หลายแห่งที่มีผู้สูงอายุเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น ใน Bukit Merah Central และ Tampines Hub ได้รับการออกแบบให้มีคุณลักษณะที่เข้าถึงได้ เช่น ปุ่มเรียกและแว่นขยายตามทางเดิน ป้ายบอกทางขนาดใหญ่ รถเข็นซื้อของสำหรับผู้พิการที่ใช้รถเข็น และพื้นที่นั่งพัก นอกจากนี้ ร้านค้าบางแห่งได้จัดมุมแสดงสินค้าเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุแบบ Active Aging[2] หรือสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ได้แก่ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขอนามัย และอุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหว
  2. Chan Brothers Travel นำเสนอส่วนลดราคาสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยออกแบบแพ็คเกจท่องเที่ยวที่ตอบสนองความสนใจและความต้องการของนักท่องเที่ยวสูงอายุ ซึ่งรวมถึงแผนการเดินทางที่ช้าลง การเดินทางที่สั้นลง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังมีทัวร์ที่มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น การบรรยายและการออกกำลังกายโดยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพที่คัดสรรโดยนักโภชนาการ
  3. Digital Gastronomy สตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design) ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อแก้ปัญหาแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการกลืนอาหารด้วยการพิมพ์อาหารบดแบบ 3 มิติ ที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และน่ารับประทาน นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครื่องพิมพ์อาหารที่สามารถผสานเข้ากับห้องครัวของโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อผลิตอาหารอ่อนได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์อาหารเชิงพาณิชย์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

กลุ่มผู้สูงอายุในสิงคโปร์เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากพวกเขามีการศึกษาดี มีเงินเกษียณ และพร้อมจะจ่ายเงินสำหรับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาในด้านความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ได้แก่ 1) สินค้ากลุ่มสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุ อุปกรณ์การแพทย์ 2) การท่องเที่ยวที่ออกแบบเส้นทางสำหรับผู้สูงอายุ 3) ที่พักและเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ 4) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือแอปพลิเคชัน หรือ 5) งานบริการต่าง ๆ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

สำหรับผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดผู้สูงอายุมายังสิงคโปร์ ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้สูงอายุ และปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนและเติบโตในตลาดนี้ได้

[1] ที่พักแบบต้องการคนดูแลและอุปกรณ์ในกิจวัตรประจำวันต่างๆ

[2] กระบวนการการส่งเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วมทางสังคม และความมั่นคง เช่น อายุเกษียณที่มากขึ้น แนวทางการทำงานที่ปรับให้เหมาะสมกับอายุของพนักงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/opinion/turning-silver-into-gold-businesses-should-embrace-our-ageing-population

 

 

jaJapanese