แคนาดาประกาศมาตรการปกป้องแรงงานและภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ รับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีแคนาดา นางคริสเทีย ฟรีแลนด์ ได้ประกาศมาตรการเพื่อปกป้องแรงงานชาวแคนาดาและภาคเศรษฐกิจที่สำคัญจากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

จีนกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 47.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2566 การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจนมีข้อได้เปรียบด้านราคา ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการแข่งขันของแคนาดาและผู้ผลิตอื่นทั่วโลก

เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในแคนาดามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างงานมากกว่า 125,000 ตำแหน่งในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ดีที่อยู่ในสหภาพ ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมของแคนาดายังสนับสนุนงานอีกกว่า 130,000 ตำแหน่ง

แคนาดาอ้างว่า แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ผลิตชาวจีน และเพื่อปกป้องแรงงานและธุรกิจในแคนาดา ได้ประกาศ 4 มาตรการเพื่อปกป้องและสร้างความเป็นธรรมกับผู้ผลิตและแรงงานในประเทศในการแข่งขัน ได้แก่ (1) ขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 100 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดบางรุ่นที่ผลิตในจีน ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกและรถประจำทาง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยภาษีนี้จะเป็นภาษีเพิ่มเติมจากอัตราภาษีนำเข้าที่มีอยู่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 6.1 รวมเป็นร้อยละ 106.1 (2) การเก็บภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียม ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2567 แคนาดาจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้าการผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมจากจีน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องแรงงานจากนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนและป้องกันการเบี่ยงเบนทางการค้า (3) ตั้งเป้าพิจารณาภาคส่วนที่มีความสำคัญอื่นๆ ในกรอบเวลา 30 วัน ในวันที่ 10 กันยายน – 10 ตุลาคม 2567 เพื่อประเมินภาคส่วนอื่นๆ ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอื่นๆ ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนแบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ และแร่ธาตุที่สำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยในการดำเนินการในอนาคตและการเตรียมมาตรการป้องกัน และ (4) แคนาดาจำกัดสิทธิการให้การส่งเสริมสำหรับยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ Incentives for Zero-Emission Vehicles (iZEV) และยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สำหรับงานขนาดกลางและงานหนัก (Incentives for Medium and Heavy Duty Zero Emission Vehicles: iMHZEV) รวมถึงการจำกัดสิทธิการให้การส่งเสริมในโปรแกรมโครงสร้างพื้นฐานของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle Infrastructure Program: ZEVIP) โดยจะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศมีความตกลงการค้าเสรีกับแคนาดาและความตกลงนั้นมีผลใช้บังคับแล้วเท่านั้น หรืออยู่ระหว่างการขนส่งไปยังแคนาดาก่อนวันประกาศบังคับใช้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ยานพาหนะที่ถือเป็น (ZEV) อาทิ ยานพาหนะแบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ไฮบริดไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า

 

ความเห็นของ สคต.

การออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของแคนาดา มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องแรงงานและตลาดแคนาดาจากสินค้านำเข้าจากจีนที่แคนาดาเห็นว่าเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่มาตรการบางส่วนอาจส่งผลกระทบกับสินค้าส่งออกจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย ด้วย กรณีที่แคนาดามีการนำเข้าสินค้าหรือส่วนประกอบมาใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือสถานีชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้โครงการ ZEVIP แม้ว่าจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าสินค้าที่ไทยส่งออกมายังแคนาดาในกลุ่มนี้ เช่น บอร์ด แผงหน้าปัด คอนโซล พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับควบคุมไฟฟ้าหรือจำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้กับเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ EV เพียงอย่างเดียว และยังมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่ภาคเอกชนควรติดตามการออกมาตรการซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือและกระจายความเสี่ยงต่อไป

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

jaJapanese