- นาง Elsa Sen นักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Schiaparelli (อดีตนักออกเครื่องประดับของแบรนด์ Lanvin ในช่วงที่ฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์อยู่ภายใต้การดูแลของนาย Albert Elbaz ที่มีชื่อเสียงซึ่งล่วงลับไปแล้ว) ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง Fine jewelry กับ Costume jewelry หรือที่เรียกว่า Fashion Jewelry ไว้ว่า Fine jewelry ผลิตจากโลหะมีค่าประดับด้วยเพชรหรืออัญมณีและต้องใช้ความสามารถของช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ในขณะที่ Costume Jewelry สามารถผลิตจากวัสดุอื่นๆที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรซิน, ไม้, พิวเตอร์หรือทองเหลือง เป็นต้น ซึ่งการเปิดกว้างในการใช้วัสดุของ Costume jewelry นี้นอกจากจะช่วยให้นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างไม่มีขีดจำกัดแล้ว ยังส่งผลให้ราคาของสินค้าทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ราคา Costume jewelry ในตลาดสูงสุดจะไม่เกิน 4,000 ยูโร ตัวอย่างเช่น สร้อยคอโลหะเงิน รุ่น Pitbull จากคอลเลคชั่น fall-winter 2024 ของแบรนด์ Balenciaga ที่ตั้งราคาขายอยู่ที่ 3,900 ยูโร
- ถึงแม้ว่าราคาขาย Costume jewelry จะเริ่มต้นต่ำกว่า Fine Jewelry เป็นอย่างมากแต่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมาราคา Costume jewelry ของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงกลับเป็นที่ต้องการในตลาดเครื่องประดับมือสองส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นาย Christian Sicard ผู้เชี่ยวชาญสินค้าเครื่องประดับของบริษัทประมูลสินค้ามือสอง Le Brech & Associés ยกตัวอย่างถึงราคาของเครื่องประดับรูปไม้กางเขนของแบรนด์ Chanel ที่เคยมีราคาขายระหว่าง 1,000-1,500 ยูโรเมื่อสี่ปีที่แล้ว ในปัจจุบันราคาในตลาดปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 8,000-10,000 ยูโร
- การกลับมาเติบโตของตลาด Costume jewelry ปรากฏให้เห็นในงานปารีสแฟชั่นวีค 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แบรนด์แฟชั่นเกือบทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Loewe, Dior, Schiapareilli, Louis Vuitton, Celine, Balenciaga, Bottega Veneta, Gucci และ Jacquemus ต่างให้ความสำคัญต่อคอลเลคชั่นเครื่องประดับเป็นอย่างมาก
- ความต้องการ Costume jewelry เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในส่วนของผู้บริโภค เห็นได้จากยอดขายตลาดออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นรวมถึงจากเคาน์เตอร์ขายเครื่องประดับในห้างสรรพสินค้า กลายเป็นสินค้าที่มียอดขายเป็นอันดับสามในบรรดาสินค้าทั้งหมดของแบรนด์แฟชั่น รองจากสินค้าประเภทกระเป๋าและรองเท้า
- นาง Leyla Neri นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาด้านแฟชั่นระดับปริญญาโทของ Institut Français de la Mode -IFM ของฝรั่งเศส เล่าว่าจุดเริ่มต้นของ Costume jewelry มาจาก Coco Chanel ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Chanel ซึ่งต่อมาส่งผลให้ Yves Saint Laurent นักออกแบบผู้ก่อตั้งแบรนด์ในชื่อเดียวกันดำเนินรอยตามเนื่องมาจากทั้งคู่ต่างใช้ช่างฝีมือผู้ผลิตกระดุมและลูกปัดเจ้าเดียวกันซึ่งได้แก่บริษัท Gripoix และ Scemama
- จนกระทั่งปี 1972 Yves Saint Laurent ได้นักออกแบบเครื่องประดับ Loulou de la Falaise มาช่วยพัฒนาให้คอลเลคชั่นของแบรนด์พัฒนาไปไกลมากขึ้นเป็นสไตล์ Baroque โดยผสมผสานเทคนิคในการผลิตและวัสดุที่มีความหลากหลายทั้งโลหะ, คริสตัล, ไม้ไปจนถึงการนำฟางมาใช้ ส่งผลให้ Costume jewelry กลายเป็นสินค้าที่สามารถสะท้อนตัวตนและเอกลักษณ์ของผู้ซื้อได้อย่างแท้จริง
- จุดแข็งอีกด้านหนึ่งของสินค้า Costume jewelry ที่ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆให้ความสำคัญได้แก่ ปัจจัยด้านราคา Costume jewelry มีราคาขายต่ำกว่าสินค้าประเภทกระเป๋า แต่เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในบรรดาสินค้าแอคเซสซอรี่ทั้งหมด เนื่องจากเครื่องประดับสามารถออกแบบให้มีความสร้างสรรค์ได้มากกว่า
- ในยุคสมัยของ Coco Chanel หรือ Yves Saint Laurent การออกแบบ Costume jewelry ไม่ได้ต้องการความสามารถของช่างฝีมือแต่อย่างใด ขอเพียงให้มีรสนิยมที่ดีดังเช่นกรณีของ Loulou de la Falaise นั่นก็เพียงพอแล้ว แต่ในปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ต้องการนักออกแบบที่มีความสามารถหลากหลายให้ครอบคลุมได้ทั้งงานออกแบบกระเป๋าและเครื่องประดับ ส่งผลให้ทางสถาบัน IFM เปิดหลักสูตรสอนการออกแบบแอคเซสซอรี่ในงานแฟชั่น ซึ่งรวมหลักสูตรการออกแบบรองเท้า,เครื่องประดับรวมถึงถุงมือไว้ด้วยกัน ซึ่งนอกเหนือจากสถาบัน IFM แล้วมีเพียงโรงเรียนศิลปะและการออกแบบ Head ที่กรุงเจนีวา และสถาบัน Saint Martins ที่กรุงลอนดอนเท่านั้นที่เปิดสอนหลักสูตรที่มีความใกล้เคียงกัน
- ปัจจัยสำคัญอีกสองประการที่ส่งผลให้ตลาดสินค้า Costume jewelry กลับมาเติบโต อย่างแรกได้แก่ การนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามาใช้สร้างโมเดลเครื่องประดับช่วยให้การผลิตและการออกแบบเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยได้แก่สถานการณ์โควิดส่งผลให้การบริโภคเครื่องประดับเปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงระหว่างวิกฤตโควิดเครื่องประดับกลายเป็นสินค้าออนไลน์ขายดีเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องลองสินค้าก่อนซื้อและสามารถขนส่งได้ง่าย และหลังจากวิกฤตโควิดผู้บริโภคยังคงซื้อเครื่องประดับอย่างต่อเนื่องเพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- ในช่วงวิกฤตโควิดเช่นเดียวกัน ตลาดสินค้า Costume jewelry มือสองเริ่มเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดสำหรับผู้ที่มีความชอบสะสมเครื่องประดับโดยมีแบรนด์ Chanel, Yves Saint Laurent และ Christian Lacroix เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด
- การปรับตัวของแบรนด์แฟชั่นเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ตลาด Costume jewelry กลับมาเป็นที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 นาย Daniel Roseberry เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ Schiaparelli ได้ทำการปรับนโยบายให้สินค้าเครื่องประดับกลับมาเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ ส่งผลให้แบรนด์กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหนึ่ง
- นาง Axelle Royere ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าแอคเซสซอรี่ของห้าง Bon Marché กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องการสินค้าCostume jewelry เพิ่มขึ้นและทางแบรนด์แฟชั่นเองก็ตอบรับความต้องการของตลาดนี้ ดังเช่น ตุ้มหูรุ่น Drop ของแบรนด์ Bottega Veneta กลายเป็นสินค้าขายดีและเป็นรุ่นที่มีการลอกเลียนแบบให้เห็นได้ทั่วไป หรือแบรนด์ Jacquemus ที่เพิ่มคอลเลคชั่นเครื่องประดับ โดยสินค้า Costume jewely ที่ขายดีที่สุดได้แก่ตุ้มหูในทุกรูปทรงไม่ว่าจะเป็นตุ้มหูแบบห่วง (hoop earrings) หรือตุ้มหูระย้า ( pendant earrings) ก็ตาม นอกเหนือจากนั้นตลาดเครื่องประดับผู้ชายเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ความคิดเห็น สคต.
ในปี 2023 ฝรั่งเศสนำเข้าสินค้าในหมวดหมู่เครื่องประดับและอัญมณี (HS 71) จากไทยทุกประเภทรวมกันคิดเป็นมูลค่า 148 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.22 อยู่ในลำดับที่ 12 โดยสามอันดับแรกได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลีและเยอรมนีตามลำดับ สามารถแบ่งตามประเภทสินค้าได้ดังต่อไปนี้
- เครื่องประดับและส่วนประกอบของเครื่องประดับที่ผลิตโดยมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า (HS 7113) นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 10 คิดเป็นมูลค่า 69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.92
- กลุ่มอัญมณีและหินสีธรรมชาติ ( HS 7103 Precious and Semi-precious Stone) 26 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.73 จากปี 2022 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจาก สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์
- Imitation jewelry หรือ Costume Jewelry (HS 7117) นำเข้าจากไทยในลำดับที่ 6 คิดเป็นมูลค่า 06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 28.58
ถึงแม้ปัจจุบันฝรั่งเศสยังนำเข้าสินค้ากลุ่ม Costume jewelry จากไทยน้อยกว่ากลุ่มสินค้าประเภทอื่นอยู่ แต่เนื่องจากกระแสความนิยมเครื่องประดับในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นตามข่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีโอกาสเติบโตในส่วนของสินค้าดังกล่าวได้อีกมาก ดังนั้นนอกจากการรักษาฐานลูกค้าเดิมและปรับปรุงความสามารถในการผลิตและออกแบบอย่างต่อเนื่องแล้ว การออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง
ที่มาของข่าว
Astrid Faguer
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/weekend/mode-beaute/le-bijou-fantaisie-un-accessoire-tres-griffe-2124907