อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์กลับมาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (CBS) รายงานอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในเดือนกันยายน 2567 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5 ปรับตัวลงมาเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคมที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งการปรับตัวลดลงในเดือนกันยายนส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง แต่ในเดือนตุลาคม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ปรับตัวลดลงมากเท่าในเดือนกันยายน ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ อีกทั้งราคาอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบมีการเติบโตขึ้นร้อยละ 6 เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสินค้าจำเป็น ส่วนราคาภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งราคาต้นทุนภาคบริการยังคงหนึ่งในเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

 

สำหรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์แบบ European Harmonized Method เพื่อให้การเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นไปได้ง่ายขึ้น อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ (Harmonized Index of Consumer Prices : HICP) ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งวิธีการคำนวณแบบ European Harmonized Method จะแตกต่างจากการคำนวณของสำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ โดย HICP จะไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของบ้าน ในขณะที่ CPI ของเนเธอร์แลนด์จะคำนึงถึงค่าเช่าที่อยู่อาศัยด้วย

 

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

การกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์ในเดือนตุลาคมซึ่งสวนทางกับการเริ่มผ่อนคลายในเดือนกันยายน แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในเนเธอร์แลนด์ยังคงมีความผันผวน และผู้บริโภคชาวดัตช์ก็ยังคงมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาจส่งผลต่อกระทบต่อความต้องการสินค้า รวมถึงสินค้านำเข้าด้วย

 

อัตราเงินเฟ้อเนเธอร์แลนด์ (HICP) ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม Eurozone และสูงกว่าระดับเป้าหมาย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของกลุ่ม Eurozone ในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งแล้วในปีนี้ แต่ก็คาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุม ECB ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเขต Eurozone ที่กำลังชะงักงัน และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคใน Eurozone โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

 

ハーグ国際貿易促進局

jaJapanese