จีนอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ

จีนอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศพิธีสารว่าด้วย “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้ามะพร้าวสดจากอินโดนีเซีย” ที่ลงนามระหว่างหน่วยงาน GACC และกระทรวงตรวจสอบและกักกันโรคของอินโดนีเซีย โดยระบุว่าจีนอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป โดยอนุญาตให้นำเข้าผ่านด่านที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้ของจีน ทั้งทางบก เรือ รถไฟและอากาศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศพิธีสารว่าด้วย “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้ามะพร้าวสดจากเวียดนาม” ที่ลงนามระหว่างหน่วยงาน GACC และกระทรวงการพัฒนาเกษตรและชนบทประเทศเวียดนาม โดยระบุว่ามะพร้าวสดจากเวียดนามสามารถส่งออกมายังจีนโดยผ่านด่านที่อนุญาตนำเข้าผลไม้ต่างประเทศทุกแห่งของจีน

ทั้งนี้ คู่แข่งที่มีศักยภาพของมะพร้าวไทยในตลาดจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ราย จากประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ข้อมูลสถิติจาก GACC พบว่าตลาดจีนมีความต้องการมะพร้าวจำนวนมากในทุกปี โดยมีปริมาณความต้องการต่อปีมากกว่า 4,000 ล้านลูก ซึ่งประกอบด้วยมะพร้าวสดประมาณ 2,600 ล้านลูก และและแปรรูปมะพร้าวประมาณ 1,500 ล้านลูกต่อปี ในขณะที่ผลผลิตมะพร้าวของจีนส่วนใหญ่มาจากมณฑลไห่หนาน โดยมีผลผลิตต่อปีอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านลูกเท่านั้น ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในการบริโภคและการแปรรูปได้เพียงร้อยละ 6 ส่วนที่เหลือต้องนําเข้าจากต่างประเทศ

ด้วยผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับการดูและสุขภาพมากขึ้น มะพร้าวซึ่งเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์หลายด้านได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดจีน ระหว่างปี พ.ศ.2562 ถึง 2564 ปริมาณการนำเข้ามะพร้าวของจีน โดยเฉลี่ยมีการเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอยู่ที่ร้อยละ 22.71 ในปี พ.ศ.2565 ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 1.095 ล้านตัน และในปี พ.ศ.2566 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.22 ล้านตัน โดยนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย (ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อินโดนีเซียและเวียดนามยังไม่ได้ผ่านการอนุญาตนำเข้าอย่างเป็นทางการ) โดยประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญของโลก และเป็นแหล่งนำเข้ามะพร้าวที่สำคัญของจีน ปี พ.ศ.2566 จีนนำเข้ามะพร้าวจากไทยมากถึง 589,227 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของการนำเข้ามะพร้าวทั้งหมดในจีน

ช่วง 10 เดือนแรกของปี พ.ศ.2567 จีนนำเข้ามะพร้าวสดจากต่างประเทศ มีปริมาณ 729,424 ตัน มูลค่า 2,581 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับนำเข้าจากไทยมีปริมาณ 269,255 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.9 มูลค่า 1,682 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 38 สำหรับประเทศอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้

จีนอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ

หมายเหตุ: ตัวเลขนำเข้า“มะพร้าว” (พิกัด 08011200 มะพร้าวทั้งกะลา ซึ่งรวมถึงมะพร้าวอ่อน และมะพร้าวแก่)

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าไทยยังเป็นประเทศที่ส่งออกมะพร้าวอันดับแรกของจีน หลังจากอินโดนีเซียและเวียดนามได้รับอนุญาตส่งออกมะพร้าวสดเข้าจีนอย่างเป็นทางการ อาจมีโอกาสแบ่งสัดส่วนตลาดมะพร้าวไทยในจีนด้วย เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นประเทศที่ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ของโลก

ベトナム

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่าปัจจุบัน เวียดนามมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 200,000 เฮกตาร์ (1,250,000 ไร่) และผลิตมะพร้าวได้ปีละ 2.1 ล้านตัน ทั้งประเทศมีบริษัทปลูกและแปรรูปมะพร้าวจำนวน 800 ราย สำหรับบริษัทส่งออกมี 80 ราย เมื่อปี 2566 เวียดนามส่งออกมะพร้าวสดเข้าตลาดจีนปริมาณ 223,098 ตัน มูลค่า 372 ล้านหยวน โดยเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าจะขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้ได้ถึง 210,000 เฮกตาร์ (1,312,500 ไร่) ภายในปี 2573 ทั้งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และพื้นที่ชายฝั่งภาคกลางตอนล่าง

インドネシア

ข้อมูลจากศูนย์ธุรกิจอินโดนีเซีย – จีน รายงานว่าผลผลิตมะพร้าวสดของอินโดนีเซียในปี 2566 อยู่ที่ 2.87 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกกว่า 1,710 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกมะพร้าวของโลกเป็นร้อยละ 38 ประเทศที่ส่งออก คือ มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.28 มูลค่าส่งออก 349.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.88 มูลค่าส่งออก 306.81 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.35 มูลค่าส่งออก 246.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นทั้งหมด

หลังจากจีนอนุญาตนำเข้ามะพร้าวของอินโดนีเซียและเวียดนามอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดจีนระหว่างประเทศที่ส่งออก ทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และกลยุทธ์เชิงตลาด ในขณะเดียวกันจะนำทางเลือกให้กับผู้บริโภคจีนเพื่มมากขึ้น

ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง ด้วยหลายปีที่ผ่านมาชาวจีนได้ให้กับความสำคัญกับดูแลสุขภาพจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มะพร้าวซึ่งเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยหวานหอม มีคุณประโยชน์จากแร่ธาตุ และวิตามินได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป็นมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ส่งออกมะพร้าวเข้าสู่ตลาดจีน การที่จีนอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากเวียดนามและอินโดนีเซียอาจยังไม่เกิดผลกระทบกับมะพร้าวไทยที่รุนแรงในช่วงระยะอันใกล้ แต่คาดการณ์ว่ามะพร้าวจากทั้งสองประเทศจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในตลาดจีนอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลมีการแข่งขันทางด้านราคาและเป็นทางเลือกของผู้นำเข้าและผู้บริโภคมีการเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจต้องให้ความสำคัญในการทำตลาดจีนและการยกระดับและต่อยอดผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น การขยายพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไทย การรักษาคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางจำหน่าย ขณะเดียวกันต้องนำนวัตกรรมมาประยุกต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างเอกลักษณ์พิเศษกับมะพร้าวไทยด้วย อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์ การสร้างแบรนด์ การยกระดับคุณภาพมะพร้าวสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว นวัตกรรมการยืดอายุการเก็บรักษา และการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์มะพร้าวที่ง่ายต่อผู้บริโภค ตลอดจนการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของมะพร้าวไทยในตลาดจีน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งต่อไป

——————————————–  ——–

แหล่งที่มา:

https://mp.weixin.qq.com/s/VLNkUlZUAxDuBxdCbRGx3A

https://mp.weixin.qq.com/s/mjE6138Rxe3JGX-KRP7BlQ

https://mp.weixin.qq.com/s/NTM6q9MdAfjFA18bre4_Hw

https://mp.weixin.qq.com/s/9h_Zcp6yJdmLoe3z_M5bSQ

http://stats.customs.gov.cn/

南寧海外貿易促進事務所

jaJapanese