นับตั้งแต่ที่ว่าที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความชัดเจนหลายฝ่ายต่างมุ่งเป้าให้ความสนใจด้านนโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลชุดใหม่เป็นพิเศษ เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งกร้าวรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศด้านการค้าและการลงทุนในอนาคตได้ โดยล่าสุดว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศบนสื่อช่องทางออนไลน์ว่า จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาทุกชนิดเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกชนิดเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จากอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดแผนการดำเนินมาตรการดังกล่าวที่ชัดเจนในขณะนี้
นอกจากนี้ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังขู่ว่า จะดำเนินมาตราการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มขึ้นไปจนกว่าปัญหาด้านยาเสพติดโดยเฉพาะเฟนทานอล (Fentanyl) ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีความอันตรายสูง และปัญหาด้านผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ จะยุติลง
การดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (United States – Mexico – Canada Agreement หรือ USMCA) ที่บรรลุข้อตกลงในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จากข้อมูลผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (The U.S. Trade Representative) พบว่า มีมูลค่าการค้าในรูปของสินค้าและการบริการภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565
แม้ว่า ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ จะให้อำนาจประธานาธิบดีเพิ่มอัตราเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์บางรายได้ออกมาแสดงความกังวลว่าการนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันทำให้ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญในการดำเนินนโยบายดังกล่าวกับประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศรวมถึงจีนเนื่องจากเห็นว่า ประเทศเหล่านั้นไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นการหลั่งไหลของยาเสพติดและผู้อพยพเข้าไปยังสหรัฐฯ โดยจีนเองซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารเคมีสำคัญในการผลิตเฟนทานอลก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับสัญาที่เคยให้ไว้กับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม Mr. Liu Pengyu โฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า จีนสนับสนุนการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจและการค้าร่วมกัน อีกทั้ง ยังไม่เห็นว่าจะมีใครได้ประโยชน์จากการทำสงครามการค้าหรือสงครามภาษีนำเข้าระหว่างกัน
ในส่วนของรัฐบาลแคนาดาได้ให้ความเห็นว่า แคนาดามีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สูงมากกว่ามูลค่านำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรรวมกัน อีกทั้ง ยังมีสัดส่วนส่งออกน้ำมันไปสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยแคนาดาและสหรัฐฯ ถือว่าเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น ทั้งทางด้านการค้า และความมั่นคงชายแดนประเทศ ซึ่งฝ่ายแคนาดาจะหาโอกาสในการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในอนาคต
ในส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุน ได้แสดงการชมเชยว่าที่ประธานาธิบดีที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม Mr. Brian Schatz วุฒิสมาชิกรัฐฮาวายพรรคแดโมแครตให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันทำให้ต้องแบกรับภาระราคาสินค้าอุปโภคกที่ปรับตัวสูงขึ้น
จากข้อมูลสำนักงานสถิติสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) รายงานว่า เม็กซิโก จีน และแคนาดา เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าหลักของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กันยายนที่ผ่านมา โดยแคนาดาและเม็กซิโกส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาดำเนินนโยบายดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ว่าที่ประธานาธิบดียังแสดงความต้องการให้มีการเจรจาข้อตกลงทางการค้า USMCA ใหม่ภายใต้บทบัญญัติของการพิจารณาทบทวนข้อตกลงซึ่งกำลังจะถึงกำหนดในปี 2569 ในส่วนของแคนาดาเองก็ได้ใช้ความพยายามเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษามูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ จีนถือเป็นแหล่งผลิตสารเคมีตั้งต้นรายใหญ่เพื่อส่งต่อไปยังเม็กซิโกสำหรับการผลิตเฟนทานอล โดยเมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วยาเสพติดเหล่านั้นมักจะถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ ตามเขตชายแดน สารเสพติดดังกล่าวมีราคาถูกหาซื้อได้ง่าย อีกทั้ง ยังมีความรุนแรงกว่าสารเสพติดชนิดอื่นมากเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดในสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เห็นว่า ทางการจีนไม่ได้มีการควบคุมกฎระเบียบสำหรับสารเคมีดังกล่าวอย่างเข้มงวด จนกระทั่งไม่นานมานี้ทางการจีนได้ให้คำมั่นว่า จะเพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบควบคุมการผลิตและจำหน่ายสารเคมีตั้งต้นดังกล่าว
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมายอดส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ จะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐฯ ทำให้มูลค่านำเข้าในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า กระเป๋าหนัง และคอมพิวเตอร์ พกพา หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในภาพรวมจีนยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ เครื่องจักร และของเล่น เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำประเทศที่มีแนวทางการบริหารแตกต่างเฉพาะตัว โดยมักจะเลือกใช้กลยุทธ์ด้านนโยบายภาษีนำเข้ากดดัน (Leverage Power) ให้ประเทศคู่ค้าดำเนินการตามนโยบายที่สหรัฐฯ ต้องการ ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2559 – 2563 ที่ได้ดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าจีนภายใต้ Section 301 เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูงเพื่อคานอำนาจจีนบนเวทีการค้า ส่งผลทำให้สินค้าจีนหลายรายการในตลาดสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
จากข้อมูลสำนักงานสถิติสหรัฐฯ พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2561–2565 สัดส่วนตลาดสินค้านำเข้าจากจีนที่ได้รับผลกระทบหดตัวลงสูงจากการมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า (-ร้อยละ 47.55) กระเป๋าหนัง (-ร้อยละ 34.60) เฟอร์นิเจอร์ (-ร้อยละ 26.0) โคมไฟ (-ร้อยละ 24.56) คอมพิวเตอร์พกพา (-ร้อยละ 22.12) โทรศัพท์สมาร์ทโฟน (-ร้อยละ 17.41) เบาะที่นั่ง (-ร้อยละ 17.30) จอคอมพิวเตอร์ (-ร้อยละ 15.16) ของเล่น (-ร้อยละ 9.1) และชิ้นส่วนรถยนต์ (-ร้อยละ 3.68)
โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลายรายได้พิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศผู้ผลิตที่มีศักยภาพและมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจาก นโยบายดังกล่าว เช่น เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย รวมถึงไทยด้วย ส่งผลทำให้ไทยเป็นประเทศที่สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงเป็นอันดับที่สามในช่วงระหว่างปี 2561–2565 รองจากไอร์แลนด์ และอินเดีย ตามลำดับ
ทั้งนี้ การที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะนำเครื่องมือด้านภาษีนำเข้าสินค้ามาใช้กดดันประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดสามรายแรก ได้แก่ เม็กซิโก จีน และแคนาดา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2567 เพื่อกดดันให้ประเทศดังกล่าวให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการควบคุมปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมักจะเกิดในเขตพื้นที่ชายแดนเม็กซิโกติดกับรัฐเท็กซัสและแคนาดาติดกับรัฐนิวยอร์ก และปัญหาด้านการแพร่ระบาดของเฟนทานอลในสหรัฐฯ จึงน่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยที่น่าจะได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า โคมไฟ เบาะที่นั่ง และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ ในอนาคตยังเริ่มชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่เมื่อต้นสับดาห์ที่ผ่านมาว่าที่ประธานาธิบดีได้เปิดเผยว่าจะเสนอให้ Mr. Jamieson Greer ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในรัฐบาลหน้า โดย Mr. Greer เป็นผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ Mr. Robert Lighthizer อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก อีกทั้ง ยังเคยเป็นคณะทำงานที่ใกล้ชิดกับการพิจารณาการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้า และการเจรจาข้อตกลงการค้า USMCA ในช่วงดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงคาดว่าแนวทางด้านการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าในอนาคตจึงน่าจะมุ่งเน้นการเลือกใช้เครื่องมือทางด้านภาษีนำเข้า และการเจรจาข้อตกลงการค้าเป็นหลัก
โดยรวมในส่วนของไทยที่สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกหลัก ยังน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวมากนัก ในขณะเดียวกันยังอาจจะเป็นประเทศเป้าหมายที่ผู้ประกอบการต้องการเจรจาการค้าเพื่อเพิ่มปริมาณการนำเข้าทดแทนสินค้าจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมและหาโอกาสในการเสนอขายสินค้าแก่ผู้นำเข้าที่มีศักยภาพในตลาด อีกทั้ง ในส่วนของภาครัฐเองยังควรที่จะพิจารณาเตรียมความพร้อมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ เร่งหาโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มโอกาสผลักดันการการเจรจาข้อตกลงการค้าร่วมกับสหรัฐฯ ในอนาคต
นอกจากนี้ การระมัดระวังและสงวนท่าทีทางการค้าระหว่างประเทศและการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการอนุญาตการลงทุนจากกิจการในประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็ง ก็น่าจะช่วยลดโอกาสเกิดอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้ในอนาคตด้วย
ที่มา: Trump Pledges Tariffs on Mexico, Canada and China
*****************************
シカゴ国際貿易促進局