“ตลาดร้านอาหารเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และราคาต่อคนก็เพิ่มขึ้นด้วย”

ตลาดร้านอาหารเอเชีย (ในที่นี้หมายถึงร้านอาหารจากประเทศในแถบเอเชียซึ่งไม่รวมจีนและเกาหลี ได้แก่ ไทย อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น) กำลังขยายตัว โดยขนาดตลาดเติบโตขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดร้านอาหารทั่วไปถึงร้อยละ 10 และค่าอาหารมื้อเย็นต่อคนเฉลี่ยประมาณ 3,000 เยน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของร้านอาหารทั่วไป การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นทำให้ร้านอาหารจากประเทศต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น มีความหลากหลายและคุณภาพที่ดีขึ้น ทำให้ร้านอาหารเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวญี่ปุ่น
จากการสำรวจของบริษัท Recruit Corporation (บริษัทจัดหางานรายใหญ่ของญี่ปุ่น) พบว่าขนาดตลาดร้านอาหารในเขตมหานครสามแห่ง (เขตเมืองหลวง, เขตคันไซ, เขตโทไค) มีการคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2566 มีการใช้จ่ายตั้งแต่ช่วงเวลาอาหารมื้อเย็นเป็นต้นไปที่ 3.4482 ล้านล้านเยน (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.93 แสนล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้ “ร้านอาหารเอเชีย” มีมูลค่า 75,200 ล้านเยน (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.73 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 และราคาเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,938 เยน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 2,828 เยน แม้ว่าจะต่ำกว่าร้านอาหารระดับหรู อย่างเช่น “ร้านอาหารฝรั่งเศส-อิตาเลียน” (4,926 เยน) และ “อาหารญี่ปุ่น” (4,304 เยน) แต่ยังสูงกว่าร้านอาหารจีน (2,485 เยน) และ “แฟมิลี่เรสเตอรองต์” (1,611 เยน)

"ตลาดร้านอาหารเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และราคาต่อคนก็เพิ่มขึ้นด้วย"
จากเดิมก่อนหน้าที่จำนวนแรงงานต่างชาติจะเพิ่มขึ้นนี้ คนญี่ปุ่นที่ได้ลิ้มรสชาติอาหารท้องถิ่นในระหว่างการท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียและยังคงจดจำรสชาติอาหารเหล่านั้นได้ ตลอดจนลูกค้าผู้หญิงที่มักตามกระแสนิยม เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดร้านอาหารเอเชียเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ในระยะหลังนี้ ได้รับแรงหนุนจากลูกค้าผู้ชายที่หันมาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งบริษัท Recruit Corporation วิเคราะห์ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่คนรุ่นใหม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง และหันมาสนุกกับการรับประทานอาหารหลากหลายแทน
ความหลากหลายของอาหารเอเชียที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายตลาด ในช่วงแรกประมาณปี 2553 ร้านอาหารไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากนั้น ร้านอาหารเวียดนามก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามมา และในระยะหลังนี้ ร้านอาหารอินโดนีเซีย ศรีลังกา และเมียนมาก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในส่วนของร้านอาหารไทยเองก็มีการเปิดตัวเมนูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ปูผัดผงกะหรี่ นอกเหนือจากเมนูยอดนิยมอย่างต้มยำกุ้ง แม้จะมีความท้าทายเฉพาะตัว เช่น การทำสัญญาเช่าพื้นที่และการขอวีซ่า เป็นต้น แต่การเติบโตของร้านอาหารเอเชียยังคงดำเนินต่อไป ตัวอย่างเช่น ร้าน “Banh Mi Xin Chao” ผู้นำกระแสแซนด์วิชเวียดนาม เปิดตัวสาขาแรกในปี 2559 และในปัจจุบันมี 20 สาขาพร้อมรถครัวเคลื่อนที่ ซึ่งผู้บริหารเชื่อว่ายังมีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก ดูเหมือนว่าร้านอาหารเอเชียได้หยั่งรากลึกลงในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นที่ได้รับตราสัญลักษณ์ “THAI SELECT” จากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย มีจำนวนถึง 198 ร้าน (สถิติ ณ เดือนกันยายน 2567) ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.4 เท่าจากปี 2562 ที่มีเพียง 141 ร้าน แม้ว่าร้านอาหารไทยที่ไม่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้จะมีจำนวนมากกว่า แต่ตามข้อมูลจากเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร Tabelog พบว่ามีร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นถึง 2,268 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้ มีทั้งร้านที่บริหารโดยคนญี่ปุ่นและร้านที่บริหารโดยคนไทย ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้การจ้างงานคนไทยในญี่ปุ่น อุปสงค์ต่อวัตถุดิบอาหารและสินค้าไทยขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นด้วย

 

ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 16 – 22 พฤศจิกายน 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567

jaJapanese