นโยบายของทรัมป์อาจช่วยฟื้นอุตสาหกรรมค้าปลีกสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: อดีตและว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ พูดในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ และบางครั้งก็ตั้งใจจริงในสิ่งที่เขาพูดไว้ เมื่อทราบถึงข้อเท็จจริงนี้ ทำไมผู้ค้าปลีกจำนวนมากจึงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากร? ทรัมป์อาจมาช่วยกู้วิกฤติในวงการค้าปลีกก็เป็นไปได้

ค่อนข้างจะแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมของผู้บริโภคในระยะสั้นจะต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัส แต่การเจรจาอาจจะได้ผล และในที่สุดอุตสาหกรรมค้าปลีกอาจจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นก็เป็นไปได้ หากว่าที่ประธานาธิบดีดำเนินการตามที่เขากล่าวไว้เรื่องภาษีศุลกากร ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น ยอดขายมีแนวโน้มจะลดลง และคงจะแย่หน่อยที่จำนวนตำแหน่งงานอาจต้องหดหายไปด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ทรัมป์แสดงจุดยืนแข็งกร้าวเกี่ยวกับภาษีศุลกากร แต่เป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือการทำ “ข้อตกลง” ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือใช้ “การค้า” เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการในประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ ในขณะที่เรารอคอยวันที่ 20 มกราคม คาดว่าความเจ็บปวดของวงการค้าปลีกน่าจะอยู่ในระดับที่เลวร้ายอย่างมาก (แต่อย่างน้อยก็เพียงระยะสั้นๆ)

มองในแง่บวก การเจรจาการค้าระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์กับจีนในระยะแรกที่ล้มเหลวไปในปี 2020 นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่ทันได้มีการเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง ข้อแก้ตัวก็คือ อดีตประธานาธิบดีในขณะนั้นกำลังหมกมุ่นอยู่กับการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างทุ่มเทสุดกำลัง ในช่วงที่กำลังเริ่มดำเนินการนั้น เศรษฐกิจก็ยังมาถูกถูกบดขยี้โดยการระบาดของโควิด-19 และทรัมป์ไม่มีเวลาพอที่จะ “ปรับแนวทางของข้อตกลง” (กับจีน) เพื่อดำเนินตามความพยายามนั้นจนเสร็จสิ้น สำหรับฝ่ายจีนเอง พวกเขาก็ไม่ได้ยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงระยะแรกดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่พวกเขาก็ยังได้มีส่วนร่วมในความพยายามครั้งนั้น (ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายยังคงฝากความหวังกับอนาคตกันอยู่ได้บ้าง)

หลังจากที่ทรัมป์ออกจากทำเนียบขาว รัฐบาลไบเดนเข้ามารับหน้าที่ดูแลการค้าระหว่างประเทศ และทำให้การค้ากับจีนและประเทศอื่นๆ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หากไม่นำความขัดแย้งทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและนโยบายหลายคนที่เชื่อว่า ไม่มีรัฐบาลใดในประวัติศาสตร์อันใกล้นี้ที่ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานชะลอตัวได้มากเท่ากับที่รัฐบาลของไบเดนทำไว้เลย วงการค้าปลีกติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในขณะที่โอกาสทางการค้าถูกทิ้งให้ล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง และหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า บรรดากลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ มีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดต่อการที่รัฐบาลกลางไม่ยอมตัดสินใจเชิงนโยบายในประเด็นที่อ่อนไหวเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้

ตลอดระยะเวลาสี่ปี ประธานาธิบดีไบเดนได้ทำให้การขยายตัวของการค้าสำหรับวงการค้าปลีกต้องหยุดชะงักลง หากการค้าปลีกไม่สามารถค้าขายได้ พวกเขาก็ไม่สามารถขยายกิจการได้ และพวกเขายังไม่สามารถปรับระบบห่วงโซ่อุปทานในช่วงเวลาที่รัฐบาลกลางกำลังทำให้การค้ากับจีนยิ่งยากขึ้นไปอีกได้ ในเดือนมีนาคม 2023 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกร็ก เมอร์ฟี (พรรครีพับลิกัน – รัฐนอร์ทแคโรไลนา) กล่าวกับแคเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ของประธานาธิบดีไบเดนว่า ในความเห็นส่วนตัวแล้ว เขาคิดว่าเธอเป็น “คนดีเกินไปสำหรับงานที่เธอทำอยู่” คำพูดดังกล่าวทำให้ท่านทูตไทรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก แต่ความล้มเหลวด้านการค้าได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว และทุกคนเริ่มตระหนักว่าการค้ากำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน

ความล้มเหลวด้านการค้าภายใต้ทีมไบเดน: 

เมื่อใกล้ถึงวันที่ 20 มกราคม พร้อมกับคำขู่ที่ชัดเจนเรื่องภาษีศุลกากรใหม่ที่กำลังจะถูกนำมาใช้ ทีมงานของทรัมป์จะมีท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้น เร่งเดินหน้าเร็วยิ่งขึ้น และมีความเข้มงวดในเรื่องการค้ามากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดนจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลล้มเหลวในการยกเลิกภาษีศุลกากรของทรัมป์ที่มีอยู่เดิม (ซึ่งทรัมป์อาจจะเพิ่มขึ้นและในที่สุดก็ยกเลิก) พวกเขาล้มเหลวในการต่ออายุโครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Generalized System of Preferences – GSP) ล้มเหลวในการทำข้อตกลงการค้าใหม่ ล้มเหลวในการต่ออายุโครงการ African Growth & Opportunity Act (AGOA) ก่อนหมดอายุ ล้มเหลวในการต่ออายุโครงการสำหรับเฮติ (HOPE/HELP) ก่อนหมดอายุ และยังล้มเหลวในโครงการด้านการค้าของตนเองที่เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ซึ่งถูกขัดขวางโดยวุฒิสมาชิกเชอร์รอด บราวน์ (พรรคเดโมแครต – โอไฮโอ) ซึ่งต่อมาก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมัยต่อมาของเขาเอง

ในสภาวะการค้าปลีกอันยากลำบากนี้ ผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะย้ายแหล่งผลิตออกจากจีนและลงทุนในสถานที่ใหม่อย่างเช่น เอธิโอเปีย ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพ แต่สิ่งที่สร้างความตะลึงให้กับวงการค้าปลีกก็คือ ทีมไบเดนได้ตัดสิทธิประโยชน์เรื่องการปลอดภาษีของโครงการ AGOA สำหรับเอธิโอเปีย ซึ่งทำให้ความพยายามในการกระจายแหล่งผลิตล้มเหลว และทำให้ผู้ค้าปลีกต้องสูญเสียเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในอนาคตของโครงการ AGOA ไปเลยอีกด้วย

ในอีกแง่หนึ่ง ทีมงานของไบเดนนั้นล้มเหลวในการผลักดันให้สภาคองเกรส (ตลอดระยะเวลาสี่ปี) ต่ออายุสิทธิประโยชน์โครงการ Generalized System of Preferences (GSP) ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าปลอดภาษีจากประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต่างพากันย้ายแหล่งผลิตสินค้าจากจีนไปยังประเทศที่มีสิทธิ์ในโครงการ GSP แต่แล้วในที่สุด ก็ต้องหันกลับไปซื้อสินค้าจากจีนกันอีกครั้ง (ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องสูญเสียเงินกันไปหลายล้านเหรียญสหรัฐ) ทีมงานของไบเดนยังคงพร่ำพูดถึงแต่โครงการ African Growth and Opportunity Act (AGOA) แต่กลับล้มเหลวในการต่ออายุให้เร็วพอ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนชะลอตัว (เนื่องจากความไม่ไว้วางใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นในเอธิโอเปีย) เมื่อแบรนด์และผู้ผลิตพยายามช่วยเหลือรัฐบาลไบเดนในแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการค้าของพวกเขาที่เรียกว่า IPEF ในที่สุดพวกเขาก็พบว่าความพยายามของพวกเขาเสียเปล่า เนื่องจากรัฐบาลไบเดนยุติโครงการนี้ก่อนที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียอีก

ผู้ค้าปลีกทราบถึงปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด และพวกเขายังเข้าใจว่า ท่านทูตไทเป็นตัวแทนหลักในทีมงานของไบเดน ด้วยภารกิจที่ (อาจจะ) ตั้งใจจะชะลอการค้าระหว่างประเทศให้เดินไปอย่างช้าๆ

ผู้ค้าปลีกเข้าใจเรื่องการใช้ห้องแสดงสินค้าที่ไม่มีหน้าต่างดี (เป็นแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมภายในห้างที่น่าดึงดูดใจจนลืมเวลาสนใจแต่สิ่งที่แสดงให้ชมภายในห้างฯ ไม่สนใจภายนอก):

สิ่งที่ยังคงน่าประหลาดใจสำหรับผู้ค้าปลีกคือ นักการเมืองในวอชิงตันหยิบเอาแนวคิดจากห้างสรรพสินค้าที่สร้างสภาพแวดล้อมไร้หน้าต่างมาใช้ การประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันไม่มีหน้าต่าง ห้องโต้วาทีสำหรับผู้สมัครไม่มีหน้าต่าง และการประชุมประชาชนในท้องถิ่นก็จัดขึ้นในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง นักการเมืองกลายเป็นเช่นเดียวกับนักออกแบบภาพลักษณ์ของห้างสรรพสินค้าชั้นดี โดยทุ่มเทไปกับการควบคุมภาพลักษณ์ที่สาธารณชนเห็น รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสนั้นขายรอยยิ้มและสถานะที่ดีขึ้นสำหรับชนชั้นกลาง ในขณะที่ทรัมป์ขายทางเลือกและความเป็นจริงของธุรกิจ ผู้สมัครที่ปกปิดผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศไม่ได้แก้ไขปัญหาใดๆ ให้ค้าปลีกเลย ทีมงานของไบเดนล้มเหลว และขณะนี้ถึงเวลาทรัมป์จะเข้ามาปะติดปะต่อชิ้นส่วนที่แตกเป็นชิ้นๆ ไปแล้วขึ้นมาใหม่

ประวัติศาสตร์ของวงการค้าปลีก: 

นักประวัติศาสตร์ด้านการค้าปลีกจะบันทึกไว้ว่าการค้าเริ่มต้นถูกทุบทำลายตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2015 เมื่อประชาชนธรรมดาที่ชื่อโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ เดินลงบันไดเลื่อนทองคำในทรัมป์ทาวเวอร์และกล่าวสุนทรพจน์ที่ทำให้วงการค้าปลีกและวงการเมืองกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในทันที

ทรัมป์เปิดฉากของตนในวงการเมืองด้วยด้วยประเด็นเรื่องผู้อพยพชาวเม็กซิกัน และต้องบันทึกเอาไว้เลยว่าบรรดาผู้ค้าปลีกได้พากันออกมาต่อต้าน โดย Macy’s ยืนขึ้นคัดค้านและหยุดซื้อสินค้าภายใต้แบรนด์ของทรัมป์ แล้วก็แน่นอนว่าต้องเผชิญกับการตอบโต้จากทรัมป์ Nordstrom เป็นรายถัดมาที่เดินตามแนวทางเดียวกัน (โดยไม่ต่ออายุสินค้าภายใต้แบรนด์ Ivanka Trump) แล้วก็ต้องเผชิญการตอบโต้เช่นกัน หลังจากการลงบันไดเลื่อนเพียงครั้งเดียว อุตสาหกรรมค้าปลีกก็ต้องเดินบนเส้นทางอันยากลำบากและยังคงเผชิญกับปัญหาจนถึงทุกวันนี้

ในระหว่างช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองต่างพากันออกมาหาเสียงเรื่องการลดราคาสินค้า ในขณะที่พวกเขาเองคือผู้ที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือไม่มีทางที่จะลดราคาสินค้าได้ด้วยการบิดเบือนระบบห่วงโซ่อุปทาน อเมริกาต้องการตลาดเสรีเพื่อให้เกิดราคาที่แข่งขันได้ และทรัมป์หวังที่จะทำข้อตกลงที่ดีกว่าสำหรับอเมริกาโดยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า “การค้าเสรีด้วยการต่อรอง” แนวคิดหลักที่จะให้มีการผลิตสินค้าขึ้นในสหรัฐอเมริกาเองให้มากขึ้น (หรือย้ายฐานการผลิตมาใกล้ๆ – Nearshoring) นั้น เป็นแนวคิดที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันใช้ได้กับสินค้าบางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่กับสินค้าทุกประเภท และนี่คือเหตุผลที่การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ความเป็นจริงของวงการค้าปลีก 

ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์พบว่า ระหว่างวาทกรรมที่เข้มงวด มักจะมีช่องทางสำหรับการเจรจาอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าอุปโภคบริโภคที่อ่อนนุ่ม (Consumer soft goods) ซึ่งก็แน่นอนว่าทรัมป์นั้น ไม่ได้ต้องการให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง เขาอาจนั่งบริหารโดยจินตนาการว่ามีหุ่นเชิดชื่อ “Tariff Man – นักโก่งภาษี” อยู่บนไหล่ข้างหนึ่ง และบนไหล่อีกข้างหนึ่งก็มีหุ่นเชิดชื่อ “Dow Man – นักลงทุน” โดยบางวัน “Tariff Man” ก็อาจเถียงแล้วชนะและอีกวันหนึ่ง “Dow Man” ก็เป็นผู้ชนะบ้าง

เมื่อภาษีศุลกากรถูกนำมาบังคับใช้ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ มีทั้งหมดสี่ระลอก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ สินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากยังไม่ได้รับผลกระทบหนักสักเท่าไรจนกระทั่งถึงระลอกที่สี่ (ซึ่งหลังจากนั้นถูกลดลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากข้อตกลงการค้าระยะแรก) ในช่วงเวลานั้นยังมีความสนใจที่จะปรับแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง de minimis (สินค้าเบ็ดเตล็ด) แต่ก็ด้วยเหตุที่มีการไหลเข้ามาของเฟนทานิลจำนวนมหาศาลสู่สหรัฐฯ โดยส่งตรงถึงผู้บริโภคทางไปรษณีย์ ซึ่งก็แน่นอนว่าทีมงานของไบเดนแทบจะไม่ได้ทำอะไรกับเรื่อง de minimis นี้เลย และในขณะนี้ บรรดาคลังสินค้าและตำแหน่งงานในวงการค้าปลีกก็กำลังย้ายออกไปดำเนินการนอกเขตพรมแดนของสหรัฐฯ เพื่อฉกฉวยโอกาสจากโครงการดังกล่าวนี้กัน โอกาสที่มอบให้ (ตามกฎหมาย) แด่ผู้ประกอบการที่ยินดีจะดำเนินกิจการด้วยการกระจายสินค้า (สู่มือผู้บริโภคโดยตรง) จากภายนอกเขตแดนของสหรัฐฯ

บทสรุป: 

โดยสรุปแล้ว ทรัมป์จะเริ่มต้นด้วยการบังคับใช้ภาษีศุลกากรและจากนั้นก็เจรจาต่อรอง อย่างน้อยที่สุด ก็จะยังมีความเคลื่อนไหวทางการค้าและปัญหาบางส่วนก็อาจได้รับการแก้ไข ซึ่งแตกต่างจากทีมงานของไบเดน ที่ไม่เคยเริ่มดำเนินการเรื่องสำคัญใดๆ และไม่มีสิ่งใดขยับเขยื้อนเลย ในระหว่างนี้ บรรดาผู้ค้าปลีกต่างกำลังพากันปรับระบบห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คำสั้นๆ สำหรับทั้งหมดนี้คือ มันอาจเป็นช่วง “เละเทะของวงการค้าปลีก” ไปสักระยะหนึ่ง

ดังเช่นที่ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการค้าปลีกอย่าง แซม วอลตันเคยกล่าวไว้ว่า “มีอยู่หลายๆ ครั้งที่โอกาสที่ดีที่สุดของเราเกิดขึ้นจากความจำเป็น”

เพื่อความอยู่ดีมีสุขของวงการค้าปลีก การไม่ทำอะไรเลยไม่เคยเป็นกลยุทธ์ที่ดี รัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาใหม่นี้ จะดำเนินการอะไรสักอย่างเสียทีอย่างแน่นอน แล้วทรัมป์อาจช่วยให้วงการค้าปลีกอยู่รอดก็เป็นไปได้

Caveat Emptor (ภาษาลาติน) หรือ ให้ผู้ซื้อพึงระมัดระวังกันเอง

บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ในบรรดาบทความและข่าวสารจากแหล่งอื่นๆ รวมถึงโดยผู้เขียนท่านอื่นในค่าย Forbes ด้วยกันทั้งหมด บทความนี้ดูเหมือนจะเป็นบทความเดียวที่มีกลิ่นอายของข่าวดีอยู่จางๆ พอให้รับรู้ได้บ้าง ในบทความอื่นๆ ล้วนแต่คาดการณ์ไปในทางลบ และมักจะเน้นถึงเรื่องค่าครองชีพในสหรัฐฯ ที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกมากอันเป็นผลกระทบมาจากการที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศไว้ว่าจะใช้ภาษีศุลกากรมาเป็นอาวุธเพื่อเข่นฆ่าบรรดาประเทศคู่ค้ารายใหญ่ๆ ทั้งหลาย เริ่มจากสหายสนิทที่สุดอย่างเม็กซิโกและแคนาดา ตลอดไปจนถึงจีนที่ถูกทำให้ชาวอเมริกันเห็นว่าเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจไปแล้วด้วย บางรายพูดไปถึงขั้นว่า สหรัฐฯ จะโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคมโลก และจะล่มสลายพังพาบไปในอีกไม่นานหลังทรัมป์กลับมา แต่บทความนี้ ดูเหมือนจะจับแนวทางการบริหารคู่เจรจาของทรัมป์ได้ค่อนข้างชัดเจนว่ากลยุทธในการต่อรองของทรัมป์นั้น ใช้วิธีทุบให้ลงไปกองกับพื้นเสียก่อน แล้วค่อยๆ ปัดฝุ่นให้แล้วจูงมือขึ้นมานั่งเจรจาไปลูบหลังไป ในขณะที่มีวาระอื่นๆ สอดแทรกเพิ่มสิ่งที่ตนต้องการเข้ามาในการเจรจาด้วย ในขณะที่ยังงงๆ อยู่นั่น เพื่อให้ตนอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าคู่เจรจาของตนในระหว่างการเจรจา แล้วมาตรการการใช้ค้อนเหล็ก (ภาษีศุลกากร) ทุบแหลกนั้น ก็จะเลิกไปหากการเจรจาสมประโยชน์ตามที่ตนตั้งใจไว้ได้ เพราะเท่าที่มีข่าวกระเซ็นกระสายมาบ้าง ก็ดูเหมือนจะยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าเป็นตามนั้นจริง โดยบรรดาคู่ค้าเป้าหมายของค้อนเหล็กรายแรกๆ ทั้งแคนาดาและเม็กซิโกต่างก็ไม่ได้รอจนถึงวันที่ทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีกันแล้ว เพราะได้เริ่มพยายามติดต่อขอเจรจาในเบื้องต้นกันไปบ้างแล้วเพื่อหวังจะเลี่ยงค้อนเหล็กกันแต่เนิ่นๆ แต่ก็เชื่อได้ว่า ความพยายามในการชิงเจรจาล่วงหน้าคงไม่มีผลเท่าไร เพราะค้อนที่เงื้อง่ามานานแล้ว ก็ยังคงต้องทุบลงไปจริงๆ เสียก่อนอยู่ดี ซึ่งดูเหมือนว่าทั้งสองประเทศอาจต้องเร่งเตรียมการหาทางแก้ปัญหาการอพยพเข้าสู่สหรัฐฯ ที่ผ่านเข้ามาทางประเทศของตน พร้อมหลักฐานว่าได้ลงมือดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว คาดหวังผลสำเร็จได้เพียงใด เพื่อใช้ในการเจรจาน่าจะช่วยให้ระยะมึนงงหลังโดนทุบสั้นลงมาได้บ้าง

หากเชื่อเช่นนี้ ภาครัฐของไทยก็น่าจะต้องเตรียมการเพื่อรับมือค้อนเหล็ก ซึ่งอาจจะเล็กกว่า และอาจต้องรื้อฟื้นอดีตจากการเจรจาต่อรองที่เคยทำกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ แล้ววิเคราะห์กันให้ถ่องแท้ว่า สิ่งที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะเรียกร้องจากประเทศไทยเพื่อแลกกับโอกาสทางการค้ากับสหรัฐฯ คืออะไร พอจะตอบสนองตามที่ต้องการได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และหากไม่ได้ จะมีทางเลือกอย่างอื่นที่สมน้ำสมเนื้อกันได้หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าบรรดาทีมงานที่ทำหน้าที่เจรจาระหว่างประเทศ สาขาสหรัฐฯ คงจะกำลังวิ่งวุ่นเตรียมหาข้อมูลเพื่อเตรียมการรับมือกันไว้แล้ว และคงต้องรอว่าค้อนเหล็กดังกล่าวจะหันมาทางประทศไทยเมื่อไร สหรัฐฯ ก็จะขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเมื่อนั้น ก็จะต้องพร้อมเจรจา พร้อมแจงหลักฐานให้เห็นว่าเราทำสิ่งที่เขาต้องการให้บ้างแล้วก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใดอย่างทันท่วงที เพื่อให้ระยะเวลาหลังถูกทุบสั้นที่สุดเช่นกัน

นโยบายของทรัมป์อาจช่วยฟื้นอุตสาหกรรมค้าปลีกสหรัฐฯ

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่เคยได้ประโยชน์จาก GSP ของสหรัฐฯ หลังได้อ่านบทความนี้ ก็อาจพอใจชื้นกันขึ้นมาได้บ้าง เพราะหนึ่งในความล้มเหลวของประธานาธิบดีไบเดน ก็คือการต่ออายุ GSP แต่เมื่อมาถึงมือประธานาธิบดีทรัมป์นั้นก็ยากจะคาดเดาว่าจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ประเทศไทยในฐานะคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในลำดับที่ 12 น่าจะต้องต่อคิวรอโดนทุบกันสักพักหลังรายใหญ่กว่าโดนกันไปแล้ว และหากทรัมป์ขึ้นภาษีแบบปูพรม โดนกันทุกประเทศเท่าๆ กัน ก็น่าจะแทบไม่กระทบถึงความสามารถในการแข่งขันระหว่างคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมดสักเท่าไร จะมีก็เพียงบางสินค้าที่แหล่งผลิตรายใหญ่ภายในสหรัฐฯ เองที่สามารถแข่งขันด้านราคากับแหล่งสินค้าภายนอกประเทศได้มาก่อนแล้วเท่านั้น ที่ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีศุลกากรแบบปูพรม ซึ่งสินค้าเหล่านั้นน่าจะมีเพียงไม่กี่รายการ และก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ไทยส่งไปแข่งขันด้วย สิ่งที่ควรระมัดระวังไว้ มากกว่าเรื่องกำแพงภาษีนั่นก็คือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่หลายฝ่ายต่างมองว่าอาจมีการผันผวนอาจแข็งค่าขึ้นไปอีก แม้จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อก็ตามที

การกำหนดอัตราภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎี การเพิ่มภาษีศุลกากรมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าจะนำไปสู่การลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะลดความต้องการในการใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้านำเข้า ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าของประเทศอื่นมายังสหรัฐยังจะเพิ่มความต้องการในการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อชำระภาษีศุลกากรหรือลดราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ในตลาดสหรัฐ ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยทั้งสองนี้

ต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมอัตราเงินเฟ้อจึงจะไม่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงโดยอัตโนมัตินั้น ก็พอจะอธิบายได้โดยพิจารณาถึงบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) และสถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลของภาษี ธนาคารกลางสหรัฐก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักมีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นไปอีก และจะช่วยรักษาค่าเงินไว้ได้หรือแม้กระทั่งทำให้แข็งค่าขึ้นในบางกรณี นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังมีสถานะพิเศษในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่หลายประเทศทั่วโลกพึ่งพาใช้ในการค้าและการเก็บสำรองเงินตรา ความต้องการในระดับสากลนี้ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินดอลลาร์ แม้ว่าในประเทศจะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อในระดับหนึ่งก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์จะพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ หากประเทศคู่ค้ามีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าหรือประสบปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง เงินดอลลาร์อาจยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบในเชิงสัมพัทธ์ ดังนั้น แม้อัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยที่โดยทั่วไปแล้วอาจลดทอนมูลค่าของเงินตรา แต่ในกรณีของเงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบาย เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลาง และความต้องการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในระดับโลก ยังคงสามารถสนับสนุนให้เงินดอลลาร์มีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องได้ในบางสถานการณ์

ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับลูกค้าในตลาดสหรัฐฯ พึงจะต้องระมัดระวังและควรเตรียมมาตรการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินสหรัฐที่เหมาะสมไว้ด้วย อย่างน้อยก็ในระยะแรกๆ ที่อาจมีหลายสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลทรัมป์เริ่มใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ในวงกว้าง

*********************************************************

ที่มา: Forbes
主題: “Biden Failed Retail Trade – Trump Could Save The Day”
โดย: Rick Helfenbein
สคต. ไมอามี /วันที่ 9 ธันวาคม 2567
jaJapanese