ปี 2050 น่าจะมีประชากรบนโลกเกือบ 10,000 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปัจจุบันประมาณ 2,000 ล้านคน และเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการอาหารก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) คาดการณ์ว่า ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เทียบกับปี 2010 ซึ่งภาคเกษตรกรรมจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่และเกษตรกรต้องตั้งรับกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กัน โดยจากการสำรวจของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, WEF) สภาพอากาศที่รุนแรงถือเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ได้ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ของโลก ในขณะที่ บางภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาฝนตกหนักและน้ำค้างแข็ง สภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพืชผลให้เสียหายมากขึ้น และมีศัตรูพืชระบาดมากขึ้นตามห่วงโซ่อุปทานที่เปราะบางอยู่แล้ว จึงต้องเผชิญกับความตึงเครียดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น่าเสียดายที่มักจะปรากฏชัดเจน และได้รับความสนใจเป็นพิเศษเฉพาะในช่วงวิกฤติเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อราคาขนมปังในอียิปต์พุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน และรุนแรง เป็นต้น

 

ปัจจุบันความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านอาหารของโลกไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งความจริงก็คือ เราไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างเพียงพอ จึงเป็นไปได้ที่เกษตรกรอาจถูกปล่อยทิ้งให้เผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่เพียงลำพัง โดยปัจจุบันปัญหาวิกฤตอาหารโลกได้รับความสนใจในวงอภิปรายสาธารณะน้อยเกินไป คำถามสำคัญยังคงอยู่ที่ว่า จะผลิตอาหารอย่างไรให้มีความยั่งยืน และมีกำไรมากขึ้นด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่น้อยลง และต้องรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กันกับรักษาสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กัน หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ดีก็คือ เกษตรกรรมแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ซึ่งใช้พื้นฐานบนความรู้ด้านเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรรมในปัจจุบัน โดยหัวใจหลักของเกษตรกรรมแบบฟื้นฟูอยู่ที่สุขภาพของดิน โดยจะมีการไถลดลง และดินจะถูกปกคลุมด้วยพืชหรือเศษซากพืชตลอดทั้งปี ซึ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินและวัชพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและสามารถกักเก็บน้ำ และกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ พืชที่ปลูกยังมีการหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ข้าวสาลี หรือข้าวโพดสามารถปลูกสลับกับพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลันเตา หรือถั่วเขียว ในขณะนี้ ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยก็จะถูกใช้น้อยลง โดยจะใช้เฉพาะบางวัตถุประสงค์เท่านั้น ตามการศึกษาวิจัยที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) เทคนิคการกักเก็บคาร์บอนในดินสามารถกักเก็บ CO2 ในดินได้มากถึง 8.6 พันล้านตัน/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 3% ทั่วโลก และเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการจราจรทางอากาศทั่วโลกเลยทีเดียว

 

ตัวผมเองก็เป็นเกษตรกรรุ่นที่ 5 ขณะนี้ฟาร์มครอบครัวของเราในรัฐอิลลินอยส์ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเปลี่ยนรูปแบบจากเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ดินของเราดูดซับน้ำมากขึ้น ปริมาณคาร์บอน ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ในดินก็เพิ่มขึ้น และเราสามารถลดการใช้ปุ๋ยและการพ่นยา โดยสรุปพื้นที่ทางการเกษตรของเราสามารถต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงได้มากขึ้น มีสถานะทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ดีขึ้น และเรายังมีส่วนในการสนับสนุนร่วมปกป้องสภาพภูมิอากาศโดยกักเก็บคาร์บอนในดินมากขึ้น แม้ว่าเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) จะมีศักยภาพ แต่เกษตรกรรมฟื้นฟูก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก การเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องอาศัยความชำนาญ เวลา ต้นทุน และที่สำคัญที่สุดคือ ความกล้าหาญ และความตั้งใจร่วมกัน แต่เราก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่น ในช่วงต้นปี 2015 องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนว่า ดินของเราสามารถให้ผลผลิตได้เพียง 60 ครั้งเท่านั้น ก่อนที่ระบบนิเวศจะพังทลายลง ภายในปี 2050 ดิน 90% ของโลกเราอาจจะเสื่อมโทรมได้ เราไม่มีเวลาที่จะเฝ้าดูการพัฒนานี้อย่างเฉยเมยอีกต่อไป เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องใช้การตัดสินใจของเราร่วมกันเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เกษตรกรรมที่ให้ประโยชน์แก่ดินของเราเท่า ๆ กับที่เอาออกไปจากดิน “เรา” ที่นี่ไม่ได้หมายถึงแค่เกษตรกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจนถึงผู้บริโภคปลายทางด้วย เราจะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ ปัญหาระดับโลกต้องมีการแก้ไขปัญหาในระดับโลก เราจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตอาหารระดับโลกได้โดยการร่วมมือกันเท่านั้น

 

บทความโดยนาย Jeff Rowe, CEO ของ Syngenta Group

 

จาก Handelsblatt 7 กุมภาพันธ์ 2568

jaJapanese