อินเดีย: ตลาดทุนแห่งแรกของโลกที่ฟื้นตัวจากผลกระทบนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกในอัตราที่สูงขึ้น โดยอ้างเหตุผลด้านการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งระงับการจัดเก็บภาษีนำเข้าที่มีอัตราเกินร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ ยกเว้นประเทศจีนซึ่งยังคงถูกจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 125 ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างต่อตลาดการเงินทั่วโลก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติของอินเดีย (National Stock Exchange: NSE) กลับแสดงสัญญาณเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ โดยดัชนี Nifty 50 ซึ่งเป็นดัชนีหลักของตลาดดังกล่าว ฟื้นตัวขึ้นถึงร้อยละ 2.4 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2568 ซึ่งส่งผลให้ระดับดัชนีกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การเรียกเก็บภาษี นับเป็นตลาดแรกของโลกที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์นี้ได้ภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์

ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของตลาดทุนอินเดีย

  1. ความแข็งแกร่งของฐานนักลงทุนภายในประเทศ

ด้วยโครงสร้างประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุนภายในประเทศมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของตลาดทุน โดยสามารถรองรับแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การดำเนินนโยบายต่างประเทศในรูปแบบประนีประนอม

รัฐบาลอินเดียเลือกใช้นโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอยู่ในช่วงท้ายของกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระดับโลก

  1. การจำกัดอิทธิพลของเงินทุนจากจีน

อินเดียได้ดำเนินนโยบายจำกัดการลงทุนจากจีนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนต่อเศรษฐกิจอินเดียนั้นอยู่ในระดับต่ำ

  1. การสนับสนุนจากธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI)

ภายหลังคำสั่งของสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในตลาดทุน

  1. สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก

ราคาน้ำมันที่ลดลงในตลาดโลกมีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก โดยช่วยลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงดุลบัญชีเดินสะพัด

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

จากการดำเนินนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อินเดียซึ่งมีจุดยืนที่ประนีประนอมและโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น จึงได้รับความสนใจในฐานะตลาดเป้าหมายการลงทุนระยะกลางถึงระยะยาว

ทั้งนี้ อินเดียยังมีโอกาสได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการที่ประเทศคู่แข่งบางประเทศเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่า ทำให้อินเดียมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ

อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของอินเดียอย่างใกล้ชิด รวมถึงความเคลื่อนไหวในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และใช้โอกาสจากสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งอ้างอิง

  1. NDTV. India Becomes First Stock Market Globally To Recover From Trump’s Tariff-Induced Losses. (2025). Retrieved from https://www.ndtv.com
  2. Bloomberg. Indian Markets First In World To Erase Losses Triggered By Trump Tariffs. (2025). Retrieved from https://www.ndtv.com
  3. CBS News. Trump announces 90-day pause on reciprocal tariffs except for China. (2025). Retrieved from https://www.cbsnews.com
jaJapanese