กำแพงภาษีศุลกากรที่นาย Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศใช้กับสินค้าเกือบทั้งหมดที่นำเข้าได้ส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยเป็นตัวเลขของสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ซึ่งจัดทำขึ้นให้แก่หนังสือพิมพ์ Handelsblatt เปิดเผยว่า เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงทั่วโลกจะลดลง 0.83% และความเสียหายที่เกิดกับเยอรมนีนั้นถือว่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็มีนัยสำคัญ เพราะภาษีศุลกากรดังกล่าว จะทำให้ GDP ที่แท้จริงของเยอรมนีลดลง 0.3% ในช่วงประมาณหนึ่งปี นั่นคือ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12.9 พันล้านยูโร (โดยประมาณ) ในขณะที่ สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ ของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ได้ประมาณการค่าความเสียหายไว้ที่ 0.3% ของ GDP ของประเทศเช่นกัน สำหรับ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญบางอย่าง อาทิ ยานยนต์ และวิศวกรรมเครื่องกล จะได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก ซึ่งนาย Clemens Fuest ประธาน Ifo กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ในช่วงภาวะซบเซาอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะตอกย้ำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงต่ำกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์”
ตามที่ผู้เชี่ยวชาญ Ifo กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังประสบปัญหาหลัก 3 ด้าน เพราะ (1) เยอรมนีจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง (2) เยอรมนีจะสามารถส่งออกสินค้าไปจีนได้น้อยลงเช่นกัน และ (3) เนื่องจากจีนจะต้องพึ่งพาตลาดส่งออกอื่น ๆ (นอกเหนือจากสหรัฐฯ) มากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทเยอรมันได้รับแรงกดดันในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการคำนวณของ Ifo ยังแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรมากเป็นพิเศษ โดยการเพิ่มมูลค่า (Value Added) จะลดลง 2.5% ในระยะสั้น และในขณะเดียวกัน อาจทำให้เกิดศักยภาพในภาคบริการและภาคเกษตรเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า การเพิ่มมูลค่า (Value Added) ในแต่ละภาคจะเพิ่มขึ้น 0.4% ตามข้อมูลของ Ifo แสดงให้เห็นต่อว่า เนื่องมาจากมาตรการด้านภาษีศุลกากรของทรัมป์ ได้ทำให้การส่งออกของเยอรมนีไปตลาดสหรัฐฯ อาจลดลง 21% ในขณะที่ การส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ก็ลดลงเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังจีนลดลงเกือบ 10% และไปเม็กซิโกและแคนาดาลดลง 5% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเยอรมนีเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักให้กับ จีน เม็กซิโก และแคนาดา ดังนั้นเยอรมนีจึงได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ก็ส่งสินค้าไปให้สหรัฐอเมริกาได้น้อยลงเช่นกัน
นอกจากนี้ การที่ทำเนียบขาวได้ระบุว่า ภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับ “ผู้กระทำผิดรายใหญ่” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นมา โดยนิยามของ “ผู้กระทำผิดรายใหญ่” หมายถึง (1) ประเทศที่มีเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง (2) มีการเก็บภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ และ (3) มีการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ด้วยการมาตรการกีดกันต่าง ซึ่งยนาย Trump สัญญาว่า การเรียกเก็บภาษีศุลกากรนี้จะสร้างรายได้ “หลายพันล้านดอลลาร์” ให้แก่สหรัฐฯ และนำไปสู่ “ยุคทอง” เพราะอาจเกิด การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลของ IfW จะเห็นว่า แผนดังกล่าวของ Trump จะออกดอกออกผลจริงได้จริงหรือ ? หรือจะสร้างความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดให้แก่สหรัฐฯ เองกันแน่? เนื่องมาจากภาษีศุลกากรดังกล่าว ในระยะสั้น GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ จะลดลง 1.69% นาย Julian Hinz นักเศรษฐศาสตร์ของ IfW และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Bielefeld กล่าวว่า “คนที่กำลังทำร้ายตัวเองหนักที่สุดในเวลานี้ คือ สหรัฐฯ เอง” ซึ่งคาดว่า น่าจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ขึ้น และน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะสินค้าหลายชนิดจะมีราคาแพงขึ้น เพราะผู้ค้าปลีกจะส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีศุลกากรให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ในหลายสินค้าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น ยกตัวอย่างเช่น หากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับเกลือ ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ด้วยการมาใช้พริกไทยแทนได้ แต่ถึงแม้ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะสามารถเปลี่ยนมาบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศแทนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาสินค้าชนิดนี้จะถูกลง การที่ผู้ผลิตมีการแข่งขันลดลงอาจเป็นโอกาสที่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ และสำหรับผลิตภัณฑ์บางรายการภาษีศุลกากรจะทำให้การนำเข้ามายังสหรัฐฯ ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นต้องซื้อเฉพาะสินค้าที่มีเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วภาคเอกชนของสหรัฐฯ ก็จะประสบปัญหาตามมา เพราะต้องซื้อสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากภาษีศุลกากร ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติของประเทศเสื่อมถอยลงซึ่งส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจการส่งออกในระยะยาว
ผลกระทบต่อราคาครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ตามการคำนวณของ IfW ในระยะสั้นดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI – consumer price index) ในสหรัฐฯ น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 7.3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้เพียง 2% กว่า ๆ เท่านั้น และเมื่อมีมาตรการตอบโต้ครั้งใหญ่จากประเทศต่างๆ ก็จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แย่อยู่แล้วมากขึ้น นาย Hinz กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ภาวะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ (reciprocity) แต่เป็นการทำร้ายตัวเอง” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการค้าเตือนว่า ผลกระทบต่อราคาในสหรัฐฯ จะมีมหาศาล และควรพิจารณาด้วยความระมัดระวังสูงสุด แต่ตอนนี้ก็มี “ทิศทางก็ชัดเจน” แสดงให้เห็น ในระดับโลกภาษีศุลกากรดังกล่าวจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ 0.71% อย่างไรก็ตาม จะทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากความต้องการจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดลง นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานว่า ผู้ส่งออกจะพยายามรักษายอดขายไปยังสหรัฐฯ โดยจะเสนอส่วนลด ตามที่นาย Robin Brooks จากสถาบัน Brookings Institute ในกรุงวอชิงตันกล่าว ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาษีศุลกากรทั่วโลกในขณะนี้ขึ้นอยู่กับจีนเป็นหลัก ในขณะที่ ระบบเศรษฐกิจตลาดโดยรวมผู้ส่งออกแต่ละรายจากประเทศอื่น ๆ อาจจะลดราคาสินค้าของตน แต่รัฐบาลในกรุงปักกิ่งกำลังพิจารณาลดค่าเงินของจีนลง ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ก่อน จากนั้นหากยังคงเกิดขึ้นต่อไป ก็จะแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา นาย Brooks เตือนว่า “จนถึงตอนนี้จีนยังคงสงวนท่าทีในการตัดสินใจอะไรในระดับนั้น ซึ่งตอนนี้จีนอาจจะทบทวนเรื่องดังกล่าวและปฏิบัติในทิศทางดังกล่าวได้”
จาก Handelsblatt 25 เมษายน 2568