สิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2568 ลงเหลือระหว่าง 0- 2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1-3% จากความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน   

  เศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว

     ในไตรมาสแรกของปี 2568 เศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัวลง 0.8% เมื่อปรับตามฤดูกาลและเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการเติบโต 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การหดตัวนี้เกิดจากการชะลอตัวในภาคการผลิตและบางภาคบริการ เช่น การเงินและการประกันภัย การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์

ทรัมป์ ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปที่ 10% สำหรับสินค้าทุกประเภท รวมถึงอัตราภาษีตอบโต้ที่สูงขึ้นสำหรับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก สิงคโปร์ซึ่งไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีพื้นฐาน 10% นี้

MTI ระบุอีกว่า แม้จะมีการชะลอการขึ้นภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นจีน) แต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงทวีความรุนแรง โดยทั้งสองฝ่ายยังคงตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

    MTI เตือนว่า สงครามภาษีที่ทวีความรุนแรงเป็นความเสี่ยงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ห่วงโซ่อุปทานถูกรบกวน ต้นทุนสูงขึ้น และความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงในระบบการเงินทั่วโลก

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2568 ภาคการผลิตของสิงคโปร์เติบโต 5% ลดลงจาก 7.4% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ขณะที่ ภาคการก่อสร้างขยายตัว 4.6% ภาคการค้าส่งและค้าปลีกรวมถึงภาคขนส่งเติบโต 4.2% ส่วนภาคบริการด้านข้อมูลและการสื่อสาร การเงินและประกันภัย ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 3% โดยรวมแล้วภาคบริการอื่นๆ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และบริการสนับสนุน คงที่อยู่ที่ 2.5% เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

     นาย Song Seng Wun ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจากบริษัท CGS International ระบุว่า สิงคโปร์มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งหมายถึงการหดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สองไตรมาสติดต่อกัน แต่สถานการณ์นี้ยังถือว่าดีกว่าการหดตัวตลอดทั้งปี ด้าน นาง Selina Ling หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร OCBC กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตของปี 2568 อาจอยู่ที่ประมาณ 1.6% ต่ำลงจากฐานสูงในปี 2567 อย่างไรก็ตาม นาย Brian Lee นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Maybank มองสถานการณ์ในแง่ดีกว่าเล็กน้อย โดยยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 2.1% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของ MTI โดยคาดว่าปัจจัยบวกจากการระงับภาษีของสหรัฐฯ การเบนทิศทางของการค้า และการเงิน รวมถึงมาตรการสนับสนุนทางการคลังภายในประเทศและการขยายตัวของภาคการก่อสร้างจะช่วยลดแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์

ธนาคารกลางสิงคโปร์ปรับนโยบายการเงินเพื่อรับมือ

เพื่อรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ถดถอย ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นครั้งที่สองในปีนี้  โดยปรับลดอัตราการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ (S$NEER) เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากความต้องการที่ลดลงและสภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว นอกจากนี้ MAS ยังปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 2568 ลงเหลือ 0.5-1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมอยู๋ที่ 1.5-2.5% และ 1-2% ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย Lawrence Wong ได้ยอมรับถึงความท้าทายที่เกิดจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเน้นว่า ในฐานะที่สิงคโปร์มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดกว้างจึงมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เขาได้กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้ยาก การลงทุนเปราะบาง และความร่วมมือระดับโลกถูกแบ่งแยก”

การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

นาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานเพื่อความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ (Economic Resilience Taskforce) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 8 คน จากภาครัฐ สมาคมธุรกิจ และสหภาพแรงงาน มีหน้าที่ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน และวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

 

     ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างชาติอย่างมาก จึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลฯ จึงได้ดำเนินการรับมือผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ และการปรับนโยบายทางการเงินให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมากเช่นเดียวกับสิงคโปร์ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนของห่วงโซ่อุปทาน และการย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่หากเกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทยโดยตรง ในระยะต่อไป รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินนโยบายที่สนับสนุนความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ เช่น การกระจายตลาดส่งออกใหม่ในภูมิภาค การเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานผ่านการ reskill และ upskill รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ: https://www.straitstimes.com/business/economy/spore-downgrades-gdp-forecast-for-2025-to-0-2-as-us-china-tariff-war-weighs-on-global-growth           https://britcham.org.sg/news/singapore-downgrades-2025-gdp-forecast-0-2-us-china-tariff-war-weighs-global-growth https://www.tnp.sg/news/spore-downgrades-gdp-forecast-0-2-us-china-tariff-war-weighs-global-growth?ref=section-top https://www.businesstimes.com.sg/singapore/singapore-slashes-2025-growth-forecast-0-2-q1-gdp-3-8-year-year https://sg.news.yahoo.com/pore-gdp-likely-sink-further-230100906.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAK7N_gCOzOEaaVEDE2Z4vipRaNa45RcsV2CXt6fRTPyb2PkuhvqAOlCptTnUHxZtMfctrpAGLkNCtzcWfJTy8EMEkL2jiEXZjC3B4wzgnTYxen550IwjhWb9eUTURJWYvZkWydIUpTfzy0Nm2NiGmlt61THF7apkinvHlwgrlPo

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/singapore-forms-economic-resilience-taskforce-amid-possible-tariff-induced-2025-04-16/

 

jaJapanese