Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี เปิดเผยว่า ภายใต้การนำของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ยูเออียังคงรักษาความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากรายงานล่าสุดขององค์การการค้าโลก (WTO) “World Trade Outlook and Statistics”
ยูเออีได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางการค้าชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 และยังคงครองอันดับหนึ่งในตะวันออกกลางและแอฟริกา (MENA) ทั้งในการค้าสินค้าและบริการ โดยการค้าบริการคิดเป็น 20% ของการค้าทั้งหมดของประเทศ
Dr. Thani ย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชน หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางการค้าของประเทศ นอกจากนี้ ตัวเลขเบื้องต้นยังแสดงให้เห็นว่าการค้าต่างประเทศในเดือนแรกของปี 2568 เติบโต 25%
ในปี 2567 ยูเออียังติดอันดับหนึ่งในผู้ส่งออกบริการดิจิทัลชั้นนำของโลก โดยภาคบริการ เช่น การเงิน ที่พัก ข้อมูล และการขนส่ง มีอัตราการเติบโตระหว่าง 9-14% สะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง
ภาพรวมการค้าโลกกับบทบาทของยูเออี
แม้รายงาน WTO คาดการณ์ว่าการค้าสินค้าทั่วโลกจะหดตัว 0.2% ในปี 2568 ก่อนจะฟื้นตัว 2.5% ในปี 2569 ขณะที่การค้าบริการยังเติบโตต่อเนื่องที่ 4% ในปี 2568 ยูเออียังคงสร้างสถิติใหม่ โดยยอดการค้าต่างประเทศในปี 2567 สูงถึง 1.42 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับปี 2564
ในปี 2567 ภาคการค้าโลกเติบโตเพียง 2.9% และภาคบริการ 6.8% สำหรับยูเออีกลับเติบโตโดดเด่นกว่ามาก โดยการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันแตะ 817.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 14.6% เทียบจากปี 2566 ส่วนการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันพุ่งขึ้น 27.6% สู่ 153.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม (CEPA) ภายใต้การนำของประธานาธิบดี H. H. Sheikh Mohamed bin Zayed Al Nahyan มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตนี้ โดยช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันกับประเทศคู่ค้าอีก 36.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อนหน้า และช่วยกระจายตลาดการค้าของยูเออี
ในปี 2567 การค้ากับ 10 ประเทศคู่ค้าหลักของยูเออี เพิ่มขึ้น 10% ขณะที่การค้ากับประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น 19.2% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทอง เครื่องประดับ บุหรี่ น้ำมัน อะลูมิเนียม ลวดทองแดง สิ่งพิมพ์ เงิน เหล็ก และน้ำหอม เพิ่มขึ้นรวม 36.8% จากปีก่อนหน้า การส่งออกต่อ (re-export) ในครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 94.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน และ 11.2% จากปี 2565 โดยมีคู่ค้าหลักตามลำดับมูลค่า เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อินเดีย สหรัฐฯ คูเวต กาตาร์ และคาซัคสถาน
นโยบายการลงทุนของประเทศ เช่น National Investment Strategy 2031 ตั้งเป้าให้ยูเออี เป็นศูนย์กลาง การลงทุนระดับโลก โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ดึงดูดบุคลากรชั้นนำ และสร้างนวัตกรรม โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สะสมเป็น 354.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยอดคงเหลือ FDI เป็น 600.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2574 และในปี 2567 มี FDI ไหลเข้ายูเออี หรือเพิ่มขึ้น 35% สู่ 30.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สวนทางกับแนวโน้มโลกที่ลดลง
Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและผู้ปกครองแห่งดูไบ ได้เน้นย้ำว่าความเปิดกว้างและการเชื่อมโยงคือหัวใจของความสำเร็จในการเป็นศูนย์กลางการค้าโลกของยูเออี
นอกจากนี้ นโยบายการลงทุนของประเทศ อย่าง National Investment Strategy 2031 ตั้งเป้าให้ยูเออี เป็นศูนย์กลางการลงทุนระดับโลก โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ดึงดูดบุคลากรชั้นนำ และสร้างนวัตกรรมโดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สะสมภายในปี 2031 เป็น 354.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 มีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าสู่ยูเออี เพิ่มขึ้น 35% สู่ 30.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สวนทางกับแนวโน้มโลกที่หดตัวลง
ผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าและการแข่งขันทางการค้า
ผลกระทบเชิงบวก
- การขยายข้อตกลง CEPA ช่วยให้ยูเออีเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ครอบคลุมประชากรกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก ลดผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทระดับโลก ทำให้ยูเออีเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ
- การกระจายเศรษฐกิจจากน้ำมันสู่ภาคบริการและเทคโนโลยี ทำให้ ยูเออี มีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของตลาดโลก
ผลกระทบเชิงลบและความท้าทาย
- ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและความต้องการสินค้าในตลาดโลก
- แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ด้วยการเติบโตที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยโลกของยูเออี แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้
การค้ากับประเทศไทย
การค้าระหว่างไทยกับยูเออีปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) รวม 4,293 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากถึง 64.9% แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไทยส่งออก 578 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.8% สินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง ปลากระป๋อง เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และข้าว และนำเข้ามูลค่า 3,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 82.1%) สินค้านำเข้าหลักรวมมูลค่า 3,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นน้ำมันดิบและทองคำ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันที่สูงมากถึง 95%
ความเห็นของสคต.ดูไบ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถรักษาความเป็นผู้นำทางการค้าและความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ข้อตกลง CEPA ที่เชื่อมโยงตลาดทั่วโลก และการกระจายเศรษฐกิจจากน้ำมันสู่ภาคใหม่ๆ ทำให้ยูเออียังคงเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งของโลก
โดยรวมแล้วการที่ยูเออีรักษาความเป็นผู้นำทางการค้าโลกได้นั้นถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่หลากหลายและการเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากความแข็งแกร่งของยูเออีในเวทีการค้าโลก