ปัจจุบันเริ่มมีการใช้พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น โดยมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่เพื่อทำเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ อาทิ ขวดแชมพู ขวดน้ำยาซักล้าง เป็นต้น โดยจะเห็นว่า สินค้ามียี่ห้อดัง ๆ อย่างเช่น Henkel (Persil, Pril) Beiersdorf (Nivea) หรือ Unilever (Dove, Axe) ต่างก็มุ่งมั่นปรับแผนการผลิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้นและตั้งเป้าที่จะใช้พลาสติกรีไซเคิลถึง 30% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ภายในปี 2025 อย่างไรก็ดีจากข้อมูลหนังสือพิมพ์ Handelsblatt เปิดเผยว่า “บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคส่วนใหญ่ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เนื่องจากปัจจุบัน Henkel สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้เพียง 16% หรือขายตัวได้เพียง 2% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่า Beiersdorf จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ถึงเท่าตัว แต่ก็เป็นพลาสติกรีไซเคิลเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ยังห่างไกลกับเป้าหมาย 30% เป็นอย่างมาก ผู้ผลิตเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่อย่าง L’Oréal สามารถขยายการใช้งานพลาสติกรีไซเคิลจาก 21% เป็น 26% ได้ แต่ก็ตั้งใจว่าจะใช้งานพลาสติกรีไซเคิลให้ได้ 50% ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
ด้านผู้ผลิตเครื่องสำอางต่าง ๆ อาจต้องเผชิญหน้ากับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะพลาสติกถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับสินค้าเครื่องสำอางมาอย่างช้านาน เนื่องจากสามารถรักษาคุณภาพสินค้าได้ดีกว่ากระดาษ และไม่แตกง่าย (เทียบกับแก้ว) แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในการผลิตพลาสติกขึ้นมาใหม่นั้นมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเพราะในการผลิตพลาสติก 1 ตัน ต้องใช้น้ำมันดิบมากถึง 2 ตัน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า มีการแพร่ภาพคลิปหรือภาพถ่ายของเศษพลาสติกจำนวนมากลอยเกลื่อนในท้องทะเล อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ออกมาประกาศท่าทีที่จะใช้งานพลาสติกรีไซเคิลให้มากขึ้น โดยนาง Sonja Bähr ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ของบริษัทให้คำปรึกษา Tilisco กล่าวว่า “มีบริษัทหรือผู้ประกอบการของเยอรมนีจำนวนมากที่ตั้งใจจะใช้งานบรรจุภัณฑ์ชนิดยั่งยืนมากขึ้น แต่พวกเขาก็คาดไม่ถึงว่าในทางปฏิบัติแล้วกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกมีต้นทุนสูงและซับซ้อน” สำหรับบริษัท Henkel ขณะนี้กำลังประสบปัญหานี้อยู่ โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา Henkel ได้ปล่อยผลิตภัณฑ์น้ำยาซักฟอกยี่ห้อ Persil ที่บรรจุในขวดพลาสติกรีไซเคิลออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว Henkel ตั้งใจปล่อยสินค้าตัวนี้ให้เร็วกว่านี้ แต่ก็ต้องล่าช้าเพราะต้องปรับสายการผลิต และขั้นตอนการบรรจุขวดใหม่ทั้งหมด จึงทำให้เสียเวลาไปมาก ด้านนาย Carsten Bertram ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ของ Henkel กล่าวว่า “พลาสติกรีไซเคิลมีคุณสมบัติแตกต่างจากพลาสติกใหม่ และทำให้เครื่องจักรจัดการได้ยากกว่าพลาสติกใหม่ ซึ่งเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตอัตโนมัติทั้งหมดได้ภายในวันเดียว” ในขณะเดียวกัน Henkel ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเครื่องจักรอีกด้วย ดังนั้น พอ Henkel ใช้พลาสติกรีไซเคิลกับสินค้ายี่ห้อ Persil นาย Bertram คาดการณ์ว่า “สัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิลของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแน่นอน” สำหรับบริษัท Beiersdorf ผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ Nivea ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน แต่อาจน้อยกว่า Henkel เพราะที่ผ่านมาบริษัท Beiersdorf ใช้วัสดุ/พลาสติดรีไซเคิลเพียง 10% เท่านั้น เนื่องจากพลาสติกหรือวัสดุรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูงเป็นสินค้าที่ค่อนข้างหายาก
สำหรับ นาย Reinhard Schneider เจ้าของบริษัท Werner & Mertz ผู้ผลิตน้ำยาทำความสะอาดยี่ห้อ Frosch เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ใช้พลาสติกรีไซเคิลกว่า 60% ในการผลิตสินค้า และตั้งใจจะใช้พลาสติกรีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในปี 2025 จุดสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ ก็เพราะบริษัทฯ ตั้งอยู่ในเมือง Main ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของโรงงานผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิล โดยพบว่า ขยะพลาสติกจากถังเหลืองเกินครึ่งถูกส่งมารีไซเคิลที่เมืองนี้ โดยนาย Schneider เริ่มใช้วัตถุดิบดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014 แล้ว และกล่าวว่า การที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลไปบรรจุครีมทาผิวหรือครีมอาบน้ำ ก็จะทำให้พลาสติกชิ้นนั้นไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มได้อีก ซึ่งบริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola ตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงเน้นใช้พลาสติกใหม่เท่านั้น ซึ่งนาย Schneider ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า “เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตใช้พลาสติกใหม่มากกว่าพลาสติกรีไซเคิล ก็เพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่า เพราะในขั้นตอนการผลิตพลาสติกรีไซเคิลจะต้องนำเศษพลาติกก่อนรีไซเคิลมาทำความสะอาดก่อนที่จะนำกลับไปหลอมใช้ใหม่ โดยพลาสติกรีไซเคิลจากขวด PET มีราคาอยู่ที่ตัวละ 2,000 ยูโร (โดยประมาณ) ในขณะที่พลาสติกใหม่มีราคาที่ 1,300 ยูโร (โดยประมาณ) ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคต่าง ๆ ก็ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตอยู่มากพอสมควร ทั้งจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ภายในปี 2030 สหภาพยุโรปสร้างแรงกดดันมากขึ้น โดยตั้งใจบังคับให้ผู้ผลิตต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วน 10 – 35% ของการผลิตสินค้า ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ น่าจะทยอยออกมาในช่วงฤดูร้อนนี้ อย่างไรก็ดี มีผู้ผลิตจำนวนมากที่ให้ความร่วมมือกับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี อาทิ บริษัท Procter & Gamble (Ariel, Head & Shoulders) ออกมาให้ความเห็นว่า “ปัญหากฎหมายที่เหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศสมาชิกของ EU บางทีอาจสร้างความขัดแย้งกันเอง และก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องได้” ดังนั้น เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดขึ้นได้จริง ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคแยกขยะไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อมีเศษอาหารติดกับพลาสติก พลาสติกดังกล่าวก็มักจะมีกลิ่นอาหารติดไปด้วยและทำให้รีไซเคิลยากขึ้นไปอีก ผู้ผลิตจึงพยายามที่จะแจ้งบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนว่า ควรที่จะแยกขยะอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งผู้ผลิตเองก็ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลง่ายด้วย เช่นกัน ใช้วัตถุดิบน้อย ใช้สีในการพิมพ์น้อย และไม่มีการนำฉลากที่ใหญ่เกินความจำเป็นมาติดบนพลาสติก โดยการใช้งานลายน้ำดิจิทัลก็ยังช่วยให้บริษัทรีไซเคิลสามารถคัดแยกขยะได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ผู้ผลิตก็ยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป แม้แต่ผู้นำอย่าง Werner & Mertz สินค้าของบริษัทก็สามารถนำมารีไซเคิลได้ 74% แต่บริษัทอย่าง L’Oréal หนักกว่าที่รีไซเคิลได้เพียง 40% แม้ว่าบริษัทตั้งใจจะทำให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025 ก็ตาม ซึ่งบริษัท L’Oréal ก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไม่ถึงเป็นเช่นนี้ ในเวลานี้บริษัทยกเลิกใช้งานฉลากที่ผสมเหล็กเพื่อที่จะทำให้สินค้าสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น บริษัท Unilever ออกมาโทษว่า หลาย ๆ ประเทศยังไม่มีระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพเหมือนกับในประเทศเยอรมนีทำให้การพัฒนาการใช้งานวัสดุรีไซเคิลยากขึ้น โดยในเยอรมนีสัดส่วนการรีไซเคิลอยู่ที่ 72% ในระหว่างที่อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 55% เท่านั้น สำหรับผู้เชี่ยวชาญอย่างนาย Joachim Christiani เห็นว่า คงเป็นไปได้ยากที่ในระยะสั้นผู้ผลิตจะสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้แบบ 100% นาย Christiani เป็นผู้บริหารหลักของบริษัทให้คำปรึกษา Cyclos-HTP ที่คอยให้คำปรึกษาบริษัทต่าง ๆ ในด้านดังกล่าวกล่าวว่า “ผู้ผลิตหลายรายพบว่า พวกเขาต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นเวลาหลายปีกว่าที่จะทำให้สามารถให้รีไซเคิลได้” เพราะในศูนย์รีไซเคิลบางแห่งก็ทำให้วัสดุถูกปนเปื้อน และบางแห่งก็บ้องกันอิทธิพลจากภายนอกไม่เพียงพอ หนึ่งในปัญหาในปัจจุบันก็คือ “บริษัทจำนวนมากใช้กระดาษมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความคิดให้กับผู้บริโภคว่ามีความยั่งยืนกว่าพลาสติก” แต่จริง ๆ แล้วกลับทำให้บรรจุภัณฑ์นี้รีไซเคิลได้ยากกว่าเดิม
จาก Handelsblatt 1 พฤษภาคม 2566
ベルリンの国際貿易促進オフィス