มาตรการจำกัดการออก L/C ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบังกลาเทศ

มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่รัฐบาลบังกลาเทศดำเนินการเพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สถิติจากธนาคารกลางบังกลาเทศบ่งบอกว่า ใน 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-66  (กรกฎาคม 65- เมษายน 66) การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ลดลงร้อยละ 27

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การลดลงของการเปิด L/C ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการหดตัวของการนำเข้าสินต้าเป็นอย่างมาก โดยคำสั่งซื้อ/การนำเข้าสินค้าที่ลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ เครื่องจักรกล และสินค้าขั้นกลางลดลงอย่างมาก

ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันการเปิด L/C ทั้งหมดอยู่ที่ 56.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.80 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเปิด L/C มูลค่า 76.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยมีรายละเอียดของข้อมูลสินค้าที่มีการเปิด LC ในช่วง 10 เดือนดังกล่าว ดังนี้ สินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 30.39 เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลดลงร้อยละ 56.91 วัตถุดิบใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 31.85 สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 18.19 เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ร้อยละ 45.59 และอื่นๆ ร้อยละ 19.53 โดยมีเพียงปัจจัยการผลิตซึ่งได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งราคาในตลาดโลกยังคงผันผวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.38

ผู้เชี่ยวชาญต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า  การเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอื่นในระยะที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในบังกลาเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศสูงขึ้น

Anwar-Ul Alam Chowdhury Pervez ประธานหอการค้าอุตสาหกรรมแห่งบังกลาเทศ (BCI) กล่าวว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อของประชาชนและส่งผลให้การบริโภคลดลง ซึ่งหากการบริโภคลดลง การผลิตก็จะลดลง และนักอุตสาหกรรมทั้งหลายย่อมรู้สึกไม่สบายใจที่จะขยายธุรกิจหรือนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า โดยเน้นว่า ในปัจจุบัน (21 พฤษภาคม 2566) สถานการณ์ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนลดลง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการยื่นขอสินเชื่อของภาคเอกชนเพื่อการขยายธุรกิจ สถิติของธนาคารกลางบังกลาเทศบ่งชี้ว่า การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนลดลงเหลือร้อยละ 12.03 ในเดือนมีนาคม 2566 ประธาน BCI เสนอแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตออก L/C ให้อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มการผลิตได้

กรรมการผู้จัดการของธนาคารพาณิชย์เอกชนแห่งหนึ่งกล่าวว่า คำสั่งซื้อนำเข้าที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ท่ามกลางความผันผวนอย่างมากของสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคทั้งในระดับโลกและในประเทศ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว นายธนาคารผู้นี้กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรที่มีอยู่แล้วในฐานอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากกว่าการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาท่ามกลางการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมนำเข้า

“นั่นเป็นสาเหตุที่คำสั่งซื้อเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลดลงอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จะไม่เพียงขัดขวางการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงการลดลงของการจ้างงานในระยะต่อไปอีกด้วย

นาย โมฮัมหมัด อาลี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Pubali Bank Limited กล่าวว่า สาเหตุสำคัญการชะลอตัวการลงทุนในเครื่องจักรกล เนื่องมาจากการชะลอตัวทุนของการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจบังกลาเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความตึงเครียดเนื่องจากวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนและการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ

โดยสถิติจากธนาคารกลางบังกลาเทศชี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 107.45 ตากาต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 87.50 ตากาต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ และทุนเงินตราต่างประเทศ ลดลงเหลือ 30.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 42.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

thThai