ตลาดชานมในจีนปัจจุบัน จะมีลักษณะบรรจุภัณฑ์และการจำหน่ายหลายรูปแบบ ได้แก่ ชานมแบบขวด แบบแก้ว แบบกล่อง/แบบถุง และแบบทำสดหน้าร้าน โดยชานม 3 รูปแบบแรก ผลิตจากโรงงานขนาดใหญ่ เป็นชานมดั้งเดิมที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ FMCG หรือ Fast Moving Consumer Goods (สินค้าประเภทที่คนทั่วไปต้องกินต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวันและมักจะเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป) และชานมทำสดที่เป็นเครื่องดื่มยามว่างที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

หลายปีที่ผ่านมานี้อุตสาหกรรมชานมของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันจีนมีบริษัทที่เกี่ยวกับชานมถึง 329,000 ราย ในที่นี้ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 98 เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายคิดว่าอุตสาหกรรมชานมเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนและเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดต่ำ ในขณะที่รูปแบบการทำกำไรค่อนข้างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงเลือกที่จะเปิดร้านชานมเป็นของตนเอง โดยคิดว่าเป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อย แต่ให้ผลกำไรสูง

สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผู้บริโภค ทำให้ขนาดของตลาดอุตสาหกรรมชานมจีนขยายตัวกว้างขวางขึ้น และในปัจจุบันผู้บริโภคชานมจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้บริโภควัยกลางคนถึงผู้สูงวัยเป็นผู้บริโภคคนหนุ่มสาวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคคนหนุ่มสาวที่ชอบดื่มชานมจะชอบลองชานมรสชาติใหม่ๆ ชอบชานมที่มีรสชาติหลากหลาย จึงส่งผลให้ขนาดของตลาดชานมขยายตัวกว้างขวางขึ้น อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น นโยบายสนับสนุนการลงทุน สิทธิประโยชน์ทางการเงินและภาษี เป็นต้น ทำให้อุตสาหกรรมชานมเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณากลุ่มผู้บริโภคชานมส่วนใหญ่พบว่าเป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 70 ในขณะที่ผู้บริโภคเพศชายครองสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 โดยพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือการเดินเล่นชอปปิงยามว่าง ผู้บริโภคเพศหญิงจะต้องซื้อชานมอย่างน้อย 1 แก้ว โดยหากไม่ดื่มแบบจริงจัง ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะถือไว้ตามแฟชั่น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคชานมที่พบว่าผู้บริโภคเพศหญิงร้อยละ 70 นิยมซื้อชานมอย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่าชานมได้รับการพัฒนาเป็นชารูปแบบใหม่มากขึ้น โดยพบว่ากลุ่มผู้บริโภคชารูปแบบใหม่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 1999 และปี ค.ศ.  2000 – 2009 ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มนี้ยินดีที่จะทดลองชาที่มีรสชาติแปลกใหม่

หลายปีที่ผ่านมานี้ ยอดขายชานมในจีนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี ค.ศ. 2018 มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท และล่าสุดในปี ค.ศ.​ 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท แสดงว่าให้เห็นว่าความต้องการตลาดชานมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

ชานมถือเป็นเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ชนิดหนึ่ง ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกดูดีและมีราคาถูก ซึ่งมีกลุ่มผู้บริโภคหลักเป็นคนหนุ่มสาว เช่น นักเรียน พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มก็มีรายได้ไม่เหมือนกัน ทำให้การเลือกซื้อชานมจึงมีความแตกต่างกันทางด้านราคา โดยในตลาดมีชานมราคาตั้งแต่หลักหน่วยถึงหลักสิบหยวน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการสำรวจผู้บริโภคในการเลือกซื้อชานมแต่ละราคา พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จะเลือกชานมที่มีราคาระหว่าง 15 – 25 หยวน หรือประมาณ 75 – 125 บาท ดังนั้น แบรนด์ชานมที่ต้องการขยายตลาดในจีนจึงได้กำหนดราคาชานมในแต่ละเมืองต่างกัน โดยชานมในเมืองระดับ 1 มีราคาเฉลี่ยประมาณ 25 หยวน หรือคิดเป็น 125 บาท ชานมในเมืองระดับ 2 มีราคาเฉลี่ยประมาณ 19 หยวน หรือคิดเป็น 95 บาท และราคาชานมในเมืองระดับ 3 มีราคาเฉลี่ยประมาณ 16 หยวน หรือคิดเป็น 80 บาท

เมื่อวิเคราะห์รูปแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมชานมจีน 2023 พบว่ามีผลสืบเนื่องมาจากความสามารถในการบริโภคของผู้บริโภคที่ถูกยกระดับให้ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่ดีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเครื่องดื่มชาสมัยใหม่รสชาติดีกว่าชาดั้งเดิม และมีตัวเลือกที่หลากหลายมากกว่า จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็พบว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ    จึงทำให้ชานมรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพและมีส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้ตลาดชานมของจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ถึงร้อยละ 20 และคาดว่าในปี ค.ศ. 2026 ตลาดเครื่องดื่มชานมแบบใหม่จะมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่มีความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ใส่ใจต่อการเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีการใช้ส่วนผสมของธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยด้านสุขภาพได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ของการยกระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้ง อุตสาหกรรมชานมรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนผสมที่ได้รับความนิยมในชานมก็คือนมจากพืช ที่กำลังเติบโตและกลายเป็นกระแสการบริโภคที่ร้อนแรงและมีการแข่งขันสูง จึงทำให้แบรนด์เครื่องดื่มชานมรูปใหม่จำนวนมากได้นำเอาส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น นมข้าวโอ๊ต น้ำกะทิ/น้ำมะพร้าว สมุนไพร และผลไม้ เข้ามาเป็นส่วนผสมทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ชานมถือเป็นเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ สะท้อนให้เห็นได้จากยอดจำหน่ายขานมในจีนที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบของชานมให้สามารถตอบสนองความต้องการกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย ดังนั้นตลาดชานมของจีนจึงเป็นอีกหนึ่งสาขาของตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีโอกาสและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่าน้ำมะพร้าวและน้ำกะทิได้รับความนิยมในการนำมาเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีนเป็นอย่างมาก และมีแบรนด์และแฟรนซ์ไชส์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมน้ำมะพร้าวและน้ำกะทิออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่ดังกล่าว ได้แก่ ผู้ผลิตน้ำมะพร้าวไทยพร้อมดื่ม ผู้ผลิตน้ำกะทิสำเร็จรูป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย ก็ยังสามารถประยุกต์ใช้สมุนไพรที่รับประทานได้ง่ายและมีกลิ่นหอมเข้ามาเป็นส่วนผสมของชานม เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ และลูกค้าวัยหนุ่มสาวที่เปิดรับรสชาติใหม่ๆ ได้ดี ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยยังควรใช้ช่องทางออนไลน์ในจีนให้เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ชานมไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ร้านค้าออฟไลน์ ร้านสะดวกซื้อ ในการจัดโปรโมชั่นหรือแนะนำสินค้าชานมสำเร็จรูปพร้อมดื่มให้สอดคล้องกับเทศกาลสำคัญของจีน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าร่วมกับ KOL ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายได้มากขึ้น เพื่อให้ชานมและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชานมที่ดีต่อสุขภาพของไทยสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การเข้ามาขยายตลาดชานมและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชานมที่ดีต่อสุขภาพเติบโตในตลาดจีนได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

แหล่งที่มา:  https://www.chinairn.com/news/20230516/11542461.shtml

https://www.chinairn.com/news/20230411/161840300.shtml

https://www.bilibili.com/read/cv23590716

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai