เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 สคต.ณ นครคุนหมิงได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “Mekong-Lancang Fruit Festival-Thailand Special Session” ที่หนานผิงสแควร์ ใจกลางนครคุนหมิง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่าง สคต. ณ นครคุนหมิงและกรมพาณิชย์มณฑลยูนนาน โดยสำนักเลขาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ข้ามพรมแดนล้านช้าง-แม่โขง ณ นครคุนหมิง สำนักงานพาณิชย์คุนหมิงและคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ยูนนาน โดยภายในงานนี้มีผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปจากไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 17 บริษัท โดยเป็นผู้ประกอบการไทยและจากสมาคมพืชสวนไทยจำนวน 8 บริษัท และผู้นำเข้าสินค้าผลไม้ในจีนจำนวน 9 บริษัท
กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการเจรจาธุรกิจและการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วย การร่วมมือกันในการขยายตลาดผลไม้ไทยในมณฑลยูนนาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล/ความรู้ด้ารการตลาด การเพาะปลูกการแปรรูป และการขนส่ง โดยบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวมีผลนับจากวันที่ลงนามจากทั้งสองฝ่าย และมีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี ซึ่งมีการลงนามร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้า
ผลไม้ในจีนรวมทั้งสิ้นจำนวน 9 คู่ การจัดแสดงสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ไทยจำนวน 20 คูหา และการทำ Live Streaming โดย KOL ที่มีชื่อเสียงในจีน โดยมีจำนวนผู้คนเข้าร่วมชมงานตลอด 3 วัน (12-14 พ.ค 2566) ประมาณ 100,000 คน คาดว่าจะมีมูลค่า
การสั่งซื้อภายในหนึ่งปีประมาณ 1,800,000 หยวน หรือประมาณ 9,000,000 บาท และมียอดซื้อขายทันทีภายในช่วงเวลาการจัดงานประมาณ 220,000 หยวน หรือประมาณ 1,100,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
ทั้งนี้ กิจกรรมครั้งนี้ได้เป็นการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวจีนในนครคุนหมิงมากยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสให้
ผู้ประกอบการชาวไทยได้มาทดลองตลาดจีนด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าผลไม้ได้เพิ่มมากขึ้น
ความคิดเห็นสคต.
สคต.คุนหมิงเห็นว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นงานแสดงสินค้าผลไม้รอบปฐมฤกษ์ที่ ภาคเอกชนไทยโดยสมาคมพืชสวนไทยได้นำชาวสวนและ
ผู้ส่งออกทุเรียนจากภูมิภาคต่างๆของไทยมาพบนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าจีนเป็นครั้งแรก เป็นเวทีให้มีการพูดคุยทำความรู้จักและแลกเปลี่ยน
ความเห็นในด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการผลไม้ไทยเข้ามาทดลองและสำรวจตลาดผลไม้ในมณฑลยูนนาน รวมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้และผลไม้แปรรูปของไทยในเชิงคุณภาพและรสชาติที่ยังคงความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวยูนนาน
*****************************************
แหล่งที่มา : https://swt.yn.gov.cn/articles/42140
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง