ผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าเส้นทางข้ามแปซิฟิกลดการยกเลิกเที่ยวเรือลงเมื่ออัตราค่าขนส่งเริ่มคงที่

เนื้อหาสาระข่าว: ในเดือนเมษายน ผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าตัดจำนวนเที่ยวเรือให้บริการแบบสุ่มในเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก [ตัดไป 46 เที่ยวหรือ 416,350 ตู้ขนาด 20 ฟุต (TEUs)] ตามกลยุทธเพื่อทำให้อัตราค่าระวางตามราคาตลาด (spot rate) สูงขึ้น แต่ในเดือนพฤษภาคม (ตัดไป 32 เที่ยวหรือ 285,655 TEUs) ผู้ให้บริการเรือขนส่งเปลี่ยนแผนโดยตัดจำนวนเที่ยวแบบสุ่มน้อยลง แต่หันมาใช้การกำหนดตารางเดินเรือที่แน่นอนแต่ยืดจากรายสัปดาห์มาเป็นรายสองสัปดาห์แทน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้การให้บริการมีตารางเวลาแน่นอนขึ้น แทนที่จะตัดจำนวนเที่ยวมากบ้างน้อยบ้างแบบที่ทำในเดือนก่อน ซึ่งการปรับนี้ทำให้อัตราค่าระวางตามราคาตลาดคงที่ขึ้น แต่ยังไม่อาจคาดหวังให้อัตราค่าระวางตามราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นจนกว่าระดับอุปสงค์ในตลาดจะดีขึ้นกว่านี้

ระดับอุปสงค์ของการนำเข้าสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีการปรับตัวลดลง (อย่างน้อยร้อยละ 30) ในทุกประเภทสินค้า ทำให้การปรับอัตราค่าระวางทั่วไป (GRI) ไร้ความหมายเพราะผู้ให้บริการเรือขนส่งต่างก็ต้องการที่จะคงอัตราการขยายตัวเอาไว้ แม้ว่าผู้ให้บริการฯ เหล่านี้จะสามารถกักเรือออกจากตลาดได้ด้วยกระแสเงินสดที่มีสำรองไว้นั้นมีอยู่มหาศาลก็ตาม แต่จำนวนเรือที่มีให้บริการในตลาดนั้นคาดว่าจะมีเกินความต้องการเพราะจะมีเรือใหม่ๆ ออกมาให้บริการตลอดไปจนถึงปี 2024 ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ให้บริการฯ อาจต้องยกเลิกเที่ยวเรือให้บริการในเส้นทางข้ามแปซิฟิกนี้ลงกว่าครึ่งหนึ่งของเที่ยวเรือที่มีให้บริการอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราค่าระวางเดินเรือตกลงไปกว่านี้อีก

อัตราค่าระวางเส้นทางแปซิฟิก

นักวิเคราะห์ต่างสำนักประเมินระดับอุปสงค์ของการค้าในครึ่งหลังปี 2023 ต่างกันไป ด้านหนึ่งคาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมปริมาณการขนส่งจะขยายตัวขึ้นเพราะจะเป็นช่วงที่มีการนำเข้าสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลปลายปีเข้ามา ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นห่วงว่าในสหรัฐฯ ผู้ค้าปลีกยังมีปัญหาในการระบายของออกจากคลังสินค้าได้ช้าเกินคาดจนมีสินค้าล้นคลังสินค้าอยู่ ดังนั้นช่วงดังกล่าวอาจไม่ได้มีการขยายตัวอย่างที่อีกฝ่ายคาดไว้ ผู้ใช้บริการขนส่งจึงมักฉวยเอาโอกาสต่อรองราคาในขณะที่อัตราค่าระวางตามราคาตลาดกำลังอ่อนไหวเพราะมีการแข่งขันกันให้ส่วนลดในระหว่างผู้ให้บริการฯ กันเองเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

บทวิเคราะห์: จากสถานการณ์ตามบทความข้างต้นพอจะวิเคราะห์ว่าผู้ใดจะได้ประโยชน์บ้างดังนี้:

  1. ผู้ใช้บริการที่ต้องการช่วงเวลาที่แน่นอน: การปรับลดจำนวนเที่ยวด้วยวิธีกำหนดตารางเดินเรือที่แน่นอน ที่สามารถวางแผนการขนส่งได้ง่ายกว่าไม่ติดขัดและได้รับผลกระทบน้อยกว่าวิธีการตัดเที่ยวเรือแบบสุ่มไม่แน่นอน
  2. ผู้ใช้บริการที่มีอำนาจต่อรองสูงพอ ได้แก่ ผู้ใช้บริการที่มีปริมาณการขนส่งจำนวนมากหรือผู้ที่มีสัญญาระยะยาว ถือเป็นโอกาสให้ต่อรองราคาให้ถูกลงได้ง่ายขึ้น ด้วยอัตราค่าระวางตามราคาตลาด (spot rate) ที่มีแนวโน้มคงที่และการแข่งขันรุนแรงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างผู้ให้บริการเรือขนส่งทำให้มีการตัดราคากันเอง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้
  3. ผู้ใช้บริการที่มีความยืดหยุ่นสูง: อาจปรับตารางเวลาการขนส่งสินค้าของตนให้สอดคล้องกับตารางการขนส่งที่แน่นอนขึ้นเป็นราย 2 สัปดาห์ ประโยชน์ที่จะได้คือโอกาสในการวางแผนการขนส่งที่มีกำหนดการแน่นอนขึ้นและสามารถหาพื้นที่ว่างสำหรับขนส่งสินค้าแน่นอนขึ้น

ในฝั่งผู้ให้บริการฯ ก็อาจต้องตัดราคากันเองเพื่อให้เที่ยวเดินเรือของตนแต่ละเที่ยวมีปริมาณสินค้ามากพอ ผู้ที่เคยทำสัญญาระยะยาวไว้กับลูกค้ารายใหญ่ ก็อาจต้องพิจารณาให้ส่วนลดพิเศษ ให้สอดคล้องกับอัตราค่าระวางตามราคาตลาดที่กำลังอ่อนตัว เพราะหากสัญญาระยะยาวที่ทำไว้มีอัตราที่สูงมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้บริการรายใหญ่จะหันไปหาคู่แข่งและเจรจาต่อรองราคาที่ดีกว่าในสัญญาระยะยาวดังกล่าวได้ ซึ่งการเสียลูกค้ารายใหญ่ในบางเที่ยว ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียลูกค้ารายใหญ่รายนั้นไปทั้งหมดได้หากไม่เร่งเข้าไปยื่นข้อเสนอพิเศษให้ทันท่วงที

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: สำหรับผู้ส่งออกที่ต้องใช้บริการเรือเดินสมุทรอย่างต่อเนื่องนั้น เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ ก็ควรพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ดังกล่าว

  1. ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการขนส่ง – ผู้ใช้บริการควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าระวางตามราคาตลาด ความเปลี่ยนแปลงของระดับอุปสงค์ของสินค้าที่ผลิตในตลาดเป้าหมาย และประกาศต่างๆ ของผู้ให้บริการฯ อยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์
  2. เจรจาต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุด – ผู้ที่มีการขนส่งเป็นประจำและปริมาณสูงต่อเนื่องอาจเป็นโอกาสที่จะเป็นฝ่ายรุก เรียกผู้ให้บริการฯ ในปัจจุบันให้มาเจรจายื่นข้อเสนอด้านราคาและเงื่อนไขที่ดีขึ้นได้
  3. วางแผนตารางการขนส่งที่ชัดเจนแน่นอนขึ้น – ผู้ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้บริการ การวางแผนการขนส่งให้แน่นอนขึ้นสอดคล้องกับตารางการเดินเรือที่ตนใช้อยู่ให้มีรูปแบบที่แน่นอนขึ้น อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ได้อัตราค่าบริการที่ดีขึ้นได้
  4. ขยายช่องทางการขนส่งสินค้าให้กว้างขึ้น – โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายใหญ่ อาจเป็นโอกาสที่จะใช้บริการของผู้ให้บริการรายใหม่ๆ ซึ่งอาจให้ข้อเสนอที่ดีขึ้นด้วยสภาวะการแข่งขันที่มีอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสกระจายความเสี่ยงในการขนส่งจากการผันผวนของพื้นที่ขนส่งและจำนวนเที่ยวเรือของผู้ให้บริการฯ อัตราค่าระวางที่มีการเปลี่ยนแปลง และอุปสรรคในการขนส่งอื่นๆ

โดยสรุปแล้ว ผู้ใช้บริการควรมีแผนการดำเนินงานเชิงรุก มีความยืดหยุ่นและควรติดตามความคืบหน้าของวงการต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบอุตสาหกรรมของตนเพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธในการดำเนินงานได้สอดคล้องกับสถานการณ์รอบตัวและสามารถคงประโยชน์สูงสุดสำหรับกิจการของตนได้

*********************************************************

ที่มา: S&P Journal of Commerce
เรื่อง: “Carriers pare blank sailings in May as ocean freight rates steady”
โดย: Michael Angell
สคต. ไมอามี /วันที่ 25 พฤษภาคม 2566
thThai