ความคืบหน้าความตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ความตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับออสเตรเลียและระหว่างสหราชอาณาจักรกับนิวซีแลนด์เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยบริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสหราชอาณาจักรต่างคาดหวังว่าความตกลงทางการค้าดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการส่งออกของสหราชอาณาจักรไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายหลังจากที่การส่งออกจากสหราชอาณาจักรไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีลดลงร้อยละ 13 และ ร้อยละ 11.5 ตามลำดับ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น วิสกี้ และ เหล้าจิน รวมทั้ง ขนมขบเคี้ยว และ ช็อกโกแลต มีการส่งออกลดลงมากที่สุด สืบเนื่องมากจากผู้บริโภครัดเข็มขัดมากขึ้นโดยซื้อเฉพาะสินค้าอาหารที่จำเป็นมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมขบเคี้ยว

สมาพันธ์อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Drink Federation: FDF) เห็นว่าการยกเลิกภาษีศุลกากรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้ากับทั้งสองประเทศจะเป็นการปลดล็อกโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ และการค้าดิจิทัล ตลอดจนวีซ่าทำงาน โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ชาวสหราชอาณาจักรจะสามารถขอวีซ่าพำนักในออสเตรเลียได้นานถึงสามปีโดยไม่ต้องผ่านข้อกำหนดเรื่องการทำงาน อย่างไรก็ดี FDF   เห็นว่าผู้ผลิตในสหราชอาณาจักรต้องมีแผนการในการเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างแข่งแกร่ง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีซัพพลายเออร์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง

ความตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเป็นข้อตกลงสำคัญฉบับแรกที่สหราชอาณาจักรได้ทำหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีความตกลงการค้าดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ประโยชน์มากกว่าที่สหราชอาณาจักรจะได้รับผลตอบแทนกลับมา โดยมีการประมาณการว่าความตกลงทางการค้ากับออสเตรเลียจะเพิ่ม GDP ของสหราชอาณาจักรเพียง 0.08 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,300 ล้านปอนด์ภายในปี 2578

ที่มา:  The Grocer และ The Guardian

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรได้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่เหลือซึ่งครอบคลุมร้อยละ 80 ของการค้าของสหราชอาณาจักรภายในสิ้นปี 2565 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ลงนามความตกลงทางการค้ากับ 71 ประเทศ ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าเดิมที่สหภาพยุโรปได้เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ และสหราชอาณาจักรได้มีการลงนามในความ ตกลงทางการค้าใหม่เพียง 4 ฉบับ กับประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

ในส่วนของไทยนั้น สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญจากการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้ารายสำคัญในอาเซียนของสหราชอาณาจักร โดยขณะนี้ไทยและสหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้ง Joint Economic and Trade Committee: JETCO ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการขยายธุรกิจการค้าระหว่างกันอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น ควรเตรียมความพร้อมและหาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าที่จะส่งออกมายังสหราชอาณาจักรต่อไป

                                      สรุปโดย สคต. ลอนดอน

thThai