ปากีสถานออกประกาศพิเศษอนุญาตการค้าแบบแลกเปลี่ยนกับอัฟกานิสถาน อิหร่าน และรัสเซีย

รายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รัฐบาลกลางปากีสถานได้ออกประกาศพิเศษ เรียกว่า Business-to-business (B2B) Barter Trade Mechanism 2023 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ระบุประเทศ รายการสินค้าและวิธีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่านและรัสเซีย

ด้วยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่แทบไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมการนำเข้าในหนึ่งเดือน รัฐบาลปากีสถานจึงพยายามที่จะจัดการกับการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและวิกฤตจากดุลการชำระเงิน รวมทั้งเพื่อควบคุมระดับอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบร้อยละ 38 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

คำสั่งของรัฐบาลดังกล่าวนี้ ระบุรายการสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่จะเข้าร่วมในกลไกการค้า และการแลกเปลี่ยนจะต้องได้รับการอนุมัติ

ไม่มีการยืนยันว่าจะชำระเงินอย่างไร

นายซาจิด อามิน รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปากีสถานสามารถใช้ประโยชน์โดยเฉพาะจากการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียและอิหร่าน โดยไม่ต้องเพิ่มอุปสงค์ต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ เขาเสริมว่าโอกาสในการแลกเปลี่ยนมีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์ที่ประเทศต่างๆ เผชิญ

“แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสกุลเงิน โดยเฉพาะจากชายแดนอัฟกานิสถาน แต่ก็สามารถกีดกันการลักลอบนำเข้าสินค้าจากอิหร่าน เช่น น้ำมันดีเซล และอัฟกานิสถาน ซึ่งกำลังทำร้ายเศรษฐกิจปากีสถานในขณะนี้” อามินกล่าวเสริม

หลังจากปากีสถานซื้อน้ำมันรัสเซียลดราคาครั้งแรกในเดือนเมษายน มูซาดิก มาลิก รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าปากีสถานจะซื้อเฉพาะน้ำมันดิบ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการกลั่นแล้วภายใต้ข้อตกลงนี้

ไม่มีการยืนยันว่าจะชำระเงินอย่างไร แต่มาลิกกล่าวว่าการซื้ออาจเพิ่มขึ้นถึง 100,000 บาร์เรลต่อวัน (bpd) หากการทำธุรกรรมครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่น

ในเดือนพฤษภาคม สมาคมผู้ค้าน้ำมันของปากีสถานร้องเรียนว่าน้ำมันดีเซลที่ขายในปากีสถานมากถึง 35% ถูกลักลอบนำเข้ามาจากอิหร่าน

รัฐบาลปากีสถานยังได้สั่งปราบปรามการลักลอบการส่ออกแป้ง ข้าวสาลี น้ำตาล และปุ๋ยไปยังอัฟกานิสถานด้วย

ชุมชนธุรกิจของปากีสถานยินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลง

ชุมชนธุรกิจของปากีสถานยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลในการอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับรัสเซีย อิหร่าน และอัฟกานิสถาน รายงานของผู้สังเกตการณ์ปากีสถาน

หอการค้าและอุตสาหกรรมละฮอร์ (Lahore Chamber of Commerce and Industry-LCCI ) ชื่นชมธนาคารกลางแห่งประเทศปากีสถานและกระทรวงพาณิชย์ที่ออกประกาศนี้ ที่จะส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาคและแบ่งเบาภาระการถือครองสำรองเงินตราต่างประเทศ

การจับคู่การนำเข้ากับการส่งออก

นาย Kashif Anwar ประธาน LCCI และผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ แสดงความหวังว่าการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียจะช่วยลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ภายใต้ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสินค้า จะปฏิบัติตามหลักการของ “การนำเข้าตามด้วยการส่งออก- “import followed by export” ” เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกมีมูลค่าเท่ากับสินค้านำเข้า แนวทางการค้านี้เปิดโอกาสให้ธุรกิจของปากีสถานส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ 26 รายการ ซึ่งรวมถึงนม ไข่ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และปลา ผลไม้และผัก ข้าว เกลือ ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องหนัง รองเท้า เหล็ก และสินค้ากีฬาไปยังอัฟกานิสถาน อิหร่าน และรัสเซีย

พร้อมกันนี้ ปากีสถานสามารถนำเข้าสินค้าหลายประเภท รวมถึงผลไม้ ผัก เครื่องเทศ แร่ธาตุ ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์ยาง ฝ้าย เมล็ดถั่ว ข้าวสาลี น้ำมันปิโตรเลียม ปุ๋ย พลาสติกและยาง โลหะ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรสิ่งทอจากประเทศเหล่านี้

เจ้าหน้าที่สำนักงาน LCCI กล่าวว่าการดำเนินการตามกลไกการค้าแบบแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจได้อย่างมากและจะทำให้เศรษฐกิจของปากีสถานมีเสถียรภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระเงินสำรองต่างประเทศ แก้ปัญหาวิกฤตดุลการชำระเงินของประเทศ ลดการพึ่งพาธุรกรรมสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และนำความโล่งใจที่จำเป็นอย่างมากมาสู่ธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวม

ธนาคารกลางแห่งประเทศปากีสถานอนุญาตให้ธนาคารรับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ จากตลาดระหว่างธนาคาร มาตรการระยะสั้นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดแรงกดดันต่อบริษัทแลกเปลี่ยนและช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง โดยจะยังคงมีผลจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม

ก่อนหน้านี้ ลูกค้าที่ทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้บัตรเครดิต/เดบิต (จำกัดไม่เกินวันละ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ) จะต้องใช้อัตราตลาดเปิดในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างอัตราระหว่างธนาคารและอัตราตลาด

โดยการอนุญาตให้ธนาคารซื้อเหรียญสหรัฐฯ จากตลาดระหว่างธนาคาร หนังสือเวียนฉบับนี้ได้ลดอัตราเงินเหรียญสหรัฐฯ ในตลาดเปิดอย่างมีประสิทธิภาพลง 20-25 รูปี ขั้นตอนนี้จะไม่เพียงลดต้นทุนของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารและตลาดอีกด้วย

ที่มา สำนักข่าวรอยเตอร์, กระทรวงพาณิชย์และธนาคารกลางปากีสถาน

เอกสารแนบ

thThai