หลังจากที่เกาหลีใต้ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2540 เกาหลีใต้จึงได้นำวัฒนธรรมมาเป็นสื่อหลักในการพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศ โดยกระแสของ Korean wave หรือ Hallyu ได้เริ่มเกิดขึ้นภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีคิมแดจุง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541-2546 โดยได้ผลักดันแผนนโยบายฟื้นฟูวัฒนธรรม ‘Hallyu Industry Support Development Plan’ ซึ่งใช้วัฒนธรรมเกาหลี ความเป็นเกาหลีควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ สินค้า และบริการเกาหลี และได้ผลดีอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
กระแสของ Korean wave ก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ จนทำให้ในปี 2565 จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ของ Brand Finance ระบุว่า เกาหลีอยู่อันดับที่ 12 ของโลกด้าน Soft Power
ซึ่งที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญกับสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมในประเทศเป็นอย่างมาก ผลักดันจนเกิดกระแส Hallyu หรือ Korean Wave ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อเพื่อความบันเทิง ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม อาหาร ภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมหลักที่เกาหลีใต้ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อเป็น Soft power มีดังนี้
- สื่อและความบันเทิง
Korean Wave มีการส่งออกละครที่มีชื่อเสียงมากมาย ที่เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ K-Drama เช่น Daejanggum, Autumn Fairy Tale, and Winter Sonata และได้พัฒนามาจนถึงวงการเพลง หรือ K-pop ที่มีศิลปินชื่อดังมากมายทั่วโลก เช่น Psy, EXO, BTS, Blackpink เป็นต้น โดยสื่อประเภท K-Pop เป็นประเภทที่ได้รับความสนใจมากที่สุดถึง 53.3% ตามมาด้วยซีรีย์เกาหลี 32.2%
ปรากฏการณ์ “BTS effect” ทำให้เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของสื่อเกาหลีที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ โดยทาง Forbes คาดการณ์ไว้ในปี 2561 ว่า วง BTS ได้เพิ่มมูลค่า GDP ให้เกาหลีใต้ 0.3% หรือ 4.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่า GDP ของบางประเทศ เช่น ฟิจิ มัลดีฟส์ และโทโก และการแสดงคอนเสิร์ตเพียง 3 วันก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 1 ล้านล้านวอน
จากการเริ่มต้นของการเผยแพร่สื่อในยุคแรกและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและ คอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบัน ผลงานของประเทศเกาหลี ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามบนแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix โดยพบว่าการลงทุนของ Netflix ในการผลิตเนื้อหาในเกาหลีได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศนี้แล้วเกือบ 5.6 ล้านล้านวอน (ระหว่างปี 2559-2563) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิ่งพิมพ์ เว็บตูน ดนตรี การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนช่วยสร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง โดยปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้มากถึง 2.3 ล้านล้านวอน ซึ่งรวมถึงผลงานอย่าง The Glory ที่ขึ้น Hashtag ติดต่อกันในทันทีเมื่อฉายภาค 2
- เครื่องสำอางและความงาม
จากกระแสความนิยมใน K-Wave ที่รวมถึงสื่อ ละคร ดารา นักร้องเกาหลีแล้ว ความนิยมเหล่านั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจใน K-Beauty เครื่องสำอางและสไตล์การแต่งหน้าแบบเกาหลี ที่จะมีความแตกต่างจากการแต่งหน้าแบบดาราฝั่งตะวันตก ในช่วงแรกจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฝั่งเอเชียแล้วจึงขยายไปทั่วโลก โดยในช่วงแรกหลายๆคนรู้จักตลาดความงามของเกาหลีใต้ผ่านวัฒนธรรม K-Pop เนื่องจากคนดังที่ตนชื่นชอบใช้สินค้าหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าดังกล่าว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นกว่า 700% ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 870% ซึ่งในปี 2563 มูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 6.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5.11 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส
ในปัจจุบัน ร้านขายยาและความงามกระแสหลักทั่วโลกอย่าง Sephora เริ่มวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามเกาหลี โดยในประเทศไทยเอง ก็สามารถซื้อได้ในร้านขายยาและความงาม เช่น Watson, Eveandboy, Beautrium เป็นต้น รวมทั้ง ด้วยความพร้อมมากขึ้นของแบรนด์เกาหลีในเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ การเข้าถึงของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจึงเติบโตขึ้น เกินกว่าจะเป็นแค่สินค้าสำหรับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบดาราหรือนักร้องเกาหลี
- อาหาร
เมื่อเสพสื่อจากประเทศเกาหลีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาหารเกาหลี หรือ K-Food ถูกสอดแทรกเข้าไปในทุกสื่อทั้งนำเสนอโดยตรงผ่านละครหรือจากการพูดถึงของดารานักร้อง ผู้รับชมสื่อจึงซึมซับวัฒนธรรมอาหารเกาหลีใต้มาโดยไม่รู้ตัว และเกิดความอยากรู้ในรสชาติ อาหารเกาหลีเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในปัจจุบัน มีอาหารเกาหลีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อและเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากมาย เช่น หมูสามชั้นย่าง ต็อกป็อกกี ไก่ทอด จาจังมยอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โซจูและกิมจิ เป็นต้น
ในปี 2564 การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและประมงของเกาหลีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 1.198 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น ต็อกปกกี เนื่องจากศิลปิน K-Pop แนะนำอาหารดังกล่าวบนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ได้รับกระแสจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ซึ่งมีฉากที่ตัวละครกินอาหารยอดนิยมอย่าง ‘จาปากูรี’ ที่เป็นการผสมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากบริษัท Nongshim ของเกาหลีใต้ หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย Nongshim เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 20 ประเทศ ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยวางจำหน่ายที่ Walmart และ Kroger ผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และสร้างยอดขายทั่วโลกรวม 3 หมื่นล้านวอน
ในส่วนของเมนูร้านอาหารพร้อมรับประทาน ไก่ทอด Golden Olive Chicken จากร้าน BBQ Fried Chicken ที่เป็นที่รู้จักจากซีรีย์ Crash Landing on You ก็เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปิดสาขาในต่างประเทศ 193 ร้านใน 17 ประเทศ
- การท่องเที่ยว
อิทธิพลของ Korean Wave จากภาพยนตร์ วงดนตรี ละคร รวมถึงความนิยมของตัวนักแสดงและนักร้องที่ได้รับความนิยมทั่วโลกได้ทำให้สถานที่ถ่ายทำซีรีย์ชื่อดังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและดึงดูด นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อีกทั้งยังทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เห็นหลายแง่มุมของประเทศผ่านสื่อบันเทิง เช่น ความปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ ความทันสมัยของเทคโนโลยี เป็นต้น ส่งผลให้ K-Travel ให้มีชื่อเสียงในทางที่ดีขึ้น
ในปี 2541 ช่วง Korean Wave กำลังเริ่มต้น จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่ม 4 เท่าจาก 300,000 คน และเพิ่มมาเป็น 11.8 ล้านคนในปี 2557 โดยในจำนวนของนักท่องเที่ยวเป็นคนเอเชียประมาณ 83.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้มีอิทธิพลต่อทวีปเอเชียเป็นอย่างมาก ด้วยการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติของเกาหลีใต้ที่คาดการณ์ไว้ ณ อัตรา 3.3% ต่อปี ซึ่งจะแตะ 1.8 พันล้านคนภายในปี 2030 รัฐบาลเกาหลีวางแผนที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 35 พันล้านเหรียญต่อปีภายในระยะเวลานั้น
อย่างไรก็ดี เราสามารถเห็นได้ว่า เกาหลีใช้สื่อและความบันเทิง (Content Business) เป็นตัวนำในการส่งออก Soft Power ตามข้อมูลของ Korea Creative Content Agency ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสื่อหรือ “K-Content” ซึ่งรวมอุตสาหกรรมเพลงเกาหลี ละคร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และเกม เป็น 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.42% จากปี 2564 ถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายยุน ซอกยอล มีแผนที่จะผลักดันสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ให้มีมูลค่าส่งออกถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570 และจะขยายการส่งออกไปอีกหลายประเทศ โดยประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้กล่าวว่า “ความนิยมต่อ K-content จากทั่วโลก ส่งผลต่อการเติบโตของขนาดการส่งออกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมูลค่าให้กับ K-content ด้วยการเชื่อมโยงกับแฟชั่น การท่องเที่ยว อาหาร และไอที”
กลยุทธ์เพื่อขยายอุตสาหกรรม K-content ผ่านหลักการ 3E
ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดของ K-content ไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งสื่อของเกาหลียังไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย โดยใช้หลักการ 3E ได้แก่
- Expansion
-
-
- รัฐบาลจะพยายามเพิ่มโอกาสในการเปิดทางให้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของเกาหลีในตลาด ต่างประเทศ เช่น การจัดงาน K-Content Expo ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในปีนี้
- กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะขยายศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) เพิ่ม 5 แห่ง เป็น 15 แห่งในปี 2566 เพื่อสนับสนุน การขยาย K-content ในต่างประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด นอกจากนี้ วางแผนที่จะร่วมกันส่งเสริมเนื้อหาเครื่องสำอาง และอาหาร ที่สอดคล้องกับกระแส Hallyu โดยการใช้ศูนย์ประชาสัมพันธ์ K-Brand Overseas Public Relations Center
-
- Extension
-
-
- รัฐบาลจะพยายามขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น การสนับสนุนการ์ตูนบนเว็บ บริการสตรีมมิ่งออนไลน์และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต
-
- Effect
-
-
- รัฐบาลจะต่อยอดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่มีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการส่งออก ของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สินค้าอาหาร แฟชั่น ความงาม เครื่องใช้ในบ้าน และไอที เช่น การเปิดเผยชื่อสินค้าที่อยู่ในสื่อบันเทิง หรือคอนเสิร์ตต่างๆ
-
นโยบายเกี่ยวข้องกับ Soft Power ในเกาหลีใต้
นโยบายเพื่อส่งเสริม Soft Power จากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ภายใต้รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกอบด้วย 6 หัวข้อหลักดังนี้
1. K-Content ตัวแปรสำคัญของการส่งออกเกาหลี
- รัฐบาลจะสนับสนุนทางการเงินสูงถึง 7.90 แสนล้านวอน เพื่อส่งเสริมตัวแทนของ K-Content ที่อยู่ในตลาดโลก เช่น K-Pop เกม ละคร ภาพยนตร์และเว็บตูน อย่างจริงจัง
-
- สนับสนุนบริษัทเกมที่ต้องการแข่งขันใน Console market ในอเมริกาเหนือ 9 พันล้านวอน และในยุโรป 7.2 พันล้านวอน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและกฎหมาย และการสนับสนุนด้านการตลาด
- วางแผนที่จะขยายอุตสาหกรรม K-Pop และเกมไปยังตะวันออกกลาง โดยจัดสรรงบประมาณ 5 พันล้านวอน เพื่อช่วยบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วมงานหรือจัดงานเทศกาล ดนตรีในต่างประเทศ
- ผลักดันสำนักพิมพ์เว็บตูนด้วยงบประมาณ 3.87 พันล้านวอน ในการเข้าร่วมงานเทศกาลต่างๆ งานแสดงสินค้าหนังสือ รวมถึงงานการ์ตูนนานาชาติ
- สนับสนุนภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลี โดยจัดสรรงบประมาณ 4.54 หมื่นล้านวอน เพื่อช่วยผู้ผลิต และแพลตฟอร์มต่างๆในการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา และ 3 หมื่นล้านวอนเพื่อสนับสนุน กระบวนการตัดต่อและปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ และ 1 หมื่นล้านวอนสำหรับบริษัทผู้ผลิตขนาดเล็กเพื่อขยายไปตลาดระดับโลก
-
- จัดตั้งระบบในการบริหารอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมด้วย กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการกิจการการสื่อสาร (KCC) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
- ระดมทุนด้านนโยบายการปกป้องลิขสิทธิ์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยุติธรรมให้กับทรัพย์สินทางปัญญา (IP)
- สนับสนุนสตาร์ทอัพและการร่วมลงทุน
- ขยายสาขาของหน่วยงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อไปยัง 15 แห่งในต่างประเทศ
- สนับสนุนการส่งออกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แฟชั่น สินค้าเพื่อความงาม ผ่าน K-Expo
2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2566
- ฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Visit Korea 2023/24 ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Tourism Organization) กำหนดจะจัดกิจกรรมต่างๆ และโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ใช้ K-Culture เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว รวมถึง การจัดงานลดราคาขนาดใหญ่ เทศกาลท่องเที่ยว และงานแสดงสินค้าต่างๆ
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เช่น ส่งเสริมให้เกาะเจจูเป็นเมืองท่องเที่ยวหรูระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจท้องถิ่น
- ส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบ
- จัดงานเทศกาล K-culture 100 งาน ใน 15 เมืองทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
- ใช้พื้นที่ของบลูเฮ้าส์หรือ Cheongwadae เป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ และประวัติศาสตร์สำหรับประชาชน
3. เพิ่มมูลค่ามรดกทางวัฒนธรรม
- เสริมสร้างศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะถึง 8 พันล้านวอน
- ขยายไปตลาดต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Korean literature distribution platform (KLWAVE) ผ่านการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้มีผู้เข้าถึงวรรณกรรมเกาหลีได้มากขึ้น
- บำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
-
4. ขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคโดยวัฒนธรรม
- กำหนดเมืองวัฒนธรรมในเกาหลีทั้งหมด 7 เมือง
- ให้การสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคที่มีโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรมน้อยกว่าพื้นที่อื่น เช่น จัดทำแผนส่งเสริมวัฒนธรรมระดับภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะต่างๆ และการส่งเสริมทาง ด้านภาษา
- สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรม ผ่านการลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่าธรรมเนียมการ แสดง ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ค่าสมัครหนังสือพิมพ์ การดูกีฬาและภาพยนตร์
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านสวัสดิการ เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้พิการ เช่น การสร้างห้องสมุดสำหรับผู้พิการและการสนับสนุนการแปลภาษามือ
5. การเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
- สร้างพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและศิลปะที่ปราศจากอุปสรรค สำหรับผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
- จัดกิจกรรมกีฬา E-Sports ครั้งแรกสำหรับผู้พิการ
- ฝึกอบรมความสามารถทางวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึง ส่งเสริมการแสดงงานศิลปะ ในต่างประเทศ
6. K-Sports
- เริ่มโครงการกระตุ้นให้ผู้คนออกกำลังกาย โดยสนับสนุนสูงสุด 5 หมื่นวอนให้กับ 1 หมื่นคน
- สนับสนุนการสร้างทีมกีฬาในโรงเรียน (20 โรงเรียน)
- ส่งเสริมกีฬาของเกาหลี เช่น มวยปล้ำเกาหลี (Ssireum)
นอกเหนือจาก 6 หัวข้อหลักแล้ว เกาหลีใต้ยังมีมาตรการและแนวทางเพิ่มเติม ดังนี้
มาตรการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ
- เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มีผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีถึง 78% ซึ่งถือเป็นแรงสำคัญที่ช่วยสามารถผลักดันอุตสาหกรรมให้มีความสร้างสรรค์ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีแผนที่จะสนับสนุนเงินทุนและนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ด้านกฎหมาย แรงงาน และการตลาด เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ
การนำเทคโนโลยี เช่น Metaverse และ AI มาใช้ประกอบ
- การพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต อย่างเช่น Metaverse และ AI เช่น “Chat GPT” ซึ่งได้รับความสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
- โดยภาครัฐจะลงทุน 134.9 พันล้านวอนในงบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ในวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวได้ อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้บริษัท Metaverse มากขึ้น โดย “K-Content Metaverse World” จะถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ K-content ผ่าน Metaverse เช่น เกมที่มีภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง คอนเสิร์ต และสถานที่ท่องเที่ยว
หน่วยงานภายใต้การส่งเสริมจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
รัฐบาลเกาหลี ได้กำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬาของเกาหลีอย่างครอบคลุม ประกอบด้วย
Korea Creative Content Agency (KOCCA)
-
- หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลและประสานงานการส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของเกาหลี ทำหน้าที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ K-Content ในตลาดโลก ผ่านการสนับสนุนในขั้นตอนการวางแผน การผลิต ช่องทางการเผยแพร่และร่วมลงทุน รวมถึงการโปรโมทไปยังต่างประเทศผ่านศูนย์ธุรกิจในประเทศต่างๆ ผ่านการจัดเทศกาลที่เกี่ยวกับ K-Content
Korea Tourism Organization (KTO)
- ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและให้ข้อมูล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงขยายการมีส่วนร่วมของคนในประเทศและชาวต่างชาติในการเดินทางท่องเที่ยวภายในเกาหลีผ่านโปรแกรมต่างๆ
Korea Cultural Heritage Foundation (KCHF)
- ถ่ายทอดและใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรม และดำเนินกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ วัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ เช่น โครงการสืบสานประเพณี การแสดงพื้นบ้าน นิทรรศการ เป็นต้น
Korea Sports Promotion Foundation
- ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬาและใช้สถานที่จากการจัด Olympics เพื่อประโยชน์อื่นต่อไป
Korean Culture and Information Service (KOCIS)
- KOCIS มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ เพื่อเน้นความสวยงามของประเทศเกาหลี รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศอื่น ๆ
- จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (KCC) 35 สาขาใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำ ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์กรทางด้านวัฒนธรรมของรัฐบาลไทย เพื่อจัดนิทรรศการ การแสดง รวมถึงการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี
- ผลิตและเผยแพร่วิดีโอประชาสัมพันธ์ประเทศเกาหลี และดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ด้วยการผลิตวิดีโอประชาสัมพันธ์ที่มีหลากหลายรูปแบบ
ผลที่คาดว่าจะได้รับในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซอกยอล (ภายในปี 2570)
- ศูนย์บริการธุรกิจในต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) จะขยายถึง 50 สาขา
- รัฐบาลคาดว่ายอดจำหน่าย (Total Sales) ของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 137 ล้านล้านวอนในปี 2564 เป็น 200 ล้านล้านวอน
- นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลจาก K-content คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีผู้ชื่นชอบกระแส K-Wave เพิ่มเป็น 360 ล้านคนทั่วโลก
- คาดว่าขนาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าจาก 108 ล้านล้านวอน เป็น 180 ล้านล้านวอน และจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก5 ล้านคน เพิ่มเป็น 30 ล้านคน
- จากนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรม คาดว่าจะขยายรายการมรดกโลกได้ถึง 65 แห่งและจะส่งผลดีต่อกระแส Korean wave การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของเกาหลีด้วย
- ขยายตลาดอุตสาหกรรมกีฬาจาก 5 ล้านล้านวอนถึง 100 ล้านล้านวอน
การร่วมมือกันระหว่างไทยและเกาหลีใต้
การขยายอิทธิพลของ K-Wave และ Soft Power ของเกาหลีใต้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนที่จะร่วมมือผ่านการลงทุนในการผลิตและการเผยแพร่สื่อบันเทิง เพื่อทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีสามารถมุ่งสู่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสดังกล่าวเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างดี ถือว่า Soft Power เป็นแรงสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้เติบโตขึ้นไป
สำหรับความร่วมมือกับไทย ก็ยังคงมีความร่วมมือระหว่างกันออกมาเรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน โดย Soft Power ของไทยมีชื่อเสียงในหลายด้าน เช่น เกม สื่อบันเทิง อาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับตลาดโลก โดยการร่วมมือระหว่างกัน เช่น การร่วมมือกันผลิตคอนเทนต์โดยใช้จุดเด่นจากทั้งสองประเทศมารวมกัน หรือการร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้าง New Industry ให้กับไทยได้ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการท่องเที่ยว เป็นต้น
อนึ่ง เกาหลีใต้ยังมีแผนที่จะจัดงานแสดงสินค้าและบริการ K-EXPO THAILAND 2023 ในเดือนตุลาคม 2566 ที่ประเทศไทยผ่านการดำเนินงานของ KOCCA ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อผลักดันการส่งเสริม K-Content ในต่างประเทศ จึงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยและเกาหลีใต้ในการร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังมีงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Busan Film Festival และงานเกมส์ G-Star ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมงาน และมีผลตอบรับที่ดี
ความเห็นสำนักงานฯ Soft Power มีความสำคัญ และเป็นตัว Drive ให้เกิดความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการ และเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งประเทศไทยมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้เป็น soft power ให้โดดเด่นได้ในหลายสินค้าและบริการ เช่น อาหารไทย นาฎศิลป์ไทย มวยไทย การนวดแผนไทย ผ้าไทย เครื่องหอมและสมุนไพรไทย งานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง รวมถึงการผลิตภาพยนตร์และซีรีย์ต่างๆ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในหลายประเทศ ควรที่จะสอดแทรกวัฒนธรรมไทย สินค้าและบริการไทยลงในคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าและบริการไทยไปสะดุดสายตาชาวโลกให้เพิ่มมากขึ้น
ในการส่งเสริมและพัฒนา Soft Power ในระยะแรก อาจจะต้องมีการลงทุนในการสร้างความรับรู้และภาพลักษณ์แก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยภาครัฐควรที่จะมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ในการส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดัน Soft Power ของไทย ให้ติดตลาดและเป็นกระแสสากล และเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถผลักดันสินค้าและบริการไทยได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป
*******************************
สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
12 มิถุนายน 2566
ที่มาข้อมูล:
- K-Content policies for national strategic industries, 2023.02.24. Ministry of Culture, Sports and Tourism
- Ministry of Culture, Sports and Tourism Business Plan, Ministry of Culture, Sports and Tourism