เศรษฐกิจแคนาดาส่งสัญญาณชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานเริ่มขยับสูงขึ้น (สคต.โทรอนโต)

เศรษฐกิจแคนาดาส่งสัญญาณชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานเริ่มขยับสูงขึ้น

หลังจากเศรษฐกิจแคนาดาฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดซึ่งขณะนั้นภาครัฐได้อัดฉีดเงินจากเข้าสู่เศรษฐกิจในปริมาณมหาศาล นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบที่มากเกินไปและส่งผลให้เศรษฐกิจแคนาดาต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อสูงในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกลางแคนาดาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.25 มาสู่ระดับร้อยละ 4.75 ในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 9 ครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งในที่สุด การใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเริ่มได้ผล โดยตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 (ประกาศเดือนมิถุนายน 2566) อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.2 เพิ่มจากร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อน เป็นสัญญาณจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแคนาดาต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง (ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น) แต่ภาคการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดี แต่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดได้สะท้อนจุดเปลี่ยน (Pivot Point) ที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจแคนาดาเริ่มชะลอตัว

เศรษฐกิจแคนาดาส่งสัญญาณชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานเริ่มขยับสูงขึ้น (สคต.โทรอนโต)

ตัวเลขการว่างงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดเข้าสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจแคนาดาในช่วงปีที่ผ่านมา มีความร้อนแรงในเรื่องของการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ อาทิ โรงแรม การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ได้ฟื้นตัวอย่างดีทำให้ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจดังกล่าวมีการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ส่งผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานมาทำงาน กดดันให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของบริโภค (อุปสงค์) ของภาคสินค้าและบริการยังคงแข็งแกร่งกว่าฝั่งอุปทาน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานล่าสุด บ่งชี้ว่าจำนวนของตำแหน่งงานประจำ (Full Time Position) ได้ปรับลดลง 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งการลดลงติดต่อกัน 2 เดือน ไม่เคยขึ้นมาก่อนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤตโควิด ซึ่งตำแหน่งงานที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจบริการที่การจ้างงานลดลง 40,000 ตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (Average Hourly Wage) ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ลดลงจากร้อยละ 5.2 ในเดือนเมษายน 2566 ที่บ่งบอกได้ว่าตลาดแรงงานเริ่มลดความร้อนแรงลง โดยนักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะสามารถหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่อาจต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2

เศรษฐกิจแคนาดาส่งสัญญาณชะลอตัวหลังจากอัตราการว่างงานเริ่มขยับสูงขึ้น (สคต.โทรอนโต)

ความเห็นของ สคต.

ความร้อนแรงของเศรษฐกิจแคนาดาหลังโควิด ได้ก่อปัญหาเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางแคนาดาต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 9 ครั้ง โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.75 เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อได้ลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่น อาทิ การบริโภค การจ้างงาน การลงทุนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางจึงอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่เมื่อตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน พฤษภาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สร้างปัญหาใหม่กับเศรษฐกิจแคนาดา ในเรื่องต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น อัตราหนี้เสียที่เริ่มสูงทั้งหนี้ครัวเรือน ที่มาจากหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้การกู้ยืมซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหนี้ภาคเอกชน กว่าที่แคนาดาจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้จะต้องแลกกับความเสี่ยงของการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่ยากจะประเมินได้ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด ระหว่าง Hard Landing (การถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง) หรือ Soft Landing (การถดถอยที่ไม่รุนแรง) ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เป็นดัชนีที่สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ในการคาดการณ์เศรษฐกิจในช่วงอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เพื่อปรับกลยุทธ์สินค้าให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

thThai