เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา U.S Bureau of Labor Statistics หรือกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่าอยู่ที่ระดับ 304.127เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากเดือนเมษายน หรือเพียง 4% จากปีก่อน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี นับแต่เดือนมีนาคม 2564 นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวม 10 ครั้งตลอดปี 2565 และ 2566 เพื่อลดระดับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ นั้น เริ่มที่จะเห็นผลแล้วในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงได้มีมติที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่ ในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการหยุดการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ทำให้ในปัจจุบัน ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 5-5.25% อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการในการประชุมขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดว่าอาจมีการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนหน้า และคาดว่ามีแนวโน้มสูงที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะขึ้นสูงไปถึง 5.6% ภายในสิ้นปี 2566 นี้
แม้ในภาพรวม อัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาแล้ว แต่ราคาสินค้าบางกลุ่มยังคงเพิ่มสูงอยู่มาก เช่น ราคารถยนต์และรถบรรทุกมือสอง (เพิ่มขึ้น 4.4%) ผักและผลไม้ (เพิ่มขึ้น 2%) เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ (เพิ่มขึ้น 0.7%) เสื้อผ้า (เพิ่มขึ้น 0.3%) สำหรับราคาของสินค้าที่ลดลงมาในเดือนพฤษภาคม เช่น รถยนต์ใหม่ (ลดลง 0.1%) ผลิตภัณฑ์จากนม (ลดลง 1.1%) เนื้อสัตว์ (ลดลง 1.2%) ค่าไฟและแก๊สในครัวเรือน (ลดลง 2.6%) น้ำมันเบนซิน (ลดลง 5.6%) และไข่ (13.8%) ซึ่งราคาลดลงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำหรับรถยนต์มือสองนั้น แม้ราคาจะชึ้นสูงที่สุดเทียบกับสินค้าในหมวดหมู่อื่นๆ ในเดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าราคาจะลดลงมาในเดือนมิถุนายนนี้ และตลอดครึ่งปีหลังของปี 2566 ทั้งนี้ราคาของรถยนต์มือสองในช่วงที่ผ่านมานั้น มีความผันผวนอย่างมาก และถึงแม้สัดส่วนของรถยนต์มือสองจะมีเพียง 3% ในการวัดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Index) แต่นับว่าการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์มือสองในสหรัฐฯ นั้นมีความผันผวนมาก ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือน
สำหรับสินค้าในหมวดหมู่อาหารนั้น จากการสำรวจโดย Morning Consult ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยด้านการตลาด ซึ่งสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกัน 2,200 คนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าความกังวลของผู้บริโภคต่อราคาสินค้าอาหารลดลงในเกือบทุกหมวดหมู่สินค้า อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาเนื้อสัตว์มากที่สุด โดยผู้บริโภคกว่า 42% ยังคงกังวลกับราคาเนื้อสัตว์ ตามด้วยผักและผลไม้ (37%) นม (36%) อาหารแห้ง (32%) เครื่องดื่ม (30%) และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (18%)
ในด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค จากข้อมูลของ Bank of America พบว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อน ทั้งนี้ หากจำแนกประเภทค่าใช้จ่าย พบว่าผู้บริโภคใช้จ่ายกับภาคบริภาคลดลงในเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มการใช้จ่ายในภาคสินค้าอุปโภค บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากปัจจัยราคาของสินค้าที่เริ่มลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ลดลงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากราคาสินค้าที่เริ่มลดลงอาจเป็นการเพิ่มการบริโภคในสหรัฐฯ และอุปสงค์ของสินค้าในภาครวม ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และมองหาโอกาสในการเจาะตลาดสหรัฐฯ ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ที่มา: Bloomberg/New York Times/Bank of America/Morning Consult
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก