ตลาดแฟชั่นสตรีทแวร์ในสหรัฐฯ
ตลาดสตรีทแวร์ทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่าถึง 187,582.90 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีมูลค่าถึง 230,877.25 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 3.52%
สตรีทแวร์เป็นหนึ่งในเทรนด์การค้าปลีกแฟชั่นที่สำคัญและทรงพลังที่มีความแตกต่างไปจากรูปแบบการค้าปลีกดั้งเดิม เพราะเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียไปยังกลุ่มลูกค้าเพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความต้องการซื้อสินค้าโดยตรงจากแบรนด์ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ โดยใช้กลยุทธ์เรื่องกำหนดเวลาขายระยะสั้น ปริมาณสินค้ามีจำนวนจำกัดมาช่วยกระตุ้นการซื้อและเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ซึ่งสตรีทแวร์ได้มีอิทธิพลอย่างมากในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผลักดันให้แบรนด์ที่มีชื่อเสียง แบรนด์หรูหราและแบรนด์กีฬาต่างๆ พยายามที่เข้ามาทำการตลาดผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
สตรีทแวร์แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ที่สำคัญ ดังนี้
1. กลุ่มแฟชั่น Hip Hop: กลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สไตล์สตรีทแวร์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดแฟชั่น ซึ่งวัฒนธรรม Hip Hop คือ หมวกเบสบอล กางเกงยีนส์ทรงหลวมๆ และเครื่องประดับระยิบระยับ และสไตล์ Hip Hop ย้อนยุค คือ รองเท้าหุ้มข้อและชุดวอร์ม
2. กลุ่ม Skatewear: วัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด เริ่มมาจากแคลิฟอร์เนียและได้แผ่ขยายความนิยมไปยังทั่วโลก โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากการแต่งกายของนักเล่นสเก็ตบอร์ดที่เน้นความสะดวกสบาย ง่ายต่อการสวมใส่ในทุกๆ วัน ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งการของนักสเก็ตบอร์ดที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เสื้อยืดกราฟิก หมวกเบสบอลและกางเกงขาสั้นขากว้างและรองเท้าสเก็ตอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง Vans แต่ยังคงเน้นความสบายเป็นหลัก ส่วนในฤดูหนาวจะเป็นเสื้อฮู้ด กางเกงทรงคาร์โก้ ผ้าสักหลาดและหมวกไหมพรม
3. กลุ่ม Techwear: เป็นเทรนด์แฟชั่นล้ำสมัยที่กำลังมาแรงเมื่อเร็วๆ โดยเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ประเภทนี้เน้นทั้งสไตล์และประโยชน์ใช้สอย เช่น เสื้อกั๊กทหารและกางเกงคาร์โก้ มีการตกแต่งให้ทันสมัยด้วยวัสดุที่หรูหราและใช้โทนสีร่วมสมัย แฟชั่นในกลุ่มนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดกีฬาและเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ส่งผลให้ techwear มีรูปร่างและวัสดุที่หลากหลาย ตลอดจนมีการผสมผสานเทคนิคชั้นสูง ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างสูง มักจะพบมากในร้านค้าปลีกกีฬาชั้นนำ เช่น Nike และ Adidas เป็นต้น
4. กลุ่ม High Fashion: สตรีทแวร์ High Fashion หรือบางครั้งเรียกว่า Hypebeast ปัจจุบันเป็นเทรนด์สตรีทแวร์ที่ได้รับความนิยมและสำคัญที่สุด โดยอาศัยแรงหนุนจากกลุ่มดาราฮิปฮอป โดยเครื่องแต่งกายที่มีโลโก้ของดีไซเนอร์ผสมผสานกับเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์แบบดั้งเดิมจะช่วยแสดงออกถึงรูปลักษณ์นี้ได้อย่างทรงพลัง โดยแบรนด์หรูหราชั้นนำ อาทิ Gucci และ Prada นับเป็นแบรนด์รุ่นแรกๆ ในการบุกเบิกวงการสตรีทแวร์และมีการนำมาจัดแสดงบนเวทีเดินแบบ นอกจากนี้ แบรนด์สตรีทแวร์หรูราคาย่อมเยาอย่างแบรนด์ Palace หรือ Supreme ก็เป็นที่นิยม
5. กลุ่ม Athleisure: กลุ่ม Athleisure เป็นกลุ่มใหม่ของไลน์เสื้อผ้าสไตล์สตรีทแวร์ กลุ่มนี้อาศัยแรงบันดาลใจจากการเล่นกีฬา โดยแฟชั่นในกลุ่มนี้จะเป็นชุดกีฬาลำลอง เสื้อยืด เสื้อสเวตเตอร์ เสื้อกั๊ก กางเกงขาสั้น หมวกแก๊ป การเกงวอร์ม กางเกงโยคะ กระเป๋าเครื่องกีฬาและเครื่องประดับที่ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากกีฬาต่างๆ
จากข้อมูลของบริษัท PwC Strategy& ได้มีการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคทั่วโลก จำนวน 40,000 ราย เกี่ยวกับการซื้อสินค้าสตรีทแวร์ พบว่า
- 60% ของผู้บริโภคที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี นิยมซื้อสินค้าสตรีทแวร์
- 70% ของผู้บริโภคที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐ
- 56% ของผู้บริโภคซื้อสินค้าสตรีทแวร์ ซื้อสินค้าเฉลี่ย 100-300 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อครั้ง ตามข้อมูลของบริษัท Edited ระบุว่าผู้หญิงนิยมซื้อรองเท้าเป็นอันดับต้น รองลงมาคือเสื้อและกางเกงตามลำดับ ส่วนผู้ชายนิยมซื้อเสื้อเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ รองเท้าและกางเกง
- 53% ของผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าสตรีทแวร์ที่ร้าน และ 42% นิยมซื้อสินนิยมซื้อสินค้าสตรีทแวร์ออนไลน์
- 70% ของผู้บริโภคนิยมแบรนด์ที่มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม
- 84% ของผู้บริโภค ซื้อสินค้าสตรีทแวร์โดยอาศัยข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ซึ่ง 65% มาจากผู้ทรงอิทธิพลที่เป็นนักร้อง นักดนตรี และ 32% มาจาก Influencer ในสื่อออนไลน์ทั่วไป
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อสินค้าสตรีทแวร์ คือ Instragram และ Facebook
เทรนด์สตรีทแวร์ที่มาแรงในปี 2566 ได้แก่ กางเกงขายาวที่มีขาขนาดใหญ่ กระโปงยาว เสื้อแจ็กเก็ตที่มีขนาดใหญ่ เสื้อแจ๊กเก็ตสไตล์นักขับรถมอร์เตอร์ไซต์ เสื้อที่มีขนฟูและเสื้อนักกีฬาฟุตบอล
เวปไซต์ที่จำหน่ายสินค้าสตรีทแวร์ยอดนิยม ได้แก่
Union Los Angeles www.store.unionlosangeles.com
Slam Jam Socialism www.slamjamsocialism.com
HAVEN www.havenshop.com
Nomad www.nomadshop.net
Goodhood www.goodhoodstore.com
KITH www.kith.com
RSVP Gallery www.rsvpgallery.com
แนวทางในการเจาะตลาดสินค้าสตรีทแวร์
1. แบรนด์ควรสร้างเครือข่ายและพันธมิตรกับผู้สร้างเนื้อหาทางออนไลน์ (content creator) เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักในสินค้าและแบรนด์ โดยเน้นการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
2. วางแผนการโปรโมทสินค้าโดยผ่านรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเน้นการเสนอการนำสินค้าไปใช้ในไลฟ์สไตล์ต่างๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการมุ่งเน้นการขายสินค้าโดยตรงอย่างชัดเจน
3. นำเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างการรับรู้และความสัมพันธ์อันดีกับผู้ซื้อในระยะยาว
4. สร้างประสบการณ์การค้าปลีกเพื่อเชื่อมต่อกับผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ เพื่อสร้างความผูกพันและรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น กระแสย้อนยุค Y2K หรือกระแสนักร้องและวงดนตรี เป็นต้น
โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสตรีทแวร์
1. สินค้าไทยในกลุ่มสตรีทแวร์ยังมีไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามพบว่าสินค้าไทยกลุ่มสตรีทแวร์นั้นมีการออกแบบที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น น่าจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อในตลาดสหรัฐฯ ได้
2. สคต. นิวยอร์ก ได้รวบรวมข้อมูลและได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญในตลาดสตรีทแวร์ถึงความเป็นไปได้ในการเจาะตลาดดังกล่าว โดยอาจจะเป็นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เมืองบรู้คลิ้น นครนิวยอร์ก หรือเปิดร้านค้าชั่วคราว (Pop Up store) ที่ย่าน SOHO ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ซื้อสินค้าสตรีทแวร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาทดลองตลาดและเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
3. จุดอ่อนของแบรนด์ไทยสายสตรีทแวร์ คือ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากแบรนด์ไทยได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าแฟชั่นที่เน้นการออกแบบ เช่น งาน Coterie (https://coteriefashionevents.com/) งาน Designers and Agents (https://designersandagents.com/) หรือ งาน Agenda (https://www.agendashow.com/) น่าจะช่วยสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อและทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก