ปัจจุบันขยะแก้วกาแฟชนิดใช้แล้วทิ้งที่กลายเป็นขยะฝังกลบมีจำนวนสูงถึง 2.7 ล้านชิ้นในแต่ละวัน อีกทั้ง ผู้ดื่มกาแฟได้เพิ่มความกดดันให้กับผู้จำหน่ายกาแฟแบรนด์มีชื่อเสียงหลายรายให้มีการกำหนดนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ Starbucks มีแคมเปญกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้แก้ว Reusable และตั้งเป้าลดขยะแก้วกาแฟให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ในขณะที่ McDonald เริ่มทดลองใช้และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) เพิ่มมากขึ้น

บริษัท Good-Edi (บริษัท Start-up นครเมลเบิร์น ก่อตั้งโดย Catherine Hutchins และ Aniyo Rahebi ซึ่งมีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและพัฒนาบรรจุภัณฑ์นานกว่า 20 ปี) เล็งเห็นปัญหาขยะแก้วกาแฟที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเนื่องจากความนิยมดื่มกาแฟของชาวออสเตรเลีย และควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบแต่ยังคงตอบสนองรูปแบบ Lifestyle ของชาวออสเตรเลีย จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาแก้วกาแฟที่สามารถรับประทานได้ขึ้น (Edible coffee cup) ที่สามารถย่อยสลายได้และ Plastic-free เพื่อเป็นแก้วทางเลือกทดแทนแก้วกระดาษที่เคลือบด้านในด้วยพลาสติก polyethylene (PE) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะแก้วกาแฟที่มีมากในแต่ละวัน

ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัท Good-Edi มีเงินระดมทุนมูลค่า 148,000 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 3.6 ล้านบาท) ในการพัฒนาและผลิตแก้วกาแฟ Edible coffee ที่ทำจากแป้งไรย์ รำข้าวสาลี รำข้าวโอ๊ต น้ำตาล เกลือ น้ำมันมะพร้าวและน้ำ มีคุณสมบัติในการรองรับกาแฟร้อนได้นานกว่า 40 นาทีและเครื่องดื่มเย็นได้นานถึง 8 ชั่งโมงและยังรักษาความกรอบไว้ได้หลังดื่มกาแฟหมด แก้วจะมีรสชาติคล้ายกับบิสกิตที่ทำจากข้าวสาลีแต่ไม่มีรสชาติหวานเพื่อรักษารสชาติกาแฟในแก้ว แก้วกาแฟ Good-Edi สามารถบรรจุเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น เช่น กาแฟ ชา และเครื่องดื่มเย็นต่างๆ (ราคาแก้วกาแฟ Good-Edi เฉลี่ย 5.5 เหรียญออสเตรเลียต่อแก้วหรือประมาณ 126.5 บาท)

แม้ว่า บริษัท Good-Edi จะไม่ได้เป็นบริษัท Start-up รายเดียวที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์รับประทานได้ในตลาดออสเตรเลียและตลาดโลก โดยมีบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัท Latvian (ผลิตแก้ว ช้อน และหลอดรับประทานได้หลากหลายรสชาติที่ทำจาก เส้นใยโอ๊ต เปลือกโกโก้และเส้นพาสต้า) และ Cupffee Bulgaria ที่ผลิตแก้วรับประทานได้ในเชิงพาณิชย์อยู่ในตลาดแล้ว แต่ข้อมูลประมาณการณ์โดย UN Environment Programme ระบุว่า ขยะแก้วกาแฟกระดาษทั่วโลกมีมากถึง 250 พันล้านใบในแต่ละปี และขยะแก้วกาแฟกระดาษเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิล ทำให้ บริษัท Good-Edi เล็งเห็นโอกาสและการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์รับประทานได้ทั้งในออสเตรเลียและต่างประเทศ เนื่องจากแก้วกาแฟรับประทานได้สามารถตอบโจทย์กระแสความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถย่อยสลายได้ภายใน 2-6 สัปดาห์ ปี 2566 บริษัทฯจึงมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศต่อไป (ปัจจุบัน Good-Edi มีความสามารถในการผลิตแก้วกาแฟเพื่อจัดส่งให้กับร้านค้าต่างๆทั่วออสเตรเลียได้ประมาณ 500 แก้วต่อวัน)

………………………………………………………………………………..

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา:

Australian Financial Review

www.good-edi.com

thThai